Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ห้องเรียนผู้ประกอบการ
•
ติดตาม
10 พ.ค. 2023 เวลา 13:00 • ธุรกิจ
การใช้ข้อมูลทางการบัญชีเพื่อตัดสินใจว่าจะรับคำสั่งซื้อพิเศษหรือไม่
ผู้บริหารมักจะเผชิญหน้ากับการตัดสินใจว่าจะรับคำสั่งซื้อพิเศษ (Special Orders) หรือไม่ คำสั่งซื้อพิเศษเป็นการขอซื้อเพียงครั้งเดียวจากลูกค้ารายนั้น ซึ่งมิใช่ลูกค้าประจำของกิจการ มักเป็นการขอซื้อจำนวนมากและเสนอขอซื้อในราคาที่ต่ำกว่าราคาขายปกติของกิจการ
การพิจารณาจะรับคำสั่งซื้อพิเศษหรือไม่นั้นจะคำนึงถึงต้นทุนที่เกี่ยวข้องและกำลังการผลิตว่ามีเหลือพอที่จะผลิตสินค้าตามคำสั่งซื้อพิเศษนั้นหรือไม่
ยกตัวอย่างเช่น บริษัท จักรยานยนต์ จำกัด ผลิตและจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ในราคาคันละ 20,000 บาท แก่โชว์รูมรถจักรยานยนต์ทั่วไป กิจการเพิ่งได้รับคำสั่งซื้อจากบริษัทรับขนส่งแห่งหนึ่ง ขอซื้อรถจักรยานยนต์จำนวน 100 คัน ในราคาเพียง 15,000 บาท เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจของกิจการ ปัจจุบัน บริษัท จักรยานยนต์ จำกัด มีต้นทุนการผลิตต่อหน่วยเป็นดังนี้
ถ้าพิจารณาต้นทุนการผลิตข้างต้นแล้ว กิจการจะไม่รับข้อเสนอจากบริษัทรับขนส่งเพราะจะประสบผลขาดทุนการขายรถจักรยานยนต์ คันละ 1,000 บาท แต่หากวิเคราะห์ต้นทุนในรายละเอียดจะพบว่า ค่าใช้จ่ายการผลิตจำหน่าย 1,000 บาทนั้น ประกอบด้วยค่าใช้จ่ายการผลิตผันแปรเพียง 10% ที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายการผลิตคงที่
ซึ่งได้แก่ ค่าเสื่อมราคาโรงงาน ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต เงินเดือนหัวหน้าคนงานและพนักงานประจำโรงงาน เป็นต้น ซึ่งกิจการจำเป็นต้องจ่ายเป็นจำนวนแน่นอนไม่ว่าจะรับคำสั่งซื้อจากบริษัทรับขนส่งหรือไม่
ประกอบกับขณะนี้ บริษัท จักรยานยนต์ จำกัด มีกำลังการผลิตว่างเปล่าเหลืออยู่มากเพียงพอที่จะผลิตสินค้าจำนวนนี้ได้ โดยไม่ต้องเพิ่มปัจจัยการผลิต การวิเคราะห์ข้อมูลต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ จึงคำนึงเฉพาะต้นทุนส่วนเพิ่มหรือต้นทุนผันแปรที่กิจการต้องจ่ายเพิ่มในการผลิตสินค้าเท่านั้น คือ
จะพบว่า ต้นทุนที่กิจการต้องจ่ายเพิ่มหากผลิตรถจักรยานตามคำสั่งซื้อพิเศษนี้มีเพียง 14,200 บาท ซึ่งต่ำกว่าราคาเสนอซื้อที่ราคา 15,000 บาท อยู่คันละ 800 บาท นั่นคือถ้ารับคำสั่งซื้อพิเศษนี้กิจการจะมีกำไรเพิ่ม ขึ้น 80,000 บาท (100 คัน x 800 บาท) จึงควรตัดสินใจรับคำสั่งซื้อพิเศษนี้
