26 เม.ย. 2023 เวลา 08:44 • การเมือง

“เอสโตเนีย” ประเทศที่ e-Governance สุกงอมจนเลือกตั้งแบบ i-Voting มากกว่าเข้าคูหา

การเลือกตั้งปี 2023 ของประเทศเอสโตเนียในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีการลงคะแนนเสียงส่วนใหญ่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาแห่งชาติผ่านทางออนไลน์หรือที่เรียกว่า i-Voting มากกว่าการเลือกตั้งแบบกระดาษในสัดส่วน 51% ต่อ 49% เป็นการตอกย้ำถึงการเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าด้าน e-Governance อันดับต้นของโลก เป็นความโดดเด่นที่ประเทศเล็กๆมีประชากร 1.3 ล้านคน หนึ่งในกลุ่มประเทศบอลติกแห่งนี้สามารถทำได้
เอสโตเนียเป็นประเทศที่พัฒนาด้าน e-Governance และ Digitalize สูงมาก
2
ปัจจุบันบริการภาครัฐเป็นรูปแบบดิจิทัลหรือ e-Service มากถึง 99% เหลือเพียงอย่างเดียวที่บริการภาครัฐยังไม่สามารถทำแบบดิจิทัลได้นั่นคือ “การหย่าร้าง” เพราะยังมีข้อกฎหมายที่ไม่เอื้อ ซึ่งเอสโตเนียกำลังจะแก้กฎหมายเรื่องนี้และตั้งเป้าหมายเป็นประเทศ e-Governance เต็ม 100% ภายในปี 2024
1
คาร์เมน ราล ที่ปรึกษาด้าน Digital Transformation ประจำ The e-Estonia Briefing Centre เล่าให้ฟังว่า เอสโตเนียมีเสาหลักที่เป็นรากฐานด้าน e-Identity แข็งแกร่งมากและที่สำคัญคือประชาชนเชื่อมั่นในความปลอดภัยและยินดีที่จะใช้ระบบยืนยันตัวตนผ่าน e-identification เพราะมั่นใจว่าข้อมูลต่าง ๆ ของพวกเขาจะเป็นความลับ
ซึ่งปัจจุบันการยืนยันตัวตนของเอสโตเนียจะมี 3 รูปแบบ คือ 1) บัตรประชาชนที่มี chip 2) Mobile ID ซึ่งเป็นซิมการ์ดที่ใช้ยืนยันตัวตน 3) Smart ID แอปพลิเคชันที่ใช้ยืนยันตัวตน โดยอุปกรณ์เหล่านี้ จะต้องใช้ร่วมกับ PIN 1 และ PIN 2 ที่ประชากรเอสโตเนียทุกคนจะมีและเก็บรักษาความเป็นส่วนตัวอย่างดี เพราะไม่ว่าจะทำอะไรชาวเอสโตเนียจะใช้ PIN 1 กับการยืนยันตัวตน เช่น การล็อกอินเข้าระบบต่าง ๆ และ PIN 2 ใช้ในการลงนาม Digital Signature ซึ่งเทียบเท่ากับการลงนามบนกระดาษ มีผลผูกพันทางกฎหมาย
2
โดยปัจจัยที่ทำให้ e-Identity ในเอสโตเนียประสบความสำเร็จ คือ รัฐบาลบังคับให้ทุกคนมี Digital Identity โดยให้มาพร้อมกับบัตรประชาชน นอกจากนี้รัฐยังเปิดให้ภาคเอกชนต่าง ๆ นำ e-Identity ไปใช้ในการยืนยันตัวตน ทำให้มีการใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารที่นำไปใช้ยืนยันตัวตนลูกค้าเพื่อทำธุรกรรมทางการเงิน
1
สำหรับการเลือกตั้งผ่านออนไลน์หรือ i-voting นั้นรัฐบาลเอสโตเนียให้บริการแก่ประชาชนมาตั้งแต่ปี 2005 เอสโตเนียเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการเลือกตั้งระดับประเทศผ่านอินเตอร์เน็ต โดยข้อดีของการเลือกตั้งแบบ Online คือ สะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการจัดคูหาเลือกตั้ง รวมถึงอำนวยความสะดวกให้กับคนเอสโตเนียที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศที่ไม่มีสถานทูต นอกจากนี้ยังช่วยลดเรื่องการซื้อสิทธิ์ขายเสียง เพราะลงคะแนนได้หลายครั้งจนกว่าจะปิดให้เลือกตั้ง
