29 เม.ย. 2023 เวลา 14:15 • หนังสือ

รีวิวหนังสือ แค่คนเก็บตัว My Introvert Story

ถ้าจะให้พูดถึงหนังสือสักเล่มที่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์อินโทรเวิร์ตได้ดี คงจะหนีไม่พ้นเล่มนี้
.
แค่คนเก็บตัว My Introvert Story
นักเขียน ชินมินย็อง
ผู้แปล จารุพรรณ์ สีดาฐิติวัฒน์
สำนักพิมพ์ Bloom
.
ภายในเล่มแบ่งออกเป็น 5 บท
บทที่ 1 มนุษย์อินโทรเวิร์ตสุดขั้ว
บทที่ 2 การอยู่คนเดียวคือการชาร์จพลัง
บทที่ 3 ความเศร้าเพื่อนรัก
บทที่ 4 ถูกบังคับให้เป็นคนเข้าสังคม
บทที่ 5 วิธีเยียวยา
.
มนุษย์บนโลกนี้ส่วนใหญ่ล้วนแตกต่าง แต่ก็มีมนุษย์จำนวนหนึ่งที่ไม่เพียงแตกต่าง แต่ยังถูกสังคมมองราวกับว่าเป็นพวกแตกแยก ทั้ง ๆ ที่พวกเขาเป็นแค่พวกชอบเก็บตัว
.
หากใครที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้และเป็นมนุษย์อินโทรเวิร์ตแบบสุดโต่งจะเข้าใจและพยักหน้าไปกับหลายข้อความบนหน้ากระดาษ
.
หนังสือเล่มนี้เขียนโดยนักเขียนที่เป็นอินโทรเวิร์ตสุดโต่ง เรื่องราวหลายเรื่องถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสืออย่างอัดแน่น ทั้งการใช้ชีวิตและเรื่องของการเข้าสังคม หรือแม้การให้คุณค่าในการใช้เวลาของคนที่เป็นอินโทรเวิร์ตและเอ็กโทรเวิร์ต
#บทที่ 1 มนุษย์อินโทรเวิร์ตสุดขั้ว ว่าด้วยเรื่องของนิสัยของชาวอินโทรเวิร์ตที่ชอบใช้เวลาว่างส่วนใหญ่ด้วยการทำอะไรคนเดียว นิสัยที่อ่อนไหวง่ายและสามารถรับได้ทั้งคลื่นพลังงานบวกและลบจากผู้คนที่อยู่รอบข้าง พลังงานของชาวอินโทรเวิร์ตถูกรบกวนได้ง่าย นั่นเป็นเหตุผลว่า การหลบไปอยู่คนเดียวทำให้พลังงานของชาวอินโทรเวิร์ตถูกเติมเต็ม จากนั้นพวกเขาถึงจะกลับออกมาเผชิญหน้ากับโลกภายนอกได้อีกครั้ง
และด้วยนิสัยส่วนตัวของชาวอินโทรเวิร์ตที่เป็นผู้ฟังที่ดีได้มากกว่าเป็นผู้พูดที่ยอดเยี่ยม ทำให้ผู้คนรอบข้างมักจะเห็นชาวอินโทรเวิร์ตเป็นที่ระบายเรื่องต่าง ๆ ที่คับข้องใจได้ ทำให้ชาวอินโทรเวิร์ตเป็นผู้ที่ให้พลังงานบวกแก่ผู้อื่นได้ดีเช่นกัน
บทหนึ่งจากหนังสือ “ความอ่อนไหวที่มีทำให้ฉันได้ลิ้มรสความรู้สึกได้อย่างเต็มอิ่ม และพบ “ความพิเศษ” ในสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ อันแสนธรรมดาสามัญ ชีวิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกนั้น ยิ่งทำให้ชีวิตของฉันสมบูรณ์ขึ้น”
#บทที่ 2 การอยู่คนเดียวคือการชาร์จพลัง
แม้ชาวอินโทรเวิร์ตจะเป็นมนุษย์ที่ชอบอยู่คนเดียว และมีความสุขกับการอยู่คนเดียวมากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่า ชาวอินโทรเวิร์ตจะไม่ชอบผู้คนหรือหนีออกจากสังคม แท้จริงแล้วชาวอินโทรเวิร์ตเองก็ชอบการอยู่กับผู้คนเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีข้อจำกัดอยู่บ้างนิดหน่อย
เมื่อถึงเวลาที่ชาวอินโทรเวิร์ตต้องออกนอกพื้นที่ตนเอง พวกเขามักจะชอบพบปะผู้คนเพียงไม่กี่คนในแต่ละครั้ง หรือหากต้องอยู่ในกลุ่มคนจำนวนมาก สิ่งที่เห็นได้ชัดที่สุดคือพวกเขามักจะสร้างพื้นที่ของตนเองหรือไม่ก็เป็นผู้ฟังมากที่ดีมากกว่าสนทนากับผู้คนมากมายไปทั่ว อีกทั้งเวลาในการออกไปพบผู้คนก็จะถูกจำกัดเพียงครั้งละไม่เกินห้าถึงแปดชั่วโมง แต่ที่สุดแล้วไม่ว่าจะเป็นอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กโทรเวิร์ตก็ต้องหาจุดสมดุลระหว่างช่วงเวลา “อยู่กับตัวเอง” และ “อยู่กับผู้อื่น”
บทหนึ่งจากหนังสือ “ถึงฉันไม่ชอบเข้าสังคม แต่ก็ชอบออกไปเดินเล่นข้างนอกอยู่บ่อย ๆ แต่สุดท้ายบ้านก็ยังเป็นเซฟโซนของฉันอยู่ดี เพราะไม่ว่าจะไปที่ใด ก็ไม่มีที่ไหนทำให้สบายใจเท่ากับเวลาที่ได้อยู่บ้านอีกแล้ว”
#บทที่ 3 ความเศร้าเพื่อนรัก
อารมณ์ความรู้สึกเป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ แต่ถึงแบบนั้น ความเศร้าและความโดดเดี่ยวก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องแย่เสมอ หากเราค่อย ๆ ยอมรับ และรู้จักปรับตัวให้เข้ากับมัน สุดท้ายแล้วอารมณ์พวกนี้จะทำให้เราเป็นคนที่โตขึ้น เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น มีความสุขุมมากขึ้น
บทหนึ่งจากหนังสือ “เมื่อความโดดเดี่ยวถูกสั่งสม ความสามารถทางศิลปะและการประดิษฐ์คิดสร้างสรรค์จะได้รับแรงผลักดันให้บังเกิด เพราะคนเหล่านั้นไม่เปิดให้สิ่งเร้าต่าง ๆ หลุดเข้ามารบกวนตน จึงรักษาไอเดียสร้างสรรค์และความคิดริเริ่มอะไรใหม่ ๆ ที่มีติดตัวมาตั้งแต่แรกเริ่มไว้ได้โดยไม่ถูกรบกวนหรือทำลาย”
#บทที่ 4 ถูกบังคับให้เป็นคนเข้าสังคม
ในวัยเด็ก เรายังไม่ได้รู้จักตัวเองและโลกใบนี้มากนัก ฉะนั้นการที่สังคมส่วนใหญ่เชื่อว่า เด็กที่ให้ความร่วมมือ กล้าแสดงออกและกระตือรือร้นจะเป็นเด็กน่ารัก ทำให้เราต้องทำตามสิ่งที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเป็นแบบนั้น นั่นยิ่งทำให้เด็กที่เป็นอินโทรเวิร์ตออกห่างจากตัวเองมากยิ่งขึ้น พวกเขาถูกผลักดันให้เป็นในแบบที่สังคมหรือคนส่วนใหญ่เชื่อ
ทำให้ต้องการที่จะอยู่ท่ามกลางผู้คน ได้รับคำชื่นชมหรือมีตัวตนในสายตาคนอื่น แต่การเป็นแบบนั้นของชาวอินโทรเวิร์ตยิ่งทำให้พวกเขารู้สึกกดดัน เพราะนั่นหมายความว่า เราต้องพยายามเป็นทุกอย่างในสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเอง ต้องพยายามเข้าสังคม พูดกับผู้คนให้มาก ทั้งต้องยัดตัวเองเข้าไปในพื้นที่ส่วนรวมจนทำให้พื้นที่ส่วนตัวแคบลง ยิ่งทำให้เกิดบาดแผลและความเจ็บปวดโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว ตัวตนภายในจะค่อย ๆ ถูกฆ่าทีละน้อย บาดแผลจากการถูกกดดันเหล่านั้น อาจจะส่งผลให้ชาวอินโทรเวิร์ตได้เป็นอย่างมาก
บทหนึ่งจากหนังสือ “ที่ผ่านมาฉันดิ้นรนที่จะมีชีวิตรอดและใช้ชีวิตโดยไม่รู้ว่าตัวเองกำลังเจ็บปวด กว่าจะรู้สึกตัวบาดแผลนั้นก็เริ่มกลัดหนองและลุกลามไปมากแล้ว ร่องรอยความเจ็บปวดนั้นต้องรอให้โตเป็นผู้ใหญ่แล้วถึงจะมองเห็น”
#บทที่ 5 วิธีเยียวยา
แน่นอนว่าชาวอินโทรเวิร์ตรักการอยู่คนเดียว ฉะนั้นกิจกรรมที่ทำให้ได้อยู่กับตัวเองคือการเยียวยาที่ดีที่สุด อีกทั้งการที่ชาวอินโทรเวิร์ตส่วนใหญ่มักจะพูดน้อย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่คิด การระบายออกทางความคิดมักจะเป็นการเขียนเสียมากกว่าการพูด อารมณ์ที่ซับซ้อนทำให้ตัวอักษรมีความหมาย และบางครั้งการพูดก็ไม่ได้ตรงกับความคิดสักเท่าไหร่
การได้อยู่ในที่ที่แสงสลัวหรือความมืดคือที่สุดโปรด การได้ใช้ชีวิตกับธรรมชาติ อ่านหนังสือที่ชอบ ดูซี่รี่ย์ที่ฟิน นั่งมองผู้คนที่ร้านกาแฟหรือสวนสาธารณะ ปั่นจักรยาน กระทั่งดื่มด่ำการสนทนาที่แสนลึกซึ้งกับเพื่อนสักคนที่รู้ใจ ทั้งหมดคือการเยียวยาที่ดีของชาวอินโทรเวิร์ต
บทหนึ่งจากหนังสือ “ฉันชื่นชอบการใช้เวลาอยู่คนเดียวในความเงียบสงัดมากกว่าใคร ๆ แต่ก็เพลิดเพลินกับการใช้เวลาในพื้นที่สาธารณะในหลายแง่มุมเช่นกัน ในที่แบบนั้นเราไม่ต้องแลกเปลี่ยนหรือมีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง แต่ความมีชีวิตชีวาของสถานที่ ของผู้คนที่อยู่ด้วยนั้นช่วยเติมเต็มพลังให้ฉัน”
หนังสือเล่มนี้ไม่ว่าจะเป็นชาวอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กโทรเวิร์ตก็สามารถอ่านได้ เพราะจะทำให้เราเข้าใจว่า “สุดท้ายแล้ว เราก็แค่มีบุคลิกลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันเท่านั้นเอง” ไม่ว่าจะมีบุคลิกลักษณะแบบใดก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดหรือไม่ดี เราเพียงแค่ต้องเข้าใจตัวตนเอง โอบรับตัวตนนั้นด้วยความเข้าใจ สุดท้ายแล้วไม่ว่าชีวิตจะเกิดปัญหาหรือบาดแผลใด ๆ ขึ้น การเยียวยาตนเองตามบุคลิกลักษณะของเราจริง ๆ จะเป็นตัวที่ช่วยได้ดีที่สุด
ไม่ว่าจะมีตัวตนแบบใดบนโลกใบนี้ ขอแค่ให้เป็นแบบที่เราเป็น เป็นแบบที่เรามีความสุขที่จะอยู่กับตัวเอง เป็นในแบบที่เรามองกระจกและสามารถยิ้มให้กับคนนั้นได้ เมื่อเรารักคนในกระจกได้ เราก็จะใช้ความรักแบบเดียวกันรักคนอื่น ๆ บนโลกนี้ได้เช่นกัน
เพื่อน ๆ สามารถสั่งซื้อหนังสือได้ที่ 👉https://shope.ee/99sr9UftxZ
#รีวิวหนังสือ #หมูหมูกับหนังสือ #MyIntrovertStory #แค่คนเก็บตัว
โฆษณา