27 เม.ย. 2023 เวลา 11:00 • สิ่งแวดล้อม

Future Generations in Coping Climate Crisis

งานวิจัยล่าสุดด้านสังคมวิทยานำเสนอแนวคิดว่าประชากรที่อายุน้อยกว่า 18 ปีจะกลายเป็นกลุ่มเปราะบางที่ขาดความมั่นคงในชีวิตเนื่องมาจากวิกฤติภูมิอากาศ (Children as a new climate precariat) เพราะปัญหาดังกล่าวกำลังส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและพัฒนาการทั้งทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของเยาวชนทั้งทางตรงและทางอ้อม
เยาวชนที่เติบโตขึ้นในยุคนี้ไม่เพียงถูกหล่อหลอมให้ต้องคิดเกี่ยวกับผลของการกระทำในปัจจุบันต่อคุณภาพชีวิตของตนเองและสิ่งแวดล้อมในอนาคตเท่านั้น แต่ยังเป็นกลุ่มคนที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับพลวัตของระบบเศรษฐกิจสังคมและการเปลี่ยนแปลงของระบบชีวภาพกายภาพภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ
ผลสำรวจระบุว่ามีเยาวชนถึง 76% มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมที่สำคัญที่สุด การวิเคราะห์อภิมานจากหลายงานวิจัยประกอบกันระบุว่ามีคนอายุน้อยกว่า 25 ปีถึง 62.5% ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะวิตกกังวลเรื้อรังอันเนื่องมาจากการรับรู้ความเลวร้ายของวิกฤติภูมิอากาศ (climate anxiety) และ 57% ของเยาวชนทั่วโลกที่รับรู้ถึงปัญหากำลังรู้สึกสิ้นหวัง สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง และมีภาวะซึมเศร้าจากความพยายามขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมแต่ไม่ประสบความสำเร็จ
การที่เยาวชนต้องประคับประคองสังคมมนุษย์ให้อยู่รอดต่อไปในโลกที่มีความกดดันสูงมากขึ้นจึงกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ต้องให้ความสำคัญในปัจจุบันและอนาคต เพราะนั่นเป็นเพียงทางเลือกเดียวนอกจากความเป็นไปได้ ได้แก่
[1] เยาวชนรู้สึกสิ้นหวัง หมดกำลังใจในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม [2] เยาวชนเลือกใช้ชีวิตโดยไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือ [3] เยาวชนบางส่วนอาจลุกขึ้นมาจัดการกับความรู้สึกกดดันด้วยแนวทางที่สุดโต่ง เช่น การหนีเข้าไปใช้ชีวิตในแพลตฟอร์มโลกเสมือนโดยสิ้นเชิง หรือก่ออาชญากรรมอันเนื่องมาจากสภาวะจิตใจที่ไม่ปกติ เป็นต้น
การออกมาขับเคลื่อนประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่เพียงแค่หนึ่งในรูปแบบการตอบสนองต่อปัญหาที่เยาวชนพอจะทำได้ หากแต่เป็นเพียงวิธีเดียวที่พวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในรุ่นของตนเองตั้งแต่วันนี้ เพราะท้ายที่สุดแล้ว คนกลุ่มนี้ก็จะเป็นประชากรกลุ่มที่จะต้องเอาชีวิตรอดต่อไปอีกอย่างน้อย 50 ปี (อ้างอิงจากอายุขัยโดยเฉลี่ยของมนุษย์ที่ 70.6 ปี)
ในฐานะประชาชนและผู้บริโภค เยาวชนทั่วโลกกำลังเคลื่อนไหวประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมผ่านพฤติกรรมการบริโภคทั้งการสนับสนุนและคว่ำบาตร รวมไปถึงการตรวจสอบแบรนด์ (brand audit) ว่าผลิตภัณฑ์ บริการ หรือการสื่อสารองค์กรว่าทำสาธารณประโยชน์ให้สังคมเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ ผลสำรวจพบว่า 59% ของคนเจเนอเรชัน Z ยินดีที่จะเปลี่ยนวิถีชีวิตของตนเองเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น มีคนที่อายุต่ำกว่า 18 ปีถึง 76% ต้องการเรียกร้องให้ผู้นำองค์กรออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ในฐานะนักกิจกรรม เยาวชนมีบทบาทอย่างมากในการเป็นนผู้นำเชิงปฏิรูปเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง เช่น โครงการ Fridays for Future, Extinction Rebellion (XR), Do-It-Ourselves (DIO) เป็นต้น การมีส่วนร่วมทางการเมืองของเยาวชนในปัจจุบันและอนาคตถูกวิเคราะห์ว่าไม่ได้มีแค่การผลักดันประเด็นวาระเข้าสู่ระบบการเมืองดั้งเดิมหรือรัฐสภาเท่านั้น แต่มีการจัดกิจกรรม แฟลชม็อบ แคมเปญบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีความเฉพาะกิจและลื่นไหล ตลอดจนการสร้างความร่วมมือระหว่างกันและกับองค์กรพหุภาคีระดับภูมิภาคและระดับโลก
สิ่งเหล่านี้จะยิ่งเห็นเด่นชัดมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเยาวชนมีความรอบรู้เรื่องสภาพภูมิอากาศ (climate literacy) เชื่อมโยงทางสังคมกับบุคคลอื่นทั่วโลก (hyperconnected world) ทำให้เกิดการกระตุ้นพัฒนาการด้านตัวตนทางสังคม มุมมองด้านศีลธรรม ความยุติธรรมอย่างเข้มข้น