ดังนั้นแม้ในครั้งแรกจะลงคะแนนเลือกพรรคหนึ่ง แต่ก็สามารถสลับกลับไปเลือกพรรคใหม่ได้จนกว่าจะหมดระยะเวลาในการลงคะแนน โดยจะนับคะแนนจากการลงครั้งหลังสุด ส่วนที่ลงคะแนนไปก่อนหน้าจะถูกลบไปหรือหากเปลี่ยนจากการลงคะแนนออนไลน์ไปลงคะแนนที่หน้าคูหาก็ทำได้ โดยระบบจะลบคะแนนที่ลงผ่านออนไลน์ออกไป
โดยระบบ i-voting มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ภายใน 30 นาทีหลังจากลงคะแนน ผู้ลงคะแนนเสียงผ่าน i-voting แต่ละคนสามารถตรวจสอบได้ด้วยว่าคะแนนไปถึงกล่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องหรือไม่ การลงคะแนนแบบ i-votes จะถูกปกปิดชื่อเพื่อให้แน่ใจว่าการลงคะแนนแต่ละครั้งเป็นความลับ มีระเบียบปฏิบัติด้านความปลอดภัยที่ตั้งใจทำให้แน่ใจว่าไม่มีใครสามารถติดตามได้ว่าใครลงคะแนนให้ใคร ไม่เพียงแต่การลงคะแนนจะปลอดภัยแต่ยังไม่มีใครรู้ว่าคะแนนนั้นมาจากใครด้วย
4
และเมื่อครบเวลาปิดหีบเลือกตั้งผลคะแนนครั้งแรกจะเผยแพร่สู่สาธารณะประมาณสามชั่วโมง และการยืนยันผลคะแนนครั้งที่สองก็จะตามมาไล่เลี่ยกัน โดยระบบการลงคะแนนของเอสโตเนียเป็นหนึ่งในระบบที่เร็วที่สุดเมื่อนับตั้งแต่ปิดการเลือกตั้งจนถึงประกาศผล
การเลือกตั้งครั้งล่าสุดเดือนมีนาคม 2023 ที่ผ่านมา คนเอสโตเนียเลือกตั้งผ่าน i-Voting ประมาณ 51% ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่มีผู้เลือกตั้งออนไลน์มากกว่าครึ่งของคนที่มาใช้สิทธิ์เลือกตั้งทั้งหมด
1
โดยสาเหตุที่คนยังออกมาเลือกตั้งที่คูหาแบบเดิม นั่นก็อาจเป็นเพราะเอสโตเนียเพิ่งได้รับเอกราชมาไม่นาน การออกมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งที่คูหาจึงเหมือนสัญลักษณ์เฉลิมฉลองการได้รับเอกราชไปด้วย และบางครอบครัวมองว่าการเลือกตั้งเป็นประเพณีของครอบครัวจึงกลับไปบ้านและไปเลือกตั้งพร้อมกัน อีกทั้งคนบางกลุ่มยังมองว่าการเลือกตั้ง Online ยังไม่ปลอดภัยซะทีเดียว
แต่เอสโตเนียมีแผนที่จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนเลือกตั้งผ่าน i-Voting มากขึ้นรวมไปถึงการผลักดันให้มีทางเลือกในการเลือกตั้งผ่านมือถือหรือที่เรียกว่า m-Voting มากกว่าเดิมด้วยเช่นกัน
ส่วนสาเหตุอะไรบ้างที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จด้าน e-Governance นั้นสรุปได้ดังนี้
  • ความจำเป็นและข้อจำกัด เพราะหลังจากที่แยกตัวออกมาจากอดีตสหภาพโซเวียตในปี 1991 ประเทศเอสโตเนียประสบปัญหาคอร์รัปชันและขาดแคลนทรัพยากรอย่างมาก ผู้นำของประเทศจึงคิดที่จะใช้การปฎิวัติด้านอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาแก้ปัญหา