ในกรณีที่กิจการไม่มีกำลังการผลิตเหลือว่างอยู่เลย หรือได้ผลิตเต็มกำลังการผลิตแล้ว ราคาที่กิจการจะรับคำสั่งซื้อพิเศษนี้ได้ คือ ราคาขายปกติซึ่งเท่ากับ 20,000 บาท เนื่องจากหากกิจการจะรับคำสั่งซื้อจากบริษัทรับขนส่งแล้ว กิจการต้องนำจำนวนสินค้าที่จะขายให้ลูกค้ารายอื่นมาจำหน่ายให้บริษัทรับขนส่งแทน เพื่อมิให้กำไรโดยรวมของกิจการลดลงจากเดิม
กิจการจึงต้องการกำไรเท่าเดิม นั่นคือ ต้นทุนเสียโอกาสหรือกําไรส่วนเกินจากการจําหน่ายสินค้าในราคาปกติที่สูญเสียไป หากกิจการไม่จําหน่ายให้ลูกค้าปกติ แต่นำสินค้ามาจําหน่ายให้บริษัทรับขนส่งแทน โดยมีการวิเคราะห์ดังต่อไปนี้
ราคาที่จำหน่าย = ต้นทุนส่วนเพิ่ม + ต้นทุนเสียโอกาส
= 14,200 + (20,000 - 14,200)
= 20,000 บาท
ดังนั้น ในกรณีที่กิจการผลิตเต็มกำลังการผลิตแล้ว กิจการจึงไม่ควรรับคำสั่งซื้อจากบริษัทรับขนส่งในราคา คันละ 14,000 บาท เพราะจะทำให้กำไรโดยรวมของกิจการลดลง
ต้นทุนส่วนเพิ่ม หมายถึง ต้นทุนที่แตกต่างกันจากการเปรียบเทียบต้นทุนในแต่ละทางเลือก ตัวอย่าง เช่น ผู้บริหารกำลังตัดสินใจเลือกระหว่างเครื่องจักรหลาย ๆ แบบที่จะเลือกซื้อมาทดแทนเครื่องจักรเก่า ผู้บริหารจำเป็นต้องนำต้นทุนของแต่ละทางเลือกมาพิจารณา ต้นทุนที่เกิดขึ้นเหมือนกันและมีจำนวนเท่ากันในทุกทางเลือกจะไม่ถูกนำมาพิจารณา แต่จะนำเฉพาะต้นทุนที่แตกต่างกันในแต่ละทางเลือกเท่านั้นมาพิจารณาเปรียบเทียบกันแล้วตัดสินใจ
ถ้าต้นทุนส่วนเพิ่มระหว่างสองทางเลือกเป็นการจ่ายต้นทุนเพิ่มขึ้น การตัดสินใจเลือกทางเลือกใด มักใช้หลักเกณฑ์ว่าเลือกทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำที่สุด หรือต้นทุนส่วนเพิ่มนั้นต้องน้อยกว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้น
แม้การรับคำสั่งซื้อพิเศษจะสร้างกำไรให้กิจการเพิ่มขึ้น กิจการยังควรระวังปัญหา ที่อาจจะเกิดขึ้นภายหลังจากการรับคำสั่งซื้อพิเศษ ได้แก่
1. การขายตามคำสั่งซื้อพิเศษ อาจมีผลกระทบต่อลูกค้าปกติของกิจการ กลุ่มลูกค้าปกติอาจต้องการให้กิจการลดราคาสินค้าให้แก่ลูกค้าปกติบ้าง หากกิจการไม่รับข้อเสนอบางครั้งกลุ่มลูกค้าเหล่านี้อาจเลิกซื้อสินค้าจากกิจการอีกต่อไป
2. การขายตามคำสั่งซื้อพิเศษ อาจกระทบต่อยอดขายตามปกติในตลาดของกิจการ เนื่องด้วยผู้ซื้อ สามารถซื้อได้ในราคาต่ำกว่าราคาขายปกติของกิจการ และอาจนำไปขายตัดราคากับสินค้าของกิจการได้
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
เขียนโดย: ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธเรศ สันตติวงศ์ไชย, CPA
ธุรกิจ
บัญชีธุรกิจ
การเงิน
1 บันทึก
2
1
1
2
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย