2 พ.ค. 2023 เวลา 03:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

วิชัย ทองแตง จากทนายความทักษิณ สู่นักลงทุนหมื่นล้าน

ปัจจุบัน ส่วนใหญ่นักลงทุนที่ประสบความสำเร็จในไทย มักจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนในการบริหารกิจการ
แต่รู้หรือไม่ว่า มีนักลงทุนไทยท่านหนึ่งที่สร้างฐานะด้วยการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทที่กำลังประสบกับปัญหา ในสัดส่วนที่มากพอที่จะมีอำนาจในการควบคุมบริษัท
จากนั้นก็ทำหน้าที่บริหารกิจการ จนบริษัทพลิกฟื้นจากวิกฤติ และมีมูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้น
เรากำลังพูดถึง “คุณวิชัย ทองแตง” ซึ่งคนที่อยู่ในวงการตลาดหุ้นมานาน น่าจะคุ้นชื่อของทนายความและนักลงทุนผู้มีชื่อเสียงคนนี้
เพราะเขาเคยเป็นทนายความ แก้ต่างคดีซุกหุ้นให้กับ คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จนสุดท้ายศาลต้องยกฟ้อง และเป็นการเปิดทางให้คุณทักษิณ รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี คนที่ 23 ของประเทศไทยได้สำเร็จ
รวมถึงเป็นอดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ของโรงพยาบาลพญาไท ก่อนที่จะแลกหุ้น รวมบริษัทเข้ากับกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ อันเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายโรงพยาบาลที่มีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก
1
เส้นทางชีวิตของคุณวิชัย ทองแตง เป็นอย่างไร และวิธีคิดในการสร้างความมั่งคั่งในตลาดหุ้นของเขา จะน่าสนใจแค่ไหน
BillionMoney จะสรุปให้ฟัง ในแบบที่เข้าใจง่าย ๆ
คุณวิชัย ทองแตง เกิดที่จังหวัดชลบุรี แต่ด้วยความที่เป็นเด็กหัวดี สามารถสอบเข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาได้ จึงมีโอกาสเข้ามาเรียนที่กรุงเทพฯ ในช่วงมัธยมปลาย
1
ต่อมาคุณวิชัย ตัดสินใจเลือกเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบังเอิญได้นั่งเรียนโต๊ะข้าง ๆ กับคุณสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี และน้องเขยของคุณทักษิณ ชินวัตร จนกลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน นับตั้งแต่ตอนนั้น
1
เมื่อเรียนจบ คุณวิชัยได้มีโอกาสเข้าทำงานในสำนักงานกฎหมายที่มีชื่อเสียงด้านคดีความเกี่ยวกับหุ้นส่วนบริษัท ซึ่งคดีความที่คุณวิชัยได้ทำส่วนใหญ่ ก็มักจะเกี่ยวข้องกับคดีความทางธุรกิจ
โดยจุดเริ่มต้นของคุณวิชัย ที่ได้ก้าวเข้ามาในวงการตลาดทุน ก็คือ การเป็นทนายความให้กับบริษัท ราชาเงินทุน ในช่วงที่เกิดวิกฤติราชาเงินทุนในปี 2522
ในสมัยนั้นตลาดหุ้นไทยเพิ่งเริ่มเปิดดำเนินการมาได้เพียงไม่กี่ปี กฎระเบียบหลาย ๆ อย่าง จึงยังไม่รัดกุมมากนัก
ทำให้บริษัทหลักทรัพย์ในเวลานั้น ปล่อยเงินกู้ให้กับนักลงทุนในการซื้อขายหุ้นแบบหละหลวม ซึ่งบริษัท ราชาเงินทุนเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
ผ่านไปไม่นาน นักลงทุนที่ลงทุนผิดพลาด ก็ไม่สามารถหาเงินมาชำระคืนบริษัทได้ จนบริษัทขาดสภาพคล่อง และต้องปิดตัวลงไปในที่สุด
1
ในตอนนั้นเอง คุณวิชัยได้รับหน้าที่เป็นทนายความของบริษัท ราชาเงินทุน เรียกร้องให้นักลงทุนหาเงินมาจ่ายหนี้คืนบริษัท
พอคุณวิชัยได้เข้ามาสัมผัสโลกแห่งการเงิน และการลงทุนในครั้งนั้น ก็เกิดความหลงใหล
จึงเริ่มทดลองลงทุนเป็นครั้งแรก ด้วยเงินหลักหมื่นบาท ด้วยความคิดที่ว่า หากลงทุนพลาดไป จะได้เสียเงินไม่เยอะ
ด้วยความที่ลักษณะนิสัยส่วนตัวเป็นคนละเอียด และเน้นไปที่การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานของบริษัท ทำให้คุณวิชัย ประสบความสำเร็จในการลงทุนในระดับหนึ่ง
2
นอกจากจะประสบความสำเร็จในการลงทุนส่วนตัวแล้ว ในด้านชีวิตการทำงานเป็นทนายความก็ประสบความสำเร็จไม่น้อย จึงถูกเชิญชวนจากบริษัทหลายแห่งให้เข้าไปทำงานเป็นที่ปรึกษา
2
ทำให้ตัวคุณวิชัย มีโอกาสรู้จักกับผู้บริหารบริษัทมากมาย ซึ่งในอนาคตก็เป็นประโยชน์สำหรับตัวเขาด้วย
1
ในปี 2542 หลังเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งขึ้น คุณวิชัยตัดสินใจเข้าซื้อหุ้นของโรงพยาบาลศิครินทร์ ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างหนี้
2
จากนั้นเขาก็เริ่มสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลเป็นของตัวเอง ด้วยการซื้อหุ้นโรงพยาบาลเปาโลในปีต่อมา และซื้อหุ้นโรงพยาบาลพญาไท ในปี 2544
ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นธุรกิจที่กำลังมีปัญหา แต่คุณวิชัย และทีมงานของเขา ใช้ความสามารถทางธุรกิจ บริหารให้โรงพยาบาลเหล่านี้ รอดพ้นจากวิกฤติได้ จนกลายเป็นกลุ่มโรงพยาบาลที่แข็งแกร่ง
นอกจากจะลงทุนเพื่อเข้าไปบริหารในธุรกิจโรงพยาบาลแล้ว คุณวิชัยยังชื่นชอบการลงทุนในธุรกิจพลังงานด้วย
ในปี 2544 ก็เป็นปีที่ PTT เข้าตลาดหลักทรัพย์
คุณวิชัยจึงไม่พลาดที่จะเข้าไปซื้อหุ้น PTT ในวันแรก ๆ และคุณวิชัยเองก็เคยยอมรับว่า หุ้นกลุ่มพลังงานทำกำไรให้เขามากที่สุด
โดยคุณวิชัยมองว่า หุ้นกลุ่มพลังงาน และหุ้นกลุ่มการดูแลสุขภาพ เป็นหุ้นที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เป็นธุรกิจที่ไม่มีทางหายไป เพราะเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนทั่วโลก
1
คุณวิชัยสามารถสะสมความมั่งคั่งจากการลงทุนมาเรื่อย ๆ ทั้งจากหุ้นที่เข้าไปมีส่วนในการพลิกฟื้นกิจการ และหุ้นที่ถือลงทุนไว้เฉย ๆ โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับการบริหาร เช่น PTT
จนในปี 2553 คุณวิชัย ได้พบกับนายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของกลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ
นายแพทย์ปราเสริฐ เป็นผู้เสนอข้อตกลงให้คุณวิชัย นำกลุ่มโรงพยาบาลพญาไท เข้ามารวมกับโรงพยาบาลกรุงเทพ เพื่อให้เครือข่ายโรงพยาบาลมีความแข็งแกร่ง
ตอนนั้นคุณวิชัยใช้เวลาตัดสินใจเพียง 50 วันเท่านั้น และเมื่อรวมธุรกิจกันแล้ว กลุ่มของคุณวิชัย ทองแตง จึงกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในโรงพยาบาลกรุงเทพ เป็นอันดับ 2 ในสัดส่วน 15%
1
ซึ่งการตัดสินใจในครั้งนั้นของคุณวิชัย ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงต่ออุตสาหกรรมโรงพยาบาลของไทย
เพราะการรวมธุรกิจในครั้งนั้น ทำให้เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ กลายเป็นเครือโรงพยาบาลที่แข็งแกร่งที่สุดในไทย จนถึงทุกวันนี้
และถ้าถามว่า เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ หรือกลุ่ม BDMS แข็งแกร่งแค่ไหน ?
1
ก็อยากให้ลองตั้งข้อสังเกตกันดูว่า นับตั้งแต่เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ รวมกับเครือโรงพยาบาลพญาไทของคุณวิชัย ได้สำเร็จ
นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ เจ้าของ BDMS ก็ติดอันดับเศรษฐีหุ้นไทย 10 คนแรกมาโดยตลอด สะท้อนถึงความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมั่นคงของเจ้าของ จนยากที่จะมีใครมาโค่นล้มได้
ส่วนตัวของคุณวิชัยเอง ก็กลายเป็นเศรษฐีหุ้นที่ร่ำรวยเป็นอันดับ 4 ของไทย ในปี 2554 ด้วยมูลค่าทรัพย์สินประมาณ 11,804 ล้านบาท ก้าวกระโดดขึ้นจากอันดับที่ 297 ในระยะเวลาเพียงปีเดียว
ในปัจจุบันคุณวิชัย ไม่ได้มีชื่อติด 10 อันดับเศรษฐีหุ้นไทยที่รวยที่สุดแล้ว เพราะมีการลดสัดส่วนการถือครองหุ้น BDMS ไป และเริ่มกระจายทรัพย์สินให้ลูกหลานมากขึ้น
แต่คุณวิชัยก็ยังไม่ได้วางมือจากการลงทุนเสียทีเดียว
เพราะเขาเริ่มเปลี่ยนไปลงทุนในธุรกิจสตาร์ตอัปมากขึ้นแทน โดยมีเป้าหมายว่าอยากสร้างสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์นขึ้นมาในไทย
1
ก็เป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า คุณวิชัยจะสามารถเดินทางไปถึงเป้าหมายนี้ได้ แบบเดียวกันกับที่เขาเคยสร้างเครือข่ายโรงพยาบาลไทยให้แข็งแกร่งติดอันดับโลกหรือไม่..
2
โฆษณา