  • ต้องการลดต้นทุนการให้บริการภาครัฐ ด้วยความที่เอสโตเนียเป็นประเทศเล็กๆ ทำให้มีต้นทุนในการให้บริการของภาครัฐสูงและไม่สามารถสร้างโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบเดียวกับประเทศอื่น ๆ ที่มีประชากรจำนวนมากได้ การนำระบบอิเล็กทรอนิกส์มาใช้จะช่วยลดต้นทุนของภาครัฐลงได้
  • มีคนเก่งด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก ในยุค 90 เอสโตเนียมีคนที่เชี่ยวชาญด้าน Tech อยู่เยอะเนื่องจากมีสถาบันวิจัยด้าน cybernetics ซึ่งกลุ่มคนที่เชี่ยวชาญด้านTech พร้อมทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด จนเกิดการสร้าง Digitalization ในเอสโตเนียขึ้นมา
  • การเมืองเห็นไปในทางเดียวกัน เหตุผลสำคัญที่ทำให้เอสโตเนียประสบความสำเร็จในการสร้าง Digitalize บริการภาครัฐ คือ พรรคการเมืองต่าง ๆ เห็นไปในทางเดียวกันว่าประเทศจะต้องพัฒนาด้าน Digital ต่อเนื่อง และไม่ว่าพรรคการเมืองใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาลก็จะสานต่อนโยบายนี้ต่อไป
นอกจากเหตุข้างต้นแล้วนั้น อีกเรื่องที่ขาดไม่ได้คือรัฐบาลของเอสโตเนียพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคเอกชน ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการทำวิจัยและพัฒนา ภาครัฐพร้อมปรับกฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้เกิด Digitalization และให้ความสำคัญกับความปลอดภัย ในอดีตเอสโตเนียเคยถูก Cyberattack จากภายนอกรัฐบาลของเอสโตเนียได้เรียกผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีชาวเอสโตเนียที่อยู่ในต่างประเทศกลับมาหารือร่วมกันจนนำมาสู่การนำระบบ Blockchain มาใช้ในภาครัฐเป็นประเทศแรกๆของโลก
และนอกจากองค์กรด้าน IT แล้ว ยังมีภาคธนาคารที่สนับสนุนการพัฒนา Computer Literacy ของคนในประเทศเอสโตเนียเพื่อรองรับการใช้บริการแบบดิจิทัล จนภาคธนาคารเข้าถึงคนได้มากขึ้นด้วยต้นทุนการให้บริการที่ถูกกว่าการเปิดสาขา
1
ความสำเร็จของ e-Governance ในเอสโตเนียได้สะท้อนภาพการเป็นประเทศที่ดิจิทัลสุกงอม มีการเปลี่ยนกระบวนการให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้คน และผู้คนก็ยอมเปลี่ยนวิถีชีวิตให้เข้ากับดิจิทัล และพร้อมมีทักษะทางดิจิทัลพร้อมปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของตัวเอง เมื่อพูดคุยกับชาวเอสโตเนียว่าปกป้องความปลอดภัยทางข้อมูลของตัวเองได้อย่างไร ก็ได้คำตอบว่า “คุณจะยอมให้บัตรเอทีเอ็มพร้อมพาสเวิร์ดไปกับคนแปลกหน้าหรือ”
1
อ่านบทความเพิ่มเติมที่ : https://moneyandbanking.co.th/2023/33725/
โฆษณา