2 พ.ค. 2023 เวลา 08:06 • ธุรกิจ

ธนาคารไหนใส่ใจ “แรงงาน” มากที่สุด

Fair Finance Thailand หรือแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย ได้จัดทำการประเมินนโยบายด้านต่าง ๆ ของสถาบันการเงินไทย 11 แห่ง ประกอบด้วยธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในไทย 8 แห่ง และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 3 แห่ง โดยใช้ข้อมูลที่ธนาคารเปิดเผยต่อสาธารณะ ณ 30 กันยายน 2565
โดยหัวข้อในการประเมินมีทั้งหมด 13 ด้าน ดังนี้ 1. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2. การทุจริตคอร์รัปชัน 3.ความเท่าเทียมทางเพศ 4. สุขภาพ 5. สิทธิมนุษยชน 6. สิทธิแรงงาน 7. ธรรมชาติ 8. ภาษี 9. อาวุธ 10. การคุ้มครองผู้บริโภค11. การขยายบริการทางการเงิน 12. การตอบแทน 13. ความโปร่งใสและความรับผิด
การเงินธนาคาร พามาดูว่าธนาคารไหนที่ได้คะแนนนโยบายในด้าน “สิทธิแรงงาน” มากที่สุด สำหรับผลการประเมินในปี พ.ศ. 2565 พบว่า “ธนาคารทหารไทยธนชาต” ได้คะแนนการประเมินธนาคารในหมวดสิทธิแรงงาน เป็นอันดับ 1
โดยธนาคารประกาศนโยบายด้านสิทธิแรงงานที่อ้างอิงคำประกาศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) เช่น มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีแนวทางการไม่เลือกปฏิบัติต่อพนักงานในเรื่อง เพศ อายุ สัญชาติ ไม่ใช้แรงงานเด็กและแรงงานผิดกฎหมาย และเปิดโอกาสให้พนักงานสามารถสมัครเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานได้โดยไม่มีการปิดกั้น
นอกจากนี้ธนาคารมีการประกาศนโยบายการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ ที่ไม่ให้การสนับสนุนทางการเงินแก่ลูกค้าที่มีการใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็กในการดำเนินธุรกิจ นอกจากนี้ ธนาคารมีการกำหนดให้ลูกค้าของธนาคารต้องมีการรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มและตระหนักอย่างมีประสิทธิผลในสิทธิการรวมกลุ่มต่อรอง รวมถึงมีนโยบายหรือแนวทางในการกำกับดูแลด้านสุขภาพและความปลอดภัยในที่ทำงาน ตลอดจนมีการรับประกันได้ว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
สำหรับธนาคารที่ได้คะแนนในหมวดสิทธิแรงงานมากที่สุดในลำดับถัดไป ได้แก่ อันดับ 2 ธนาคารกรุงไทย อันดับ 3 ธนาคารกสิกรไทย อันดับ 4 ธนาคารไทยพาณิชย์ อันดับ 5 ธนาคารกรุงศรีอยุธยา อันดับ 6 ธนาคารออมสิน อันดับ 7 ธนาคารกรุงเทพ อันดับ 8 ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย อันดับ 9 ธนาคารเกียรตินาคิน อันดับ 10 ธนาคารทิสโก้ และอันดับ 11 ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
โดยจากการประเมินธนาคารทหารไทยธนชาตได้คะแนนทั้งหมด 7 ข้อ จาก 16 ตามเกณฑ์หมวดนี้คาดหวังให้ธนาคารมีนโยบายด้านสิทธิแรงงานสอดคล้องกับคำประกาศขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน นอกจากนี้ เกณฑ์การประเมินยังครอบคลุมนโยบายด้านสิทธิแรงงานของบริษัทที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากธนาคารด้วย โดยใช้เกณฑ์การประเมิน ดังนี้
1.สถาบันการเงินเคารพในคำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work)
2.สถาบันการเงินอย่างน้อยมีการบูรณาการมาตรฐานแรงงานตามคำประกาศของ ILO ว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในที่ทำงาน (ILO Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) เข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและนโยบายปฏิบัติการขององค์กร
3.สถาบันการเงินมีขั้นตอนชัดเจนในการจัดการกับข้อร้องเรียนของพนักงานและแก้ปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยควรให้ความสำคัญกับการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน
4.บริษัทรับรองสิทธิในการรวมกลุ่มและตระหนักอย่างมีประสิทธิผลในสิทธิในการรวมกลุ่มต่อรอง
5.บริษัทไม่ยอมรับการใช้แรงงานบังคับทุกรูปแบบ
6.บริษัทไม่ยอมรับการใช้แรงงานเด็ก
7.บริษัทไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและในที่ทำงาน
8.บริษัทประกาศว่าจะจ้างงานอย่างเป็นธรรม (fair recruitment practices)
9.บริษัทจ่ายค่าแรงที่เลี้ยงชีพและครอบครัวได้ (living wage) แก่พนักงาน
10.บริษัทกำหนดเพดานเวลาทำงาน (สูงสุด 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และทำงานล่วงเวลาสูงสุด 12 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)
11.บริษัทมีนโยบายสุขภาพและความปลอดภัยที่รอบด้านครบถ้วน
12.บริษัทรับประกันได้ว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และมีสภาพการทำงานที่เท่าเทียมกับลูกจ้างคนอื่น ๆ
13.บริษัทมีระบบการบริหารจัดการที่ชัดเจนในการติดตาม และถ้าจำเป็นก็แก้ไข การปฏิบัติตามมาตรฐานแรงงานตามกฎหมายแรงงาน
14.บริษัทจัดตั้งกระบวนการรับและจัดการกับเรื่องร้องเรียนจากพนักงาน และเพื่อแก้ไขข้อพิพาทและการละเมิดต่างๆ โดยควรปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานที่เกี่ยวข้อง
15.บริษัทบูรณาการหลักเกณฑ์ด้านสิทธิแรงงานเข้าไปในนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างของบริษัท
16.บริษัทใส่หลักเกณฑ์ด้านสิทธิแรงงานเป็นเงื่อนไขในสัญญาที่ลงนามกับผู้รับเหมาช่วงและคู่ค้า
อ่านบทความเพิ่มเติมที่ : https://moneyandbanking.co.th/2023/36346/
โฆษณา