Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Preeda Akara
•
ติดตาม
27 เม.ย. 2023 เวลา 09:44 • การศึกษา
#ปรีดาคิด
วิชาภาษาไทย แบบเรียน และภาษาพาที
1) หนังสือเรียนภาษาไทยเป็นส่วนหนึ่งของกลไกการสร้างและตอกย้ำอุดมการณ์ และเป็นอย่างนี้มาทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เพียงแค่หนังสือเรียนที่เป็นข่าว กล่าวคือหนังสือแบบเรียนภาษาไทยตอกย้ำให้เชื่อว่าอุดมการณ์ที่มีอยู่นั้นเป็นความจริงแท้แน่นอนเพียงหนึ่งเดียว ไม่อาจตีความเป็นอย้างอื่นไปได้ รวมถึงการสร้างอุดมการณ์ใหม่ เช่น "ความพอเพียง" ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่ชนชั้นนำของสังคมต้องการให้เยาวชนรับไปยึดถือ
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ตัวละครเด็กไทยในหนังสือเรียนภาษาไทยกลายเป็นสิ่งมีชีวิตในชุมชนจินตกรรม (Imagined communities) ตามคำของอาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ซึ่งมิใช่เด็กไทยที่จับต้องได้ในโลกจริง
สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นสิ่งแปลกปลอม ยัดเยียด ทั้งที่หลายเรื่องน่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัวเด็ก น่าจะสามารถเชื่อมต่อกับเด็กได้ง่าย
สิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ แวดวงวรรณกรรมสำหรับเด็กและเยาวชนของไทยหลุดพ้นจากยุค "วรรณกรรมขี่หลังควาย" มานานแล้ว แต่แบบเรียนวิชาภาษาไทยซึ่งเป็นหนังสือสำหรับเด็กเช่นกันกลับยังไม่หลุดพ้นจากสิ่งนี้
2) หนังสือเรียนปัจจุบันพยายามบรรจุเนื้อหาทันยุคสมัย เป็นต้นว่าการเจอคนแปลกหน้าจากที่รู้จักกันทางออนไลน์ วิถีชีวิตสมัยใหม่ ความสำคัญของอินเทอร์เน็ต สิ่งเหล่านี้ล้วนมีไว้เพื่อพร่ำสอนว่า "จง...." หรือ "อย่า..." สิ่งเหล่านี้บอกเด็กนักเรียนให้รู้ว่าต้องรู้อะไร ต้องคิดอย่างไรโดยไม่เปิดโอกาสให้เด็กตั้งคำถาม หรือแม้แต่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อเนื้อหาแบบเรียน กล่าวกันให้ชัดเจนก็คือวิธีการสอนแบบทำให้เด็กนักเรียนคุ้นเคยกับการสยบยอมต่อสิ่งที่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริงแท้แน่นอน
(อย่างไรก็ตาม บทบาทและวิธีการสอนของครูก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ครูที่หัวอ่อน ไม่กล้าตั้งคำถามก็ไม่สามามารถสร้างเด็กที่กล้าหาญทางความคิดได้)
3) การแต่งตำราภาษาไทยไม่ควรอยู่ในกำมือของกระทรวงศึกษา หรืออดีตครูภาษาไทย ตามลำพัง แต่ควรแสวงหาความร่วมมืออย่างน้อยก็จากนักเขียนร่วมสมัย นักเขียนเรื่องสำหรับเด็ก นักประวัติศาสตร์สำนักอื่นที่ไม่ใช่สายราชา-ชาตินิยม กวี และนักวรรณดี เป็นอย่างน้อย (รวมถึงคนวาดภาพประกอบและภาพปกหนังสือที่ไม่ใช่แนวจารีต-อนุรักษ์นิยม ซึ่งอย่างน้อยก็เห็นฮ่องเต้ กนต์ธร คนหนึ่งละ ที่เสนอตัวทำงานนี้)
4) เคยเขียนไปก่อนหน้านี้ในโอกาสหนึ่ง ก็อยากจะย้ำอีกครั้งว่า วิชาภาษาไทยไม่ใช่ลำพังแค่เนื้อหาหรือความรู้ภาษาไทย แต่เป็นส่วนผสมรวมของหลายศาสตร์ เช่น ศิลปะ สุนทรียศาสตร์ ปรัชญา การสื่อสาร สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมศึกษา เป็นอาทิ