ท้ายที่สุดแล้วจึงเป็นที่น่าจับตามองว่า เศรษฐกิจแพชชัน (passion economy) จะเข้ามามีบทบาทในการผลักดันสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร หนึ่งในความเป็นไปได้ที่น่าสนใจที่สุดคือ การที่เยาวชนที่ใส่ใจประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมจะก้าวเข้าสู่โลกการทำงานหรือพยายามหารายได้จากสิ่งที่ตัวเองหลงใหลและเชื่อมั่น
ซึ่งสอดคล้องไปกับความต้องการของโลก สำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Bureau of Labor Statistics) คาดการณ์ว่าอาชีพหรือตำแหน่งงานที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมจะมีโอกาสเติบโตขึ้นถึง 8% ภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งถือว่าเป็นความต้องการที่เพิ่มสูงมากเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น
นอกจากนี้ ผลสำรวจในปี ค.ศ. 2020 ยังระบุรายได้ของนักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมที่ 73,230 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี และทนายความด้านสิ่งแวดล้อมที่ 122,960 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับรายได้เฉลี่ยของคนสหรัฐอเมริกาในปีนั้นซึ่งจะอยู่ที่ 41,535 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่คาดหวังว่าอาชีพหรืองานอื่น ๆ ก็สามารถผสมผสานหรือผลักดันเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ และจะเป็นโอกาสงานใหม่ ๆ เพื่อสร้างการจดจำอย่างน้อยในระดับภูมิภาค เช่น ศิลปินทีผลักด้านเรื่องสิ่งแวดล้อม (climate-focused artist and activist) นักวิทยาศาสตร์ที่มีบทบาททางการเมืองสิ่งแวดล้อม (science–policy interface/mitigation scientisit) นักการเงินที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (climate finance practitioners) เจ้าหน้าที่กระบวนการยุติธรรมให้ความสำคัญกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
นัยยะสำคัญที่มีต่ออนาคต:
- สภาพจิตใจที่ย่ำแย่อันเนื่องมาจากปัญหาด้านสภาพภูมิอากาศจะมีความรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเยาวชน จำเป็นต้องมีการให้ความรู้ โอกาสในการลงมือปฏิบัติพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมด้วยตนเองเ และการให้ความหวังกับเยาวชนควบคู่กันไปทั้งในครอบครัว โรงเรียน และชุมชน เพื่อประคับประคองสภาพจิตใจต่อไป
- เศรษฐกิจเพื่อความยั่งยืนจะเป็นแนวคิดกระแสหลัก ซึ่งส่งผลให้ความรอบรู้ด้านสภาพภูมิอากาศเป็นทักษะพื้นฐานของแรงงานในอนาคต
- การผลักดันให้เกิดกระจายอำนาจของภาครัฐ (Decentralized Government) ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ให้ประชาชนสามารถเลือกโหวตญัตติต่าง ๆ ได้ด้วยตนเองหรือโอนสิทธิให้บุคคลที่เชื่อมั่นจะเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้วาระเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศได้รับความสำคัญมากขึ้น
- CSR, CSA, or CPA? Examining Corporate Climate Change Communication Strategies, Motives, and Effects on Consumer Outcomes https://doi.org/10.3390/su14063604
- Psychological responses, mental health, and sense of agency for the dual challenges of climate change and the COVID-19 pandemic in young people in the UK: an online survey study https://doi.org/10.1016/S2542-5196(22)00172-3
- Impact of the Climate Crisis on Children's Social Development https://doi.org/10.1002/9781119679028.ch11
- แนวคิดว่าด้วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (1) https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/111541
- Personalising Climate Change on Instagram https://tidsskrift.dk/mediekultur/article/view/129149
- Climate crisis: young people are the key to the promise of a healthy future for all https://doi.org/10.1016/S2352-4642(22)00030-X
- TikTok Analysis as a Learning Media and Activism Instrument http://dx.doi.org/10.23887/jpp.v55i1.44862
- ความเป็นมาของแนวคิด Precarity https://www.sac.or.th/databases/anthropology-concepts/glossary/186
- Personalising climate change on InstagramSelf-presentation, authenticity, and emotion https://tidsskrift.dk/mediekultur/article/view/129149/177768
อยากรู้จักเรามากขึ้น คลิก www.futuretaleslab.com และ www.facebook.com/FutureTalesLABbyMQDC
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureUpdate #FutureofSustainability #Youth #Generation #MQDC
โฆษณา