26 เม.ย. 2023 เวลา 22:58 • หุ้น & เศรษฐกิจ

บาทแข็งค่า รับส่งออกไทยดีเกินคาด-ตลาดกังวลวิกฤตธนาคารสหรัฐ

26 เมษายน 2566 ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า สภาวะการเคลื่อนไหวตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันพุธที่ 26 เมษายน 2566 ค่าเงินบาทเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/4) ที่ระดับ 34.34/35 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/4) ที่ระดับ 34.39/40 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
โดยค่าเงินบาทแข็งค่าตามการอ่อนค่าลงของดอลลาร์ หลังจากธนาคารเฟิร์ส รีพับลิก แบงก์ หรือ FRB (First Republic Bank) ซึ่งเป็นธนาคารในระดับภูมิภาคของสหรัฐ รายงานว่า ยอดเงินฝากในไตรมาส 1/2566 ลดลงถึงร้อยละ 40.8 โดยปรับลงสู่ระดับ 1.045 แสนล้านดอลลาร์ จากการที่ลูกค้ามาถอนเงินเป็นจำนวนมาก
เงินฝากต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 1.450 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ตลาดเกิดความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตในภูมิภาคธนาคารของสหรัฐ นอกจากนี้นักลงทุนกำลังจับตาดูตัวเลขเศรษฐกิจเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ทิศทางการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่จะมีการประชุมในวันที่ 2-3 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้
สำหรับข้อมูลทางเศรษฐกิจของสหรัฐ ที่มีการประกาศเมื่อคืนวาน ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค จากผลสำรวจของ Conference Board ประจำเดือนเมษายน โดยปรับตัวลงสู่ระดับ 101.3 จากระดับ 104.0 ในเดือนมีนาคม, ยอดขายบ้านใหม่ประจำเดือนมีนาคม โดยกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ รายงานว่า ยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 9.6% สู่ระดับ 683,000 ยูนิต จากระดับ 623,000 ยูนิตในเดือนก่อนหน้า
ปรับตัวลดลง 3.4% หากเทียบรายปี และผลสำรวจราคาบ้านในสหรัฐ จากเอสแอนด์พี คอร์โลจิก เคส ชิลเลอร (S&P CoreLogic Case-Shiller) ซึ่งระบุว่า ดัชนีราคาบ้านทั่วประเทศปรับสูงขึ้น 0.2% ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากร่วงปรับลดลง 0.2% ในเดือนก่อนหน้า ถือเป็นการปรับตัวขึ้นครั้งแรกหลังจากชะลอตัวติดต่อกันมา 7 เดือน โดยได้แรงหนุนจากการชะลอตัวของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง นอกจากนี้เมื่อเทียบรายปี พบว่า ดัชนีดังกล่าวเพิ่มขึ้น 2.0% หลังจากดีดตัวขึ้น 3.7% ในเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยในประเทศ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยประจำเดือนมีนาคม 2566 มีมูลค่า 27,654.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นมูลค่า 942,939 ล้านบาท ติดลบ 4.2% เมื่อเทียบรายปี รวมทั้งลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยถือเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ในส่วนของการนำเข้ามีมูลค่า 24,935 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.1% ส่งผลให้ตัวเลขดุลการค้าของไทยออกมาเกินดุล 2,718 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกลับมาเกินดุลการค้าเป็นครั้งแรกในรอบ 12 เดือน
ความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร เปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/4) ที่ระดับ 1.0975/79 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร แข็งค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/4) ที่ระดับ 1.1026/30 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร โดยได้รับปัจจัยจากการอ่อนค่าของดอลลาร์ โดยระหว่างวันค่าเงินยูโรเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 1.0969-1.1054 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดที่ระดับ 1.1036/39 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร
ค่าเงินเยนเปิดตลาดเช้าวันนี้ (26/4) ที่ระดับ 133.69/70 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันอังคาร (25/4) ที่ 133.94/97 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ โดยนักลงทุนยังคงจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในวันที่ 28 นี้ ซึ่งตลาดคาดว่า ทาง BOJ จะยังคงนโยบายผ่อนคลายทางการเงินต่อไป รวมทั้งจะไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอย่างมีนัยสำคัญ โดยระหว่างวันค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 133.40-133.86 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ระดับ 134.86/87 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ
การใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลสหรัฐ (PCE) เดือน มี.ค. (28/4), ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน เม.ย.จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (28/4), ธนาคารกลางญี่ปุ่นประชุมนโยบายการเงินและแถลงมติอัตราดอกเบี้ย (28/4), รายงานเศรษฐกิจและการเงินเดือน มี.ค.ของไทย (28/4), ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ประเทศจีนภาคการผลิตและบริการเดือน เม.ย. (29/4)
อัตราป้องกันความเสี่ยง (swap point) ภาคเช้า 1 เดือนในประเทศอยู่ที่ -11.01/-10.70 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ และอัตราป้องกันความเสี่ยงภาคเช้า 1 เดือนต่างประเทศอยู่ที่ -10.40/-9.20 สตางค์/ดอลลาร์สหรัฐ-ประชาชาติ
โฆษณา