ในเมื่อภาษาไทยเป็นวิชาที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ต่างๆ ดังนี้แล้ว ครูผู้สอนวิชาภาษาไทยจึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจรอบด้านในสาขาที่กล่าวมานี้ หรืออย่างน้อยก็ต้องค้นคว้าศึกษาในเรื่องเหล่านี้ มิใช่เพียงแค่การท่องตำรามาสอน และโดยเฉพาะการใช้มุมมองที่ตีบแคบ เชื่อว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่ในแบบเรียนคือความจริงสูงสุด ด้วยเหตุนี้แล้วครูสอนภาษาไทยจึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าหนังสือเรียน
กล่าวเฉพาะในแง่ของบทกวีหรือศิลปะ ครูภาษาไทยควรแนะนำรสคำรสความในกวีนิพนธ์หรือวรรณคดีเหล่านั้น แนะนำสุนทรียภาพ และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางสุนทรียะอันเกี่ยวข้องกับกวีนิพนธ์/วรรณคดีเหล่านั้น ทำบทเรียนให้มีชีวิต ไม่ใช่แค่สอนวรรณคดีเพื่อให้นักเรียนท่องจำคำศัพท์ได้ และรู้ว่าตัวละครใดทำอะไรที่ไหนเมื่อไร
รวมถึงจำเป็นต้องชี้ให้นักเรียนเห็นว่าวรรณคดีก็เป็นเครื่องสะท้อนยุคสมัยของสังคมที่วรรณคดีนั้นๆ เกิดขึ้นหรือดำรงอยู่ แต่ในปัจจุบันค่านิยมบางอย่างในบทเรียนนั้นสามารถถูกตั้งคำถามหรือแม้แต่ถูกปฏิเสธได้
ค่านิยมหรือความคิดใดๆ ในวรรณคดี ไม่ว่าผู้แต่งจะสูงส่งปานใด ก็มิได้หมายความว่าจะถูกวิพากษ์ด้วยเหตุผลไม่ได้ เนื่องด้วยวรรณคดีและกวีนิพนธ์มีไว้เพื่อให้มนุษย์ได้ดื่มด่ำ ได้เรียนรู้ ได้ให้ความหมาย แต่มิใช่มีไว้เพื่อให้กราบไหว้บูชา วรรณคดีที่มีไว้เพื่อกราบไหว้บูชาไม่ใช่งานศิลปะ แต่เราเรียกมันว่าเป็นคัมภีร์ของความเชื่อลัทธิหนึ่งเท่านั้น
5) บทบาทที่พึงจะเป็นของครูยุคใหม่คือการกระตุ้นให้เด็กนักเรียนกล้าแสดงออกต่อเนื้อหาบทเรียนอย่างมีเหตุผล ในแง่การคิดต่อยอด การสนับสนุน การโต้แย้ง การแสดงความเห็นเชิงวิพากษ์
นอกจากนี้ครูภาษาไทยพึงแสดงบทบาทเป็นพี่เลี้ยงหรือผู้อำนวยความสะดวกให้เด็กนักเรียนสามารถศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเองต่อไปได้ สนุกสนานที่จะได้หาวรรณคดีฉบับเต็มมาอ่านโดยไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนในห้องเรียนหรือคะแนนการประเมิน และโดยไม่หยุดอยู่แค่การรับความรู้สำเร็จรูปจากหนังสือเรียนหรือจากครูผู้สอน
6) "ท้องถิ่น" ควรเข้ามาอยู่ในสมการของแบบเรียนวิชาภาษาไทย ควรมีพื้นที่ของโอกาสการสร้างแบบเรียนของท้องถิ่นเอง ตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ที่มีร่วมกัน (หรือแม้แต่สิทธิในการกำหนดวัตถุประสงค์การเรียนรู้ของวิชาภาษาไทยของแต่ละท้องถิ่นเอง)
7) ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ควรนำไปสู่การแก้ไขปัญหา ไม่ควรนำไปสุ่การแขวะกันแบบเอาสะใจ หรือเพียงเพื่อด่าทอผู้เขียน กระทรวงศึกษาธิการ หรือแม้แต่รัฐบาล แล้วปีถัดไปนักเรียนก็กลับมาเรียนเนื้อหาเดิมๆ ด้วยวิธีการสอนแบบเดิมๆ เป็นวัฏจักรนิรันดร์
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย