25 เม.ย. 2023 เวลา 18:32 • หนังสือ

เศรษฐกิจแบบนี้มันจะดีไหมถ้าเงินมันจะงอกมาจากต้นไม้ได้?

หลายคนคงจะเคยได้ยินสำนวน เงินไม่ได้งอกจากต้นไม้ หรือในภาษาอังกฤษ คือ Money doesn't grow on trees หมายความว่า เงินทองไม่ได้หามาง่ายๆ แต่ความจริงในประวัติศาสตร์นั้นเงินนั้นงอกมาจากต้นไม้ได้เหมือนกัน
เรื่องนี้เกิดขึ้นในโลกใหม่ บริเวณเมโสอเมริกา เป็นภูมิภาคในประวัติศาสตร์และเขตวัฒนธรรมในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งครอบคลุมตอนกลางของประเทศเม็กซิโกจนถึงตอนเหนือของประเทศคอสตาริกา คนในพื้นที่นี้ใช้ เมล็ดคาเคา (Cacao) ซึ่งได้มาจากผลของต้นคาเคามาใช้เป็นเงินในการซื้อสินค้า ค่าใช้จ่าย จ่ายเป็นค่าแรง ค่าจ้าง เงินเดือนให้แรงงาน ทหาร ฯลฯ มานานมากแล้ว
แผนที่บริเวณเมโสอเมริกา นำภาพมาจากวิกิพีเดีย
ในยุคแอซเท็ก จากบันทึกของชาวสเปนบอกว่าในคลังของมอนเตซูมามีเมล็ดคาเคาเก็บไว้มากกว่า 960 ล้านเมล็ด ก่อนที่พวกสเปนจะเข้ามาคนในเมโสอเมริกายังไม่มีตาชั่งใช้ นับเมล็ดเอา แต่มีเป็นหน่วยนับ ชาวแอซเท็กจะใช้เลขฐาน 20 ไม่ใช่ฐาน 10 โซนต์ลิ คือจำนวน 400 หน่วย ชิกิปิลลิ คือ 20 เท่าของมัน หรือ 8,000 หน่วย ใน 1 เป้สะพายหลังของผู้ค้าหรือลูกหาบจะมีปริมาณคาเคาอยู่ 3 ชิกิปิลลิ หรือ 24,000 เมล็ด เรียกว่า 1 โหลด ในคลังมีมากกว่า 40,000 โหลด หรือมากกว่า 960 ล้านเมล็ดดังที่บอกไว้
ช่วงเวลาหลังจากเมืองเตนอชตีตลาน (เมืองหลวงของจักรวรรดิแอซเท็ก) ล่มสลายไม่นานนัก ค่าแรงรายวันของลูกหาบในเม็กซิโกกลาง คือ คาเคา 100 เมล็ด ราคาสินค้าบางส่วนในเมืองตลัซกาลา ซึ่งได้มาจากเอกสารภาษานาอวตล์ (ภาษาของชาวแอซเท็ก) ปี 1545 มีดังนี้
  • แม่ไก่งวงชั้นดี 1 ตัวมีค่าเท่ากับคาเคาสด 100 เมล็ด หรือคาเคาแห้ง 120 เมล็ด
  • พ่อไก่งวงมีค่าเท่ากับคาเคา 200 เมล็ด
  • กระต่ายป่า (กระต่ายแจ็ก) 1 ตัวมีค่าเท่ากับคาเคา 100 เมล็ด
  • กระต่ายตัวเล็กมีค่าเท่ากับคาเคา 30 เมล็ด
  • ไข่ไก่งวง 1 ฟองมีค่าเท่ากับคาเคา 3 เมล็ด
  • อะโวคาโดเก็บใหม่ๆ 1 ผลมีค่าเท่ากับคาเคา 3 เมล็ด ถ้าเป็นอะโวคาโดสุกเต็มที่จะมีค่าเท่ากับคาเคา 1 เมล็ด
  • มะเขือเทศผลใหญ่ 1 ผลมีค่าเท่ากับคาเคา 1 เมล็ด
  • ละมุดลูกใหญ่ 1 ลูกหรือลูกเล็ก 2 ลูกมีค่าเท่ากับคาเคา 1 เมล็ด
  • ปลาห่อเปลือกข้าวโพดมีค่าเท่ากับคาเคา 3 เมล็ด
เมล็ดคาเคาหรือเมล็ดโกโก้ (โกโก้มาจากภาษาอังกฤษคำว่า Cocoa ที่ใช้เรียกคาเคา Cacao) นอกจากจะใช้เป็นเงินแล้วยังนำมาทำเป็นเครื่องดื่มได้ด้วย ยุคนั้นยังไม่มีช็อกโกแลตแท่งนะครับ เพิ่งมามียุคหลังจากชาวยุโรป ปัจจุบันเราจะคุ้นกับช็อกโกแลตใส่น้ำตาล แต่ยุคนั้นไม่ได้ใส่น้ำตาล (เพิ่งมามีใส่ตอนหลังหลังจากชาวสเปนเข้ามาแล้ว) ในเครื่องดื่มนี้จะใส่พริกบ้าง ข้าวโพดบดบ้าง เป็นต้น
ตามรายงานตลาดปี 2012 คาเคาถูกผลิตมาจากทวีปแอฟริกาประมาณ 70% ของโลก (โดยมาจากประเทศไอวอรี่โคสต์มากที่สุด) ขณะที่เม็กซิโกที่เป็นต้นกำเนิดของช็อกโกแลตและคำว่าคาเคาผลิตได้เพียงแค่ 1.5% เท่านั้น
กลับมาเรื่องการใช้เมล็ดคาเคาเป็นเงิน จากคำถามเศรษฐกิจแบบนี้มันจะดีไหมถ้าเงินมันจะงอกมาจากต้นไม้ได้? คำตอบ คือ ถึงแม้ว่าเมล็ดคาเคาที่ใช้เป็นเงินจะได้มาจากผลของต้นไม้อย่างต้นคาเคา แต่สมัยก่อนเมล็ดคาเคาหรือช็อกโกแลตส่วนมากก็จะอยู่กับชนชั้นนำ ชนชั้นสูงอยู่ดี เพิ่งมายุคหลังที่มันเข้ามาในยุโรปและประเทศอเมริกาแล้ว มีการสร้างโรงงาน ผลิตกันเป็นจำนวนมาก มีขั้นตอนในการลดต้นทุน ช็อกโกแลตถึงจะเป็นสิ่งพื้นๆ ที่ซื้อหามาบริโภคกันได้ทั่วไป
แต่ช็อกโกแลตไม่ว่าจะเป็นแบบแท่งหรือเครื่องดื่มที่มีขายกันทั่วไปในปัจจุบัน โดยมากแล้วไม่ใช่เป็นเกรดพรีเมี่ยมหรือช็อกโกแลตที่มีคุณภาพสูงแต่อย่างใด เพราะส่วนผสมที่มากที่สุด คือ น้ำตาล เพราะน้ำตาลมีราคาถูกกว่าช็อกโกแลตคุณภาพสูงอย่าง โกโก้โซลิดหรือช็อกโกแลตลิเคอร์ ที่จะต้องมีอย่างน้อย 50% ในส่วนผสมของช็อกโกแลตเกรดพรีเมี่ยม
ส่วนผสมสำคัญอีกอย่างที่ในช็อกโกแลตเกรดพรีเมี่ยมจะต้องมี คือ โกโก้บัตเตอร์ (Cocoa Butter) หรือเนยโกโก้ ซึ่งเป็นไขมันธรรมชาติที่ได้จากเมล็ดโกโก้ ถ้าของคุณภาพต่ำราคาถูกจะใช้ไขมันจากพืชอย่างน้ำมันปาล์ม หรือเลซิธินจากถั่วเหลืองแทน
อ้างอิงมาจากหนังสือประวัติศาสตร์ช็อกโกแลต ฉบับเข้มข้น The True History of Chocolate
หน้าปกหนังสือประวัติศาสตร์ช็อกโกแลต ฉบับเข้มข้น The True History of Chocolate
ในบทความนี้จะมีแค่เนื้อหาบางส่วนในหนังสือเล่มนี้เท่านั้น ในหนังสือมีรายละเอียดมากกว่านี้มาก มีรูปสีประกอบหลายหน้าด้วยครับ ใครสนใจลองซื้อหาหนังสือเล่มนี้มาอ่านได้ครับ
ขอบคุณที่อ่านจนจบครับผม
ฝากเพจบนเฟซบุ๊คด้วยครับ
เพจอ่านแล้วอยากเล่า
โฆษณา