2 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อสหรัฐฯ อาจไม่มีเงินชำระหนี้วันที่ 1 มิ.ย. นี้

เวลาสำหรับรัฐบาลสหรัฐฯ ใกล้จะหมดลงทุกที จากที่ต้นปีคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะจะทะลุเพดาน จนอาจจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ ทำให้มีการเจรจาถึงเรื่องการขยายเพดานหนี้อีกครั้ง มิเช่นนั้นสหรัฐฯ อาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้เป็นครั้งแรกในรอบประวัติศาสตร์
2
ซึ่งในตอนนี้ คุณ Janet Yellen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ก็ได้ออกมาเตือนไว้ว่าอาจเกิดการผิดนัดชำระหนี้อย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 1 มิถุนายน หากไม่ทำอะไร ซึ่งก็เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว
เพดานหนี้สาธารณะคืออะไร?
เพดานหนี้ (Debt Ceiling) คือ จำนวนสูงสุดที่รัฐบาลสามารถกู้เงินเพื่อใช้จ่ายตามที่ตั้งงบประมาณไว้ได้ และเนื่องจากสหรัฐฯ ตั้งงบประมาณแบบขาดดุล นั่นหมายถึงว่ารัฐบาลจะใช้จ่ายมากกว่าภาษีและรายได้อื่นๆ ที่รัฐเก็บได้ รัฐบาลจึงต้องกู้เงินมหาศาลเพื่อมาชำระหนี้ต่างๆ เช่น เงินสำหรับโครงการช่วยเหลือทางสังคม และสวัสดิการสาธารณสุข, ดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะ และเงินเดือนสำหรับกองกำลังต่างๆ
7
สำหรับสหรัฐฯ การจำกัดเพดานหนี้ที่รัฐสามารถกู้ได้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ในปี 1917 แต่เนื่องจากว่า
4
ในแต่ละปี รัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายรับที่ได้มาจากการจัดเก็บรายได้จากภาษี และแหล่งรายได้อื่นๆ ทำให้เกิดงบประมาณขาดดุลมาโดยตลอดในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
5
ปกติเวลากู้เงินมาใช้จ่าย กระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ก็จะออกหลักทรัพย์ ตราสาร พันธบัตรสหรัฐฯ แล้วก็จ่ายดอกเบี้ยให้แก่ผู้ถือ หากหนี้ทะลุเพดาน และเหตุการณ์ยังยืดเยื้อ นั่นหมายถึงว่ากระทรวงการคลังก็จะออกหลักทรัพย์ไม่ได้อีกต่อไป ทำให้เม็ดเงินหลักที่ไหลเข้ารัฐบาลหยุดชะงักไป
2
เมื่อหนี้สหรัฐฯ พุ่งสูงเรื่อยๆ มาโดยตลอด ทำให้สภาคองเกรสก็เลยมักจะต้องดันเพดานหนี้สาธารณะขึ้นไปอยู่เสมอๆ เพื่อให้ทุกๆ อย่างดำเนินต่อไปได้
7
นับตั้งแต่ปี 1960 สภาคองเกรสดันเพดานหนี้สาธารณะไปทั้งหมด 78 ครั้ง ซึ่งในครั้งล่าสุดที่มีการปรับเพดานหนี้ ก็ผ่านการถกเถียงกันอย่างยาวนานในช่วงปลายปี 2021 จนในที่สุดสภาคองเกรสก็ได้ตกลงที่จะขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 31.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในตอนนี้ก็เป็นอีกครั้งที่มีเจรจาปรับเพดานหนี้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
8
📌 ทำไมหนี้สหรัฐฯ ถึงสูงขนาดนั้น?
1
ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมาเลยก็คือรัฐบาลใช้จ่ายมากกว่ารายได้ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา สหรัฐฯ ก็มีหนี้ในระดับหนึ่งมาโดยตลอด แต่หนี้เริ่มจะมาเพิ่มขึ้นมากในช่วงทศวรรษ 1980 ในสมัยประธานาธิบดี Ronald Reagan ที่ออกมาตรการลดภาษี แล้วพอรายได้จากภาษีไม่เพียงพอ รัฐบาลก็จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อมาใช้จ่าย
5
ต่อมาในช่วงทศวรรษ 1990 หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง ทำให้รัฐบาลสามารถตัดลดงบประมาณป้องกันประเทศลงได้ และเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวก็ทำให้เก็บภาษีได้มากขึ้น แต่แล้วในช่วงต้นทศวรรษ 2000 เมื่อฟองสบู่ดอทคอมแตก ทำให้เศรษฐกิจกลับไปถดถอย ประธานาธิบดี George W Bush ได้ลดภาษีไปสองครั้ง คือในปี 2001 และ 2003 ในขณะเดียวกันสหรัฐฯ ก็เพิ่มงบประมาณเกี่ยวกับการทหารในอิรักและอัฟกานิสถานมากเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดช่วงที่มีสงคราม
7
และเมื่อวิกฤติการณ์การเงินโลกในปี 2008 รัฐบาลก็ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากเพื่ออุ้มธนาคารที่มีปัญหา และต้องทุ่มงบสวัสดิการรัฐเพิ่มขึ้นเนื่องจากอัตราการว่างงานในขณะนั้นสูงถึง 10%
2
พอปี 2017 ที่อัตราการว่างงานกลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤติ ประธานาธิบดี Donald Trump ก็ได้ออกนโยบายลดภาษีครั้งใหญ่อีก ก็เลยทำให้ในขณะนั้นหนี้สหรัฐฯ พุ่งสูงไปถึง 7.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
6
จนกระทั่งวิกฤติโควิด-19 ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก และนโยบายเหล่านั้นก็ต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งรวมแล้วคิดเป็นเงินกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
📌 แล้วจะเกิดอะไรขึ้นหากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้?
ล่าสุด คุณ Janet Yellen ก็ได้ออกมาเตือนอีกครั้งว่าสหรัฐฯ อาจผิดนัดชำระหนี้อย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 1 มิถุนายน นี้ แต่จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้มาก่อน ดังนั้นก็คงไม่มีใครรู้ว่าถ้าเกิดขึ้นแล้วจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ จากที่คุณ Janet Yellen ได้เตือนเอาอย่างชัดเจนเสมอคือ
2
การละเมิดเพดานหนี้ หรือการผิดนัดชำระหนี้ จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ ชีวิตของคนอเมริกัน และเสถียรภาพทางการเงินของโลกอย่างไม่อาจแก้ไขได้…
3
เพราะนักลงทุนจะสูญเสียความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เศรษฐกิจยิ่งอ่อนแอลงอย่างรวดเร็ว เกิดการลดตำแหน่งงาน รัฐบาลสหรัฐฯ ก็ไม่สามารถให้บริการสาธารณะต่างๆ ต่อไปได้
3
📌 แล้วครั้งนี้จะมีการปรับเพดานหนี้เมื่อไหร่?
เมื่อวันที่ 26 เมษายน ทางฝั่งรีพลับลิกันก็ได้มีการผ่านร่างกฎหมายที่จะปรับเพดานหนี้ขึ้นอีก 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และบังคับให้รัฐบาลตัดรายจ่ายไป 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลอดทศวรรษต่อจากนี้ ซึ่งทางฝั่งเดโมแครตก็ยังคงปฏิเสธที่จะเจรจาในเรื่องนี้อยู่
ภาพที่เราเห็นตอนนี้ จึงอาจซ้ำรอยอดีตในปี 2011 ที่พรรครีพับลิกันดูเหมือนจะกดดันให้พรรคเดโมแครตตกลงที่จะลดการใช้จ่ายอยู่นาน จนในที่สุดกว่าที่จะมีการขยายเพดานหนี้ให้ทันเวลาเพื่อไม่ให้ทะลุเพดาน
2
ก็ก่อให้เกิดความสั่นคลอนทั้งกับนักลงทุน ผู้บริโภค และเจ้าของธุรกิจ ทำลายการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เปราะบางอยู่แล้วให้ชะงักงันไป
5
และแน่นอนว่าในครั้งนี้ คงไม่มีใครอยากให้อดีตซ้ำรอยเดิมอีก เพราะเราต่างรู้ว่าการปล่อยให้เศรษฐกิจชะงักงันอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ เข้าใกล้หายนะมากขึ้นทุกที…
2
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
เครดิตภาพ : Reuters
โฆษณา