15 พ.ค. 2023 เวลา 04:00 • สุขภาพ

การรักษามะเร็งในระดับยีน (CAR-T Cell) มาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน

มหาวิทยาลัยมหิดล เผยผลสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรม ผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR – T cell) ภายใต้มาตรฐานสากลแห่งแรกในอาเซียน สามารถนำไปใช้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จำนวน 10 ราย ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลายขนาน ยามุ่งเป้าหลายชนิด โดยทั้ง 10 รายหลังได้รับ CAR - T cell ตอบสนองจนโรคสงบทุกราย 100%
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรเดช หงส์อิง ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การวิจัยนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้รักษามะเร็งด้วยเซลล์และยีน (CAR – T cell) โดยทีมแพทย์และอาจารย์นักวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เริ่มทำการวิจัยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2557 จนสำเร็จ และสามารถนำไปใช้จริงในผู้ป่วยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จำนวน 10 ราย โดยเป็นผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด บี เซลล์ ที่ดื้อต่อการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหลายขนาน ยามุ่งเป้าหลายชนิด
ตลอดจนบางรายหลังปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแล้วด้วย โดยทั้ง 10 รายหลังได้รับ CAR - T cell ตอบสนองจนโรคสงบทุกราย (100%) ทั้งนี้ ในขั้นตอนการดำเนินการเป็นการนำเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยหรือพ่อแม่พี่น้องผู้ป่วยมาทำการเพาะเลี้ยงและดัดแปลงพันธุกรรมในห้องปฏิบัติการที่ปลอดเชื้อ ประมาณ 2-3 สัปดาห์ แล้วนำผลิตภัณฑ์ยา CAR – T cell มาให้ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ หลังจากนั้นใช้เวลา 2-4 สัปดาห์ พบว่าเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวหมดไปไม่พบทั้งในเลือดและไขกระดูก
ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยมหิดลได้ร่วมมือกับภาคเอกชน โดยมี บริษัท เจเนพูติก ไบโอ จำกัด ได้ลงทุนในห้องปฏิบัติการระดับ GMP (good manufacturing practice) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตที่ได้การรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเมื่อ 18 มกราคม พ.ศ. 2566 ตามมาตรฐานสากล EMA (European Medicines Agency) และขณะนี้กำลังนำผลิตภัณฑ์ยานี้เข้าสู่กระบวนการการศึกษาวิจัย ในขั้นตอน IND (Investigational New Drug) ของสำนักงาน อย. เพื่อขึ้นทะเบียนรับรองตามมาตรฐานสากลอีกด้วย
ทำให้เพิ่มโอกาสคนไทยสามารถเข้าถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ยานี้ เนื่องจากต้นทุนต่ำลงมาก ซึ่งเป็นผลงานของนักวิจัยไทย 100% ซึ่งได้รับการจดสิทธิบัตรครอบคลุมทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากโครงสร้างโมเลกุลแตกต่างชัดเจน โดยที่คุณสมบัติทำลายเซลล์มะเร็งยังได้ผลดีทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง นอกจากนี้สามารถเตรียมการผลิตโดยใช้เม็ดเลือดขาวของคนอื่นที่ไม่ใช่ของตนเอง ทำให้มีโอกาสได้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยหลายรายไม่มีเม็ดเลือดขาวเพียงพอที่จะนำมาผลิต
CAR - T cell ที่ผลิตนี้นอกจากใช้ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาว ชนิด บีเซลล์แล้ว ยังสามารถนำมาใช้ในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ชนิด บี เซลล์ได้ด้วย ในอนาคตทางมหาวิทยาลัยมหิดลเองกำลังวิจัยผลิตภัณฑ์ยา CAR T-cell สำหรับมะเร็งมัยอิโลมา มะเร็งกระดูก มะเร็งสมอง มะเร็งต่อมหมวกไต และอื่น ๆ อีกตามมา
กล่าวได้ว่ามหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัยผลิตภัณฑ์ยา CAR – T cell ที่เคยมีราคาสูง ให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการพัฒนาและผลิตได้เองในประเทศด้วยต้นทุนที่ต่ำลงในห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐานสากลเป็นแห่งแรกในอาเซียน มีผลการรักษาในผู้ป่วยเบื้องต้นเป็นที่น่าพอใจ และคาดว่าจะนำไปใช้ในผู้ป่วยวงกว้างได้ในเร็ววันนี้ ปัจจุบันได้รับการติดต่อจากประเทศเพื่อนบ้านในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวอีกด้วย
#ความรู้ทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ #wisdomoftheland
ข้อมูล: งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล 0-2849-6208
โฆษณา