3 พ.ค. 2023 เวลา 12:05

สันติมีจริงไหมทำงานกับคนต่างวัย? ปัญหาความไม่เข้าใจที่ต้องแก้ด้วยการสื่อสารที่ดี

หลังจากเรียนจบจากรั้วมหาวิทยาลัยและกำลังจะก้าวเข้าสู่โลกการทำงาน เราต่างก็เคยคิดและวาดฝันไว้ว่าอยากจะทำงานที่ตัวเองชอบในบริษัทดีๆ ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่น่ารักและมีความเข้าอกเข้าใจกัน แต่พอถึงเวลาต้องทำงานจริง สิ่งที่เราวาดฝันไว้อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะที่ทำงานนั้นมีคนหลากหลายความคิดและหลากหลายช่วงอายุ จนอาจเกิดสิ่งที่เรียกว่า “ช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap)” ขึ้นมา
เชื่อว่าบางคนพอได้ทำงานจริงก็อาจเกิดคำถามบางอย่างขึ้นมาในใจได้ ไม่ว่าจะเป็น “มีเพื่อนร่วมงานต่างวัย ควรทำความเข้าใจเขาเหล่านั้นอย่างไร” หรือ “ที่ทำงานมีกรอบความคิดบางอย่างที่เราไม่เข้าใจ เช่น ผู้ใหญ่อาบน้ำร้อนมาก่อนหรือเราเป็นเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ เราจะทำความเข้าใจกับแนวคิดเหล่านี้อย่างไรดี”
ก็ต้องบอกว่า “ช่องว่างระหว่างวัย” เป็นปัญหาที่พบเจอได้ทั่วไปในทุกองค์กร คนแต่ละวัยต่างก็มีความคิดและความต้องการไม่เหมือนกัน ซึ่งเราก็คงเคยเห็นหลายคนออกมาล้อเลียนคนทำงานรุ่นเก่าๆ ผ่านวลีต่างๆ เช่น “OK, Boomer” และ “ไดโนเสาร์เต่าล้านปี” หรือคนรุ่นเก่าๆ ก็มีความคิดด้านลบต่อเด็กรุ่นใหม่ เช่น “เด็กสมัยนี้ไม่อดทน”
แล้วเราจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกับคนวัยอื่นได้อย่างสันติ?
ทำความเข้าใจ “ความหลากหลายทางอายุ” ในที่ทำงาน
1
รู้สึกหรือไม่ว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ที่ทำงานของเราเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น?
จากข้อมูลของ OECD พบว่า คนทำงานมีความหลากหลายทางอายุ (Age Diversity) เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายๆ ปัจจัย เช่น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ความก้าวหน้าทางสังคม และรูปแบบชีวิตการทำงานที่เปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ส่งผลให้หลายคนเริ่มชะลอการเกษียณออกไป เช่น จาก 60 ปี เป็น 65 ปี
ในท้ายที่สุดแล้ว คนในที่ทำงานจึงมีแนวโน้มที่จะมีความหลากหลายทางอายุมากขึ้น และแน่นอนว่ามันจะส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่า ช่องว่างระหว่างวัยที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งก็อาจมาจากการที่ในที่ทำงานของเรามีความหลากหลายทางอายุสูงขึ้น
แต่เชื่อไหมว่านอกจากจะทำให้เกิดข้อเสียอย่าง “ช่องว่างระหว่างวัย” แล้ว ความหลากหลายทางอายุในที่ทำงานยังมีประโยชน์อื่นๆ อยู่ด้วย เช่น
[ ] ปรับตัวได้เก่งขึ้น : ความหลากหลายทางอายุจะช่วยฝึกให้เราปรับตัวได้ดีขึ้น เพราะเราต้องพบปะกับผู้คนที่มีความคิดที่แตกต่างกัน ทำให้เราพัฒนาทักษะด้านความยืดหยุ่นไปในตัว
[ ] มีความคิดเห็นที่หลากหลาย : คนเราต่างคนต่างความคิด ถึงแม้ว่าจะพูดถึงประเด็นเดียวกันอยู่ แต่วิธีการคิดและวิธีการตัดสินใจก็ต่างกัน ซึ่งการมีความคิดเห็นที่หลากหลายนี้จะทำให้เราได้รับความคิดใหม่ๆ ที่กว้างขวางขึ้น
[ ] เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ : คนที่ทำงานมาก่อนจะมีประสบการณ์ในการทำงานแบบหนึ่ง เด็กรุ่นใหม่ก็มีวิธีการทำงานอีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อทั้งฝ่ายมาทำงานร่วมกัน ก็จะได้เรียนรู้และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ตัวเองอาจไม่เคยเจอมาก่อน
ดังนั้น หากเราเข้าใจและใช้ “ความหลากหลาย” ได้อย่างถูกวิธี เราก็จะสามารถเปลี่ยนช่องว่างระหว่างวัย เป็นพื้นที่ในการเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตต่อไปได้ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้วมันจะส่งผลดีต่อทั้งตัวเราเองและองค์กร
