29 เม.ย. 2023 เวลา 05:55 • ปรัชญา

" เสรีภาพ ศาสนา และบัตรประชาชน "

เมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดประเด็นดราม่าเกี่ยวกับเรื่อง การที่มิสแกรนด์ปฏิเสธการดูดวง เพราะเธอนั้นนับถือศาสนาคริสต์ จนเกิดเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์กันไปต่างๆนาๆ
และไม่กี่วันที่ผ่านมา คุณณวัฒน์ได้ออกมาโชว์สำเนาบัตรประชาชนของมิสแกรนด์คนดังกล่าว พร้อมกับบอกว่าไม่ทราบว่าเปลี่ยนเป็นคริสต์ตอนไหน เพราะในบัตรประชาชนไม่ได้ระบุศาสนา และย้ำว่าไม่ทราบว่าเป็นคริสตชน เพราะเห็นว่ามีพฤติกรรมเหมือนพุทธชนมาตลอด
ดังนั้นในบทความนี้เราจะมีพูดถึง "เสรีภาพทางศาสนา และบัตรประชาชน" กันครับ
.
ประเด็นแรกเรื่องของการปฏิเสธที่จะดูดวง เพราะว่าไม่สะดวกใจที่จะทำด้วยเหตุว่าตนเป็นคริสต์ จึงโดนพูดในลักษณะสอนโดยความเชื่อของพิธีกรไปต่างๆนาๆ จนเกิดเสียงวิจารณ์มากมาย
ในประเด็นนี้ต้องบอกว่า “เสรีภาพทางความเชื่อ” ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานตามระบอบประชาธิปไตย ผมว่าสิ่งที่ควรตระหนักไม่ควรเป็นเรื่องว่าฝ่ายใดถูกหรือผิด แต่ประเด็นที่สำคัญอยู่ที่ว่า เรามองว่าการนับถือศาสนา เป็นเรื่องของ "สิทธิ,เสรีภาพ" หรือไม่ต่างหาก
ถ้ามองว่าเป็นเสรีภาพ ก็รวมไปถึงเสรีภาพที่คนนั้นจะมีสิทธิ ในการเลือกที่จะทำหรือไม่ทำในสิ่งที่เขาไม่ได้เชื่อ หรือขัดหลักศาสนาได้ ซึ่งถ้ามองเป็นคนละเรื่องกันนั้นก็สุดแท้แต่จะคิด
ส่วนประเด็นต่อมา คือเรื่องของการระบุศาสนาในบัตรประชาชน ต้องบอกว่าการไม่ระบุศาสนาในบัตรประชาชนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะในประเทศโลกตะวันตกที่พัฒนาแล้วโดยรวมนั้น หรือแม้แต่ประเทศโลกตะวันออกที่พัฒนาแล้วอย่างสิงคโปร์ ออสเตรเลีย หรือแม้แต่อินเดีย ก็ไม่มีช่องให้ระบุศาสนา ในบัตรประชาชน ซึ่งมาจากแนวคิดเรื่องหลักการโลกวิสัย ที่ถือว่าให้ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นความเชื่อที่เป็นเสรีภาพส่วนบุคคล
ส่วนในบางประเทศที่มีความเป็นรัฐศาสนา ประเทศเหล่านี้จะมีการบังคับให้พลเมืองระบุศาสนาในบัตรประชาชน โดยส่วนใหญ่แล้วเป็นประเทศมุสลิมและพุทธแบบเข้มข้น ซึ่งในประเทศเหล่านี้ศาสนานั้นมีอิทธิพลอย่างสูงมาก ทั้งกับผู้คนและวัฒนธรรม การระบุนั้นจะช่วยกรองหรือสร้างแรงกดดันไม่ให้ผู้คนเปลี่ยนศาสนาโดยง่าย หรือต้องการให้นิยมในศาสนาหลักของประเทศ การระบุมักจะมีผลทางจิตวิทยาชัดเจนเลยคือ คนที่บัตรประชาชนระบุว่าศาสนาอะไร มักไม่ค่อยกล้าที่จะเปลี่ยนศาสนาโดยง่าย จะเปลี่ยนศาสนายากขึ้น
และปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่ง ของการระบุศาสนาในบัตรประชาชนคือ บ่อยครั้งมันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติได้ง่าย (เหมือนในกรณีข้างต้น) ทำให้คนที่นับถือศาสนาแปลกๆ ศาสนาคนส่วนน้อย หรือศาสนาที่คนส่วนใหญ่ไม่ชอบ อาจนำไปสู่การสร้างความไม่พอใจและเลือกปฏิบัติ
ที่สำคัญยังสร้างแรงกดดันให้คนที่นับถือศาสนาที่แปลกกว่าคนอื่น ไม่กล้าที่จะแสดงจุดยืนในความเชื่อตนเอง หรืออย่างน้อยการไม่แสดงจุดยืนนั้นดีกว่าเพราะไม่อยากให้เกิดปัญหา ซึ่งทำให้ความเชื่อทางศาสนาไม่ได้ถือว่าเป็นเสรีภาพส่วนบุคคลอย่างแท้จริง
ซึ่งปัญหาเรื่องการนับถือศาสนาในสังคมไทยก็คือ เราไม่เคยมองว่าศาสนาเป็นเรื่องของเสรีภาพตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และหนำซ้ำยังมองว่าสองเรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกัน ศาสนาคือเรื่องของศาสนา ส่วนประชาธิปไตยคือเรื่องของทางโลก ทั้งๆที่สองเรื่องนี้เป็นเรื่องที่แยกขาดจากกันไม่ได้
ดังนั้นแกนกลางที่เป็นทางออกของปัญหา จึงไม่ใช่อยู่ที่ว่าคุณจะนับถือศาสนาหรือไม่ หรือถกเถียงกันว่าอะไรดีกว่ากัน ทางออกของเรื่องนี้คือ เราต้องทำลายมายาคติที่มองว่า ศาสนาเป็นคนละเรื่องกับสิทธิเสรีภาพตามหลักการประชาธิปไตยออกก่อน
ต้องสร้างชุดความเข้าใจและมุมมองในสังคมว่า การที่จะนับถือศาสนาอะไรหรือไม่ถือเป็น ‘สิทธิเสรีภาพ’ ขั้นพื้นฐานประการหนึ่งภายใต้หลักการประชาธิปไตย
ด้วยเหตุที่ว่า สังคมไทยนั้นไม่ได้แยกศาสนาออกจากรัฐอย่างแท้จริง ดังนั้นทางออกที่สำคัญอีกประการ คือการเสนอให้มีการ "แยกศาสนาออกจากรัฐ" อย่างจริงจัง และส่งเสริมในเรื่องเสรีภาพ,เสมอภาคใ ห้แก่ทุกความเชื่อทุกศาสนา การแยกศาสนาออกจากรัฐนี้คือ การวางตำแหน่งแห่งที่ของศาสนาเสียใหม่ ให้สอดคล้องกับสำนึกโครงสร้างประชาธิปไตย โดยใช้หลักการ secularization
ส่วนของเรื่องการ ระบุศาสนาลงในบัตรประชาชน การที่ไม่ได้ระบุศาสนานั้นถือว่าไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดปกติแต่อย่างใด เพราะเป็นการตอกย้ำว่าศาสนาควรเป็นเรื่องส่วนตัว และหลายประเทศที่มีความอารยะก็ไม่ได้มีการระบุ ดังนั้นถ้าจะถามว่าอย่างไรดีกว่า เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าว ก็อยากเสนอว่าให้ทำเหมือนกับนานาอารยะประเทศ ที่ไม่มีช่องระบุศาสนาในบัตรประชาชน
.
"ถ้าความเชื่อทางศาสนาเป็นเรื่องเสรีภาพส่วนตัวในใจ จะเลือกเชื่ออย่างไรไม่มีใครต้องมาเดือดร้อน มันจะถือเป็นสิทธิของเรา 100% "
โฆษณา