Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
InfoQuestNews - สำนักข่าวอินโฟเควสท์
•
ติดตาม
26 เม.ย. 2023 เวลา 09:42 • ข่าวรอบโลก
ความขัดแย้งซูดาน การสู้รบของ 2 ขั้วอำนาจทหาร หวั่นบานปลายสู่สงครามตัวแทน
การปะทะกันระหว่างกองทัพซูดานและกองกำลังกึ่งทหารหลักของประเทศทำให้ซูดานตกอยู่ภายใต้ความโกลาหล ผู้บริสุทธิ์ถูกคร่าชีวิตไปหลายร้อยราย หลายสิบเมืองถูกทำลาย โรงพยาบาลแต่ละแห่งเต็มไปด้วยผู้บาดเจ็บ ประชาชนหลายล้านชีวิตล้านต้องตกอยู่ภายใต้ฝันร้าย ท่ามกลางดงกระสุนจากรถถังและกระบอกปืนที่ดังสนั่นหวั่นไหวไม่จบสิ้น
โดยนานาชาติเร่งอพยพพลเมืองของตนออกจากประเทศ หรือพาไปหลบยังที่ปลอดภัย ในขณะที่ชาวซูดานต้องติดอยู่ใจกลางความรุนแรงที่ไม่มีทางหลบหนี และทั้งสองฝ่ายที่สู้รบกันอย่างเอาเป็นเอาตายก็หาได้ใส่ใจชีวิตพลเมืองไม่
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ทั่วโลกหันไปมองประเทศที่ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีปแอฟริกาแห่งนี้ด้วยความหวาดหวั่นและความใคร่รู้ มีการตั้งคำถามมากมาย ตั้งแต่ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ใครปะทะกับใคร ไปจนถึงเป้าหมายของการสู้รบครั้งนี้ ซึ่ง In Focus ประจำสัปดาห์นี้ จะพาเราไปร่วมหาคำตอบกัน
* ใครสู้รบกับใคร
การสู้รบดังกล่าวคือการปะทะกันของ 2 ขั้วอำนาจทางทหารของซูดาน ฝ่ายแรกคือ กองทัพซูดาน นำโดยนายพลอับเดล ฟัตตาห์ อัล-บูร์ฮาน (Abdel Fattah al-Burhan) และกองกำลังกึ่งทหารฝ่ายสนับสนุนเคลื่อนที่เร็ว หรือ กลุ่มติดอาวุธอาร์เอสเอฟ (Rapid Support Forces - RSF) นำโดย นายพลโมฮาเหม็ด ฮัมดาน ดากาโล (General Mohamed Hamdan Dagalo)
* Rapid Support Forces - RSF ที่มีมาที่ไปอย่างไร
กลุ่มอาร์เอสเอฟก่อตั้งขึ้นในปี 2556 พัฒนามาจากการสลายตัวของกลุ่มติดอาวุธกึ่งทหารจันจาวีด (Janjaweed) อันน่ายำเกรง และเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาในวงกว้างเรื่องการก่อการร้าย ทั้งการสังหารหมู่และก่ออาชญากรรมสงคราม ในภูมิภาคดาร์ฟูร์ ทางตะวันตกของซูดานมานานกว่า 20 ปี โดยประธานาธิบดีโอมาร์ อัล-บาชีร์ (Omar al-Bashir) ผู้นำเผด็จการของซูดานสร้างกลุ่มอาร์เอสเอฟขึ้นมาเพื่อปราบปรามกลุ่มกบฏผู้ต่อต้านในภูมิภาคดาฟูร์ โดยมีนายพลดากาโล ผู้เป็นที่รู้จักในนาม เฮเมดติ (Hemedti) เป็นผู้บัญชาการ
นายนิโคลัส คอฟแลน อดีตเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำซูดานให้คำจำกัดความว่า สิ่งที่นายอัล-บาชีร์ สร้างขึ้นมานั้น คือกองกำลังที่ไม่ว่าใครหน้าไหนก็ไม่สามารถควบคุมได้ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลหรือกองทัพก็ตาม นายพลดากาโลมีอิทธิพลและอำนาจเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เขาครอบครองเหมืองทองคำในภูมิภาค