เริ่มปรับตัวเข้าหาคนต่างวัยด้วยทักษะ “การสื่อสาร”
เมื่อโลกการทำงานของเรามีความแตกต่างหลากหลายเพิ่มขึ้น “การสื่อสาร” จึงเป็นทักษะที่สำคัญต่อสังคมแห่งการทำงานเป็นอย่างมาก มาดูกันว่าเราจะสื่อสารกับคนต่างวัยอย่างไรให้อยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข
1. เคารพค่านิยมของคนอื่น
คนแต่ละรุ่นจะมีค่านิยมในหลายๆ เรื่องไม่เหมือนกัน ตั้งแต่เรื่องการทำงาน การสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ ไปจนถึงเรื่องไลฟ์สไตล์ต่างๆ เช่น เรื่องการย้ายงานบ่อย ผู้ใหญ่บางคนจะมองว่าไม่ใช่เรื่องดี แต่คนรุ่นใหม่จะมองว่าเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆ ให้กับตัวเอง
ซึ่งปัญหานี้ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในครอบครัวเช่นกัน เช่น เรื่องการอยู่ก่อนแต่ง ผู้ใหญ่บางคนจะมองว่าการอยู่ด้วยกันก่อนแต่งไม่ใช่เรื่องที่ยอมรับได้ แต่คนรุ่นใหม่จะมองว่าเป็นเรื่องปกติ
ถึงแม้ว่าเราจะมีความเห็นไม่ตรงกัน แต่ถ้าทั้งสองฝ่ายพยายามทำความเข้าใจกับความคิดเห็นของฝ่ายตรงข้าม ก็จะช่วยให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยปราศจากการล่วงล้ำความคิดเห็นและค่านิยมของผู้อื่น
1
2. ระวังการพูดเรื่องที่มีความละเอียดอ่อน
การหลีกเลี่ยงการพูดถึงเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนเมื่อต้องสื่อสารกับคนต่างช่วงวัย โดยเฉพาะกับคนแปลกหน้าหรือคนที่ไม่ค่อยสนิทด้วยก็ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดี เช่น เรื่องการเมืองและศาสนา เพราะต่างคนก็ต่างเจอกับเรื่องราวที่แตกต่างกันมา การมองเรื่องเหล่านี้ของคนแต่ละรุ่นจึงไม่เหมือนกัน
หากคิดว่าเรื่องใดที่พูดแล้วจะทำให้เราหรืออีกฝ่ายอารมณ์ขึ้นได้ง่าย ก็ควรหลีกเลี่ยงการเปิดประเด็นพูดเรื่องเหล่านั้นขึ้นมา เพราะสุดท้ายแล้วเราอาจมองหน้ากันไม่ติดและทำให้ทำงานร่วมกันลำบากขึ้นในอนาคต
3. ปัญญามาพร้อมอายุ VS ความสามารถในการปรับตัวของคนรุ่นใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนที่ทำงานมาก่อนย่อมมีประสบการณ์ที่มีคุณค่าหลายอย่างที่เด็กรุ่นใหม่อาจไม่เคยเจอมาก่อน เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นใหม่จึงควรรับฟังความคิดเห็นจากมุมมองของคนที่มีประสบการณ์มาก่อนบ้าง และในทางกลับกัน ผู้ใหญ่ก็สามารถเรียนรู้การปรับตัวและการแก้ปัญหาในแบบฉบับของเด็กรุ่นใหม่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นอาจมีความเห็นหรือวิธีในการแก้ไขปัญหาที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน
“อย่าคิดว่าตัวเองรู้ไปเสียทุกเรื่อง” คำนี้เป็นคำที่คนทุกรุ่นควรตระหนักและจำไว้ให้ขึ้นใจ เพราะความรู้บางอย่างก็มีวันเก่าได้ เราจึงต้องเรียนรู้จากคนต่างวัยคนอื่นๆ ไว้บ้าง
ช่องว่างระหว่างวัยเป็นสิ่งที่พบเจอได้ในทุกองค์กร เพราะแต่ละคนมีประสบการณ์การที่แตกต่างกัน ทำให้มีความคิดที่แตกต่างกันออกไป สิ่งสำคัญคือเราต้องรู้จักปรับตัวให้เข้ากับความแตกต่างเหล่านี้ แล้วเราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยไม่มีใครรุกรานใคร รวมทั้งยังช่วยเพิ่มโอกาสในการพัฒนาความคิดและความสามารถในการทำงานของเราให้กว้างขวางขึ้นอีกด้วย
1
อ้างอิง
- Does the generation gap really cause disconnect in the workplace? : Juliane Sterzl, People Management - https://bit.ly/43K7Zqe
- Pros and Cons of Age Diversity in the Workplace : Chitra Reddy, Wisestep - https://bit.ly/40mQbOF
- 8 Communication Skills to Overcome the Generation Gap : Elizabeth Andal, Lifehack - https://bit.ly/43EXPXK
#worklife
#generationgap
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา