2 พ.ค. 2023 เวลา 01:04 • ข่าว

"การเผาของนายทุน"

จากสถานการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันในประเทศเมียนมาที่ลุกลามมายังประเทศไทยในช่วงเดือนมกราคม-เมษายนของทุกปี เกิดจากเกษตรกรเผาป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการเกษตรและเผากำจัดเศษของผลผลิตทางการเกษตรเพื่อเตรียมแปลงสำหรับการเพาะปลูกในฤดูการถัดไป ซึ่งส่งผลกระทบกับสภาพอากาศ สุขภาพ และการท่องเที่ยวของไทยเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าจะมีการเรียกร้องและขอความร่วมมือแล้วก็ตามแต่ก็ยังเกิดเหตุการณ์ไฟป่าและฝุ่นควันขึ้นทุกปีและเลวร้ายขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับพืชส่วนใหญ่ที่เกษตรกรมักทำการเผาเพื่อกำจัดเศษของผลผลิตจะเป็นข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์ โดยประเทศเมียนมามีการส่งออกข้าวโลกสำหรับเลี้ยงสัตว์ให้กับประเทศไทยในปี 2564 สูงถึงร้อยละ 98.25 หรือ 1,717,570,110 กิโลกรัม คิดเป็นมูลค่า 384,595,449 ดอลลาร์สหรัฐ
เนื่องด้วยประเทศไทยมีมาตรการลดภาษีนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหลือ 0% เพื่อเอื้อประโยชน์ให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ของไทยเติบโตภายใต้กฎหมายและนโยบายที่สนับสนุนโดยภาครัฐตั้งแต่ปี 2543 และเพื่อแก้ปัญหาวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ไม่เพียงพอในประเทศไทย ในทางกลับกันก็ต้องแลกมาด้วยปัญหาไฟป่าที่ลุกลามมายังบริเวณไทย-เมียนมา และปัญหาฝุ่นควันที่ลอยข้ามพรหมแดนมายังประเทศไทย
ประเทศเมียนมามีนโยบายส่งเสริมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหลายด้านด้วยกันหนึ่งในนั้นเป็นด้านการเกษตรโดยมีนโยบายดังนี้ 1.การเช่าและใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร 2.จัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรม 3.พัฒนากิจการอุตสาหกรรมขนาดเล็กและการใช้เทคโนโลยีขนาดเบาในโรงงาน 4.การค้าผลิตผลททางการเกษตรวัสดุอุปกรณ์และเครื่องมือทางการเกษตรโดยลักษณะของการลงทุนด้านการเกษตร อาทิ เพาะปลูกผลิตแปรรูปและจำหน่ายพืชล้มลุก ทำไร่หรือแปรรูปพืชเป็นยา กาแฟ ชา น้ำมันปาล์มพืชสวน และจำหน่ายผลผลิตของตนได้
โดยบริษัทของไทยที่ทำการลงทุนด้านการเกษตรในประเทศพม่านั้นก็คือบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ CP โดยจัดตั้งบริษัทในเครือที่มีชื่อว่า Myanmar CP Livestock Company (MCPLC) ขึ้นเพื่อขายเมล็ดพันธุ์และรับซื้อข้าวโพดจากเกษตรกร โดยส่วนใหญ่จะเป็นเกตรกรในรัฐฉานซึ่งเป็นพื้นที่ติดกับชายแดนภาคเหนือประเทศไทย โดยมีการเพาะปลูกข้าวโพดมากที่สุดอีกทั้งยังมีการพบจุดความร้อนสูงในบริเวณนี้
ซึ่งถ้าหากปีไหนราคาข้าวโพดสูงก็จะพบจุดความร้อนที่สูงขึ้นกว่าเดิมทำให้เห็นได้ชัดว่ายิ่งราคาข้าวโพดสูงขึ้นเท่าไหร่เกษตรกรก็จะรีบเผาทำลายเศษเหลือของผลผลิตมากขึ้นและมีจำนวนรอบบ่อยขึ้น ทำให้การเข้าไปลงทุนในประเทศเมียนมาของ CP นั้นไม่เพียงแต่ได้ผลผลิตของข้าวโพดสำหรับเลี้ยงสัตว์เพียงอย่างเดียวแต่กลับยังนำไฟป่า ฝุ่น ควัน ลุกลามเข้ามายังประเทศไทยซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างและยากต่อการป้องกันผลกระทบเหล่านี้
ในมุมมองของชาวบ้านเองก็ไม่อยากที่จะเผาเนื่องจากได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพเช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากหนี้สินที่มีอยู่จึงต้องประหยัดต้นทุน โดยมีบทสัมภาษณ์เกษตรกรที่มีชื่อว่า “รีจิน” เกษตรกรไร่ข้าวโพด เชื้อสายปะโอ จากหมู่บ้าน Tha Yat Pin Hla เขตเมืองตองจี รัฐฉาน เปิดเผยว่า “จริงๆแล้วชาวบ้านก็ไม่อยากจะใช้วิธีเผาหรอก เพราะว่าพวกเราเองก็ได้รับผลกระทบจากฝุ่นควันเหมือนกัน
แต่ว่าชาวบ้านหลายๆ คนไม่มีเงินมากพอจะไปจ้างรถไถมาไถกลบตอซังข้าวโพดได้ เพราะว่าพวกเขาหมดเงินไปกับต้นทุนการเพาะปลูกข้าวโพดแล้ว นอกจากนี้ราคาข้าวโพดช่วงนี้จะตกต่ำลงมาก ทำให้พวกเขาจำต้องเผาตอซังข้าวโพดแทนการไถกลบ” รีจิน กล่าว แม้ว่าก่อนหน้านี้นายหน้าค้าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ซึ่งเป็นตัวแทนจากบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติ โฆษณาว่าชาวบ้านที่นี่จะสามารถทำกำไรได้มากหากเปลี่ยนวิถีการผลิตมาเพาะปลูกข้าวโพดในระบบเกษตรพันธะสัญญา
แต่ในความเป็นจริง เขากล่าวว่า เกษตรกรหลายๆ คนกลับไม่ได้ผลกำไรมากมายอย่างที่คิด แถมบางคนยังติดหนี้สินที่เกิดจากการกู้ยืมเงินมาซื้อเมล็ดพันธุ์ และปุ๋ยยาราคาแพง
ท้ายที่สุดแล้วก็ยังไม่มีหน่วยงานใดที่จะแก้ไขสถานการณ์ไฟป่าในชายแดนไทย-เมียนมาอย่างจริงจัง ประชาชนทั่วไปบริเวณชายแดนก็ยังต้องคอยเฝ้าระวังไฟป่าไม่ให้ลุกลามข้ามฝั่งมาทำลายป่าไม้ภายในประเทศ อีกทั้งมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบไปยังประชาชนทั่วประเทศแต่กลับไม่มีหน่วยงานไหนเข้าไปจัดการกับกลุ่มทุนที่เข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านและได้สิ่งเลวร้ายนี้ที่ย้อนกลับมาทำร้ายเราทุกคน ปัญหาเหล่านี้จึงดำเนินไปต่อและคงยังวนลูปซ้ำทุกปีแม้ว่าจะเจอต้นตอของปัญหาแล้วก็ตาม
อ้างอิงจาก
โฆษณา