ซึ่งสร้างอิทธิพลให้เขามากยิ่งขึ้นเมื่อครั้งประเทศเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อ 4 ปีก่อน นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กลุ่มอาร์เอสเอฟขยายไปทั่วซูดาน และปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 100,000 คน โดยมีรายงานว่าทางกลุ่มมีความเชื่อมโยงกับกองทัพรัสเซียและกองทัพของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางหลายประเทศ
* จากพันธมิตรสู่ศัตรู
ในปี 2562 กองทัพซูดานและกลุ่มอาร์เอสเอฟร่วมมือกันก่อรัฐประหารโค่นอำนาจอดีตประธานาธิบดีอัล-บาชีร์ เผด็จการผู้กุมอำนาจในประเทศมานานร่วม 3 ทศวรรษ อย่างไรก็ตาม หลังจากเผชิญกับแรงกดดันจากนานาชาติ และการยื่นมือเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจาของสหภาพแอฟริกาและเอธิโอเปีย ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงที่จะแบ่งปันอำนาจในรัฐบาลร่วมกึ่งทหารกึ่งพลเรือน ผ่านสภาอธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Sovereignty Council) โดยแต่งตั้งนายอับดัลลา ฮัมด็อก (Abdalla Hamdok) อดีตนักการทูตขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่ทว่าเพียง 2 ปีต่อมา ทั้งสองฝ่ายก็ร่วมกันก่อรัฐประหารอีกครั้งเพื่อยับยั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยนผ่านอำนาจไปสู่การเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย และดึงนายฮัมด็อกลงจากตำแหน่ง สภาอธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่านได้รับการปฏิรูปขึ้นใหม่ในฐานะรัฐบาลทหาร โดยมีนายพลอัล-บูร์ฮาน เป็นผู้นำประเทศโดยพฤตินัย และผูกขาดอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือ การเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยของซูดานแหลกสลายกลายเป็นผุยผง
1
* ชนวนความขัดแย้ง
นับตั้งแต่ร่วมกันรัฐประหารสำเร็จในปี 2564 กองทัพซูดานและกลุ่มอาร์เอสเอฟก็เริ่มขัดแย้งกัน ความตึงเครียดระหว่างสองกลุ่มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากต่างฝ่ายต่างต้องการอำนาจเบ็ดเสร็จ จนกระทั่งในเดือนธ.ค. 2565 นายพลอัล-บูร์ฮาน และ นายพลดากาโลมีเหตุต้องหันหน้ามาจับมือกัน หลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากองค์การสหประชาชาติ (UN) และรัฐบาลกลุ่มชาติตะวันตก ทั้งสองได้ลงนามในข้อตกลงขั้นแรกเพื่อคืนอำนาจให้กับรัฐบาลพลเรือนที่เลือกโดยประชาชนในเดือนเม.ย. 2566
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงขั้นสุดท้าย ก็ได้เกิดข้อพิพาทขึ้นในสองประเด็นหลัก นั่นก็คือ กลุ่มอาร์เอสเอฟจะต้องถูกยุบรวมเข้ากับกองทัพ และคำถามที่ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ครอบครองเครื่องบินรบและสรรพาวุธยุทโธปกรณ์ทั้งหมดของประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้
และแล้วในวันที่ 15 เม.ย. ความบาดหมางก็ได้ปะทุขึ้นเป็นความรุนแรง การเจรจาล้มเหลวและกลายเป็นการต่อสู้ กองทัพซูดานได้ประกาศว่ากลุ่มอาร์เอสเอฟเป็น "กบฏ" ในขณะเดียวกัน นายพลดากาโลก็ประกาศล่าตัวนายพลอัล-บูร์ฮาน โดยมีคำสั่งให้จับเป็นหรือจับตายก็ได้
* ศึกการแย่งชิงพื้นที่ ทั้งประเทศกลายเป็นสมรภูมิ
กลุ่มอาร์เอสเอฟต้องการยึดอำนาจจากรัฐบาลที่อยู่ในมือของกองทัพ โดยกลุ่มอาร์เอสเอฟเริ่มเปิดฉากโจมตีก่อนและสามารถยึดบางส่วนของกรุงคาร์ทูม เมืองหลางของซูดาน รวมถึงสนามบินนานาชาติคาร์ทูม และภูมิภาคดาร์ฟูร์กับอีกอย่างน้อย 4 เมืองใหญ่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพซูดาน ซึ่งกลุ่มอาร์เอสเอฟพยายามแย่งชิงมา นอกจากนี้แล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็พยายามยึดครองสถานที่ทำการของรัฐบาลมาเป็นของตนด้วย
หลังจากที่การสู้รบปะทุขึ้นในใจกลางกรุงคาร์ทูม การปะทะก็ได้แพร่ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่น ๆ ทั้งเมืองพอร์ตซูดานริมชายฝั่งทะเลแดงทางตะวันออก ไปจนถึงพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ใกล้กับพรมแดนเอธิโอเปียและเอริเทรีย รวมทั้งภูมิภาคดาร์ฟูร์ทางตะวันตกที่ถูกกรัดกร่อนด้วยสงครามอยู่แล้วเป็นทุนเดิม
ในวันที่ 20 เมย. การสู้รบที่ดุเดือดที่สุดเกิดขึ้นรอบกองบัญชาการทหารแห่งหลักในกรุงคาร์ทูม มีการโจมตีทางอากาศที่สถานพยาบาลในเมืองโอเบอีด เมืองหลวงของรัฐคูร์ดูฟันเหนือ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงคาร์ทูม ต่อมาในวันที่ 21 เม.ย. เสียงปืนดังสนั่นหวั่นไหวในย่านที่พักอาศัยของกรุงคาร์ทูม ในช่วงเริ่มต้นของวันอีฎิ้ลฟิตริ เทศกาลเฉลิมฉลองการสิ้นสุดการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม ทหารทั้งสองฝ่ายยิงใส่กันในหลายจุดทั่วเมือง ไม่เว้นแม้แต่ช่วงการละหมาด
* สงครามที่อาจบานปลาย
การสู้รบที่เกิดขึ้นได้สร้างความกังวลให้กับนานาชาติว่าอาจบานปลายกลายเป็นสงครามการเมืองเต็มรูปแบบ และที่แย่ยิ่งไปกว่านั้นคือสงครามตัวแทน (Proxy war) เนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีกองกำลังต่างชาติหนุนหลัง ทั้งจากในทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง โดยกองทัพซูดานมีอียิปต์สนับสนุน ฝั่งกลุ่มอาร์เอสเอฟก็มีข่าวลือว่ากองทัพลิเบียและกลุ่มทหารรับจ้างรัสเซียของวากเนอร์กรุ๊ปให้การช่วยเหลือ ซึ่งทางกลุ่มออกมาปฏิเสธ นอกจากนี้แล้ว การสู้รบยังอาจขยายวงกว้างไปยังประเทศข้างเคียงอย่างเช่น ชาด ด้วยเช่นกัน
* ความพยายามเรียกร้องการหยุดยิง
ตั้งแต่เสียงปืนดังขึ้นนัดแรก มีความพยายามเรียกร้องให้หยุดยิงหลายครั้ง ซึ่งล้มเหลวเกือบทั้งหมด ครั้งแรกประกาศโดยองค์การสหประชาชาติในวันที่ 18 เม.ย. โดยนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ จัดประชุมสุดยอดกับผู้นำสหภาพแอฟริกา สันนิบาตอาหรับ สหภาพยุโรปและชาติอื่น ๆ ซึ่งเรียกร้องให้มีการหยุดยิงชั่วคราวด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม แต่ความพยายามไม่เป็นผล
