25 เม.ย. 2023 เวลา 11:00 • ธุรกิจ

‘อูฐตัวที่ 18’ บทเรียนจากเรื่องเล่า สู่เคล็ดลับการจัดการความขัดแย้ง

หลังจากบทความที่แล้ว เรานำเสนอตัวอย่างของธุรกิจครอบครัว ที่ยึดหลักการใช้ธรรมนูญครอบครัว เข้ามาเป็นแกนกลางสำหรับการขจัดความขัดแย้ง ทำให้การดำเนินงานราบรื่นและไร้ปัญหาระหว่างสมาชิกในครอบครัวกันไปแล้ว
📌ติดตามอ่านย้อนหลัง คลิก :
3 ทายาท ที่ขับเคลื่อน ‘ธุรกิจครอบครัว’ แบบกงสี ให้ยั่งยืนด้วย ‘ธรรมนูญครอบครัว’
ในครั้งนี้ เรามีเรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง จาก Family Business Asia โดยคุณนวพล วิริยะกุลกิจ ได้นำเสนอไว้ โดยเป็นเรื่องที่มาจากฝั่งดินแดนตะวันออกกลาง ถ่ายทอดเป็นกุศโลบายคำสอนจากบรรพบุรุษ ผ่านการผสมผสานระหว่างเรื่องราวทางอุดมคติไปสู่จินตนาการ แต่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำงานจริงได้
ด้วยแง่คิดที่แฝงอยู่ในเนื้อหานั้น อ้างอิงจาก วิลเลี่ยม ยูริ (William Ury) นักวิชาการด้านการเจรจาและสันติวิธีจากฮาร์วาร์ด ที่กล่าวในโอกาสเปิดเวที TED
“พ่อผู้ล่วงลับทิ้งอูฐ 17 ตัวให้เป็นมรดกแก่ลูก 3 คน...”
“พ่อผู้ล่วงลับ กำชับให้แบ่งอูฐตามนี้อย่างเคร่งครัด คือ ให้ลูกคนโตได้อูฐครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ลูกคนที่สองได้อูฐ 1 ส่วน 3 ของทั้งหมด ส่วนลูกคนเล็กได้อูฐ 1 ส่วน 9 ของอูฐทั้งหมด”
พี่น้องทั้งสามหันมามองหน้ากัน...
เมื่อไม่อาจหาวิธีที่จะแบ่งอูฐตามคำสั่งของพ่อผู้ล่วงลับได้ พวกเขาจึงตัดสินใจเดินทางไปขอคำปรึกษาจากหญิงชราผู้ชาญฉลาด “ข้าไม่แน่ใจนักว่าจะช่วยพวกเจ้าได้ แต่เอาอย่างนี้มั้ย เอาอูฐของข้าไปซักตัว” หญิงชรากล่าวพร้อมกับมอบอูฐหนึ่งตัวให้กับพี่น้องทั้งสาม
ตอนนี้พวกเขามีอูฐทั้งหมด 18 ตัว
• ลูกคนโตได้อูฐครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ดังนั้น เขาจึงได้อูฐ 9 ตัว
• ลูกคนที่สองได้อูฐ 1 ส่วน 3 ของทั้งหมด เขาจึงได้อูฐ 6 ตัว
• ลูกคนที่สามได้อูฐ 1 ส่วน 9 เขาจึงได้อูฐ 2 ตัว
พี่น้องสามคนได้อูฐไปทั้งสิ้นรวม 17 ตัว พร้อมทำตามความประสงค์ของพ่อผู้ล่วงลับทุกประการ เหลืออูฐอีก 1 ตัว พวกเขาจึงคืนมันให้แก่หญิงชราพร้อมกล่าวขอบคุณ
สิ่งที่สะท้อนความคิดจากนิทานเรื่องนี้ คือเราไม่อาจแบ่งอูฐ 17 ตัวให้กับลูก 3 คนได้ในความเป็นจริง แต่หากเรายึดติดกับความเป็นจริงนี้แต่เพียงแง่มุมเดียวโดยไม่สนใจความเป็นไปได้อื่น ๆ หมายความว่าเรากำลังสร้างกรอบความคิดที่ไปจำกัดทางออกของปัญหา
ทั้งนี้ การแก้ปัญหาในธุรกิจครอบครัว จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุก ๆ คนในครอบครัว วิลเลี่ยม ยูริ เชื่อในบทบาทของ “บุคคลที่ 3” ว่าเป็นเคล็ดลับของการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งบุคคลที่ 3 ที่ William Ury เรียกว่า Third Side นั้น หมายถึงคนในครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด คือบุคคลที่อยู่รอบ ๆ ความขัดแย้ง (แต่ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง) นั่นเอง
จากเรื่องเล่า เชื่อว่า ‘อูฐตัวที่ 18’ ของแต่ละครอบครัวอาจจะตีความหมายไม่เหมือนกัน การลดความเสี่ยงของความขัดแย้งของครอบครัวด้วยการมีข้อตกลงร่วมกัน จะเป็นแนวทางสร้างการเติบโตที่มั่นคง
ไม่ว่าจะเป็นการบ่มเพาะทายาทอย่างมีกลยุทธ์ การตั้งบริษัทเพื่อดูแลผลประโยชน์ในครอบครัว รวมถึงจัดตั้งสภาครอบครัว (Family Council) เพื่อกำหนด “ธรรมนูญครอบครัว” ไว้เป็นกติกาสำหรับการอยู่ร่วมกัน
มีข้อตกลงในการทำงานของสมาชิกในครอบครัว ครอบคลุมทั้งการดูแลสมาชิก สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว หรือกำหนดบทบาทของสมาชิก ว่าควรจะเข้ามาดูแลธุรกิจในส่วนใดบ้าง ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีแนวทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน
นอกจากนี้ ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ยังเป็นเครื่องมือช่วยสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการธุรกิจและทรัพย์สิน ชัดเจนโปร่งใส สำหรับคนที่ทำงานและไม่ได้เข้ามาทำงาน
ทั้งในเรื่องการกำหนดค่าตอบแทน สวัสดิการ การเกษียณอายุ สำหรับคนที่ทำงานและไม่ได้เข้ามาทำงาน อีกทั้งยังช่วยกำหนดแนวทางการแก้ปัญหากรณีที่เกิดความขัดแย้งขึ้น โดยใช้ข้อตกลงที่มีระหว่างการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมกับทุกฝ่าย
จนอาจกล่าวได้ว่า ธรรมนูญครอบครัว เป็นหัวใจในการทำธุรกิจครอบครัวในรูปแบบหนึ่ง ที่ช่วยให้สมาชิกในครอบครัว ไม่ต้องเผชิญปัญหาเมื่อถึงเวลา การแบ่งอูฐ ให้เท่าเทียม
แน่นอนว่า การบริหารธุรกิจที่ต้องทำงานร่วมกับคนในครอบครัว อาจหลีกเลี่ยงปัญหาความขัดแย้งแบบ 100% ไม่ได้ นอกจากมีข้อตกลงร่วมกัน สมาชิกควรหาเวลาว่าง นัดหมายทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว
เพื่อคงไว้ซึ่งความสัมพันธ์อันดี อาจจะหาเวลารับประทานอาหารมื้อใหญ่ จัดสังสรรค์ หรือท่องเที่ยวกระชับความสัมพันธ์ เพื่อสร้างความรู้สึกของการเป็นครอบครัวเดียวกัน
มีเป้าหมายการบริหารธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จเหมือนกัน เป็นอีกหนึ่งทางออกที่ช่วยแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง และสร้างความรักและสามัคคีในครอบครัวได้ในระยะยาว
โฆษณา