การประกาศหยุดยิงครั้งที่สองมีขึ้นในช่วงเย็นวันที่ 19 เม.ย. โดยกองทัพซูดานและกลุ่มอาร์เอสเอฟประกาศพักรบ 24 ชั่วโมง ซึ่งก็ล้มเหลวหลังประกาศเพียงไม่กี่นาที แต่ก็นานพอที่จะให้ประชาชนบางส่วนในกรุงคาร์ทูมได้หลบหนีออกจากบ้าน หลังจากติดอยู่กลางดงควันปืนมาหลายวัน และในวันเดียวกันนั้นเอง องค์การสหประชาชาติเรียกร้องให้หยุดยิงอีกครั้ง เป็นเวลา 3 วัน เนื่องในวันหยุดเทศกาลวันอีดของชาวมุสลิม แต่ถึงกระนั้น ทั้งสองฝ่ายต่างไม่มีทีท่าว่าจะประนีประนอมกันแต่อย่างใด
ด้านสหรัฐอเมริกาก็ได้ยื่นมือเข้ามาจัดการด้วยเช่นกัน และแล้วในวันที่ 24 เม.ย. นายแอนโทนี บลิงเกน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ประกาศว่า กองทัพซูดานและกลุ่มอาร์เอสเอฟตกลงที่จะหยุดยิงเป็นเวลา 72 ชั่วโมง ซึ่งข้อตกลงนี้มีขึ้นหลังจากการเจรจาอย่างดุเดือดร่วม 48 ชั่วโมง โดยในแถลงการณ์ระบุว่า กลุ่มอาร์เอสเอฟตกลงสงบศึก เพื่อเปิดช่องทางการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายพลเมืองต่างชาติ คณะผู้แทนทางการทูตและประชาชน เพื่อให้เข้าถึงโรงพยาบาลและพื้นที่ปลอดภัย
* ผลกระทบที่เลวร้าย
การปะทะกันของทั้งสองฝ่ายส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วซูดาน โดยองค์การสหประชาชาติเปิดเผยว่า ประชากรราว 16 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมดเผชิญหน้ากับความอดอยากหิวโหยและจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือขั้นพื้นฐานเป็นอย่างเร่งด่วน แต่องค์กรสิทธิมนุษยชนและหน่วยงานช่วยเหลืออื่น ๆ จำต้องเลื่อนการปฏิบัติงานออกไป เนื่องจากการสู้รบที่ดุเดือด และการปล้นสะดมเป็นวงกว้าง ทั้งปล้นขบวนรถ โกดังเก็บของ และสำนักงานของหน่วยงานต่าง ๆ ชาวบ้านในกรุงคาร์ทูมไม่สามารถหลบหนีไปไหนได้ ในขณะที่อาหารและน้ำร่อยหรอลงไปทุกที
โรงพยาบาลต่าง ๆ ก็ประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ราว 70% ของโรงพยาบาลทั้งหมดในกรุงคาร์ทูมต้องยุติการดำเนินงาน หลายแห่งถูกตัดไฟฟ้า ทำให้ตู้แช่เย็นไม่สามารถใช้งานได้ วัคซีนและยาหลายชนิดที่ต้องแช่เย็นเสียหายทั้งหมด เช่น ยาปฏิชีวนะและอินซูลิน ด้านข้อมูลจากมูลนิธิ Save the Children เปิดเผยว่า ศูนย์วัคซีนอย่างน้อย 32 แห่งได้รับผลกระทบ ทำให้เด็กหลายล้านคนตกอยู่ภายใต้ความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพื้นฐาน จนอาจก่อให้เกิดโรคเป็นวงกว้าง ยิ่งไปกว่านั้น ระบบสาธารณสุขทั้งประเทศอาจล่มสลายทั้งหมด
1
ด้านผู้เสียชีวิตในขณะนี้มีอย่างน้อย 500 ราย บาดเจ็บมากกว่า 4,000 ราย แต่ตัวเลขที่แท้จริงอาจจะมากกว่านี้ เพราะมีศพเรียงรายตามถนนที่ไม่ได้ถูกนับ และประชาชนจะมีแนวโน้มว่าจะบาดเจ็บล้มตายไปมากกว่านี้
ทั้งนี้ การปะทะกันเพิ่งเกิดขึ้นยังไม่ถึง 2 สัปดาห์ แต่ได้สร้างความบอบช้ำไปทั่วประเทศซูดานเรียบร้อยแล้ว และยังไม่สามารถระบุได้ว่าสถานการณ์หลังจากนี้จะเป็นอย่างไร เมื่อช่วงเวลาของการหยุดยิงจบลงและทั้งสองฝ่ายกลับมาจับปืนอีกครั้ง
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์
ข่าวรอบโลก
ซูดาน
ข่าว
บันทึก
5
6
5
6
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย