Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
4 พ.ค. 2023 เวลา 02:11 • ประวัติศาสตร์
“สงครามกระแสไฟฟ้า (War of Currents)” การขับเคี่ยวกันระหว่างสองอัจฉริยะ
“โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)” ทุกคนรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี
เขาคือนักประดิษฐ์อัจฉริยะชาวอเมริกัน ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงจากการพัฒนาหลอดไฟ และยังมีผลงานประดิษฐ์ที่ได้รับการจดทะเบียนอีกกว่า 1,000 ชิ้น
แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับด้านมืดของเอดิสัน หากแต่ประวัติศาสตร์ไม่ค่อยกล่าวถึงนัก
โทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison)
เอดิสันนั้นมักจะพยายามพิสูจน์ว่าแนวคิดของตนนั้นถูกต้อง และโจมตีนักประดิษฐ์คนอื่นๆ โดยรายที่โดนเพ่งเล็งจากเอดิสันมากที่สุด ก็คือ “นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla)”
ในบทความนี้ เราจะมาดูถึงด้านมืดของเอดิสันและ “สงครามกระแสไฟฟ้า (War of Currents)” ซึ่งเป็นการขับเคี่ยวระหว่างเอดิสันและเทสลา
ในปีค.ศ.1884 (พ.ศ.2427) เทสลาได้เดินทางมานิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา และได้ทำงานเป็นลูกจ้างของเอดิสัน
นิโคลา เทสลา (Nikola Tesla)
ในเวลานั้น เทสลาและเอดิสันยังเป็นมิตรกันอยู่ โดยขณะนั้น เอดิสันมีอายุ 37 ปี และเป็นนักประดิษฐ์ที่ถือว่าประสบความสำเร็จ ฐานะมั่นคง
หน้าที่ของเทสลา ก็คือการดูแลอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องทดลองของเอดิสัน ซ่อมแซมเครื่องจักร และออกแบบเครื่องจักรใหม่ๆ
ย้อนกลับไปในปีค.ศ.1879 (พ.ศ.2422) เอดิสันสามารถพัฒนาหลอดไส้ร้อนแบบธรรมดาหลอดแรกได้สำเร็จ ซึ่งหลอดไฟนี้สามารถติดไฟได้นานกว่า 14.5 ชั่วโมง
เมื่อผู้คนได้ยินเรื่องราวของหลอดไฟนี้ ต่างก็กรูกันมายังห้องทดลองของเอดิสันเพื่อชมหลอดไฟนี้ โดยเอดิสันได้จัดการทดลองให้สาธารณชนรับชมในห้องทดลองของตนเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม ค.ศ.1879 (พ.ศ.2422)
ภายหลังการเปิดแสดง เอดิสันก็เห็นอนาคตอันรุ่งเรืองของตน และได้จัดการสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำเพื่อผลิตไฟฟ้ากระแสตรง และมั่นใจว่าไฟฟ้ากระแสตรงจะสร้างผลกำไรมหาศาลให้ตน
แต่ปัญหาของไฟฟ้ากระแสตรง ก็คือการเก็บพลังงานหลังจากปล่อยกระแสไฟฟ้าออกไปในระยะทางยาวไกลนั้น ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ซึ่งเอดิสันก็ทราบถึงปัญหาข้อนี้ดี
เมื่อทำการส่งไฟฟ้ากระแสตรงออกไปได้เพียงแค่กิโลเมตรกว่าๆ พลังงานไฟฟ้าก็ค่อยๆ อ่อนลง อีกทั้งการจะเพิ่มหรือลดกระแสไฟฟ้าก็ทำไม่ได้ ทำให้ไฟฟ้ากระแสตรงค่อนข้างจะอันตราย ดังนั้นหากต้องการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงในบ้าน เครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสตรงก็จะปล่อยพลังงานไฟฟ้าเพียงอ่อนๆ เท่านั้น ซึ่งปัญหานี้เอดิสันก็ต้องรีบหาทางแก้ไข
1
เอดิสันได้หันไปหาเทสลา และคิดว่าเทสลานั้นน่าจะช่วยได้
เมื่อพิจารณาจากคุณสมบัติของเทสลาที่เชี่ยวชาญเรื่องตัวเลขและการคำนวณ ก็ดูเหมือนเทสลาจะเหมาะที่สุดสำหรับงานนี้ โดยเอดิสันได้สัญญาว่าหากเทสลาแก้ปัญหานี้ได้ ตนจะมอบเงินพิเศษให้เทสลาเป็นจำนวน 50,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 1.7 ล้านบาท)
เทสลาก็ลงมือทำงานทันที โดยเขาได้ปรับปรุงและเสนอให้ใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ โดยได้ลองทดลองและพบว่าไฟฟ้ากระแสสลับนั้นมีประสิทธิภาพมากกว่าไฟฟ้ากระแสตรง สามารถปรับระดับความแรงของกระแสไฟฟ้า และยังสามารถส่งพลังงานไฟฟ้าเป็นระยะทางไกลๆ ได้
แต่ปัญหาก็คือ ไฟฟ้ากระแสตรงนั้นกลายเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของเอดิสันไปแล้ว สิทธิบัตรการประดิษฐ์หลายชิ้นของเอดิสันก็เกี่ยวข้องกับไฟฟ้ากระแสตรง และทำเงินให้เอดิสันอีกเป็นจำนวนมาก
หากเลิกการใช้ไฟฟ้ากระแสตรงและเปลี่ยนไปใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ เอดิสันต้องเสียผลประโยชน์มหาศาล
เมื่อเป็นอย่างนี้ เอดิสันจึงปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน 50,000 ดอลลาร์ที่สัญญาไว้แก่เทสลา และไม่สนับสนุนแนวคิดของเทสลา รวมทั้งยังกล่าวถึงงานของเทสลาว่า
“ยอดเยี่ยมแต่เอาไปใช้จริงไม่ได้”
1
เทสลานั้นก็ไม่พอใจกับปฏิกิริยาของเอดิสัน และตัดสินใจลาออก ไม่ร่วมงานกับเอดิสันอีกต่อไป ไปที่อื่นที่ตนสามารถเติบโตได้
ในปีค.ศ.1885 (พ.ศ.2428) “จอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse)” นักอุตสาหกรรมและผู้ก่อตั้งบริษัท “Westinghouse Electric & Manufacturing Company” ชื่นชอบแนวคิดของเทสลาเรื่องไฟฟ้ากระแสสลับ และให้การสนับสนุนเทสลา
2
เอดิสันทราบดีว่าเวสติงเฮาส์นั้นเป็นคนทะเยอทะยานและมีเงินทุนมหาศาล สามารถสนับสนุนเทสลาได้เต็มที่ และหากปล่อยไว้อย่างนี้ ย่อมไม่ดีแน่
1
และนี่ก็คือจุดเริ่มต้นของ “สงครามกระแสไฟฟ้า (War of Currents)”
2
จอร์จ เวสติงเฮาส์ (George Westinghouse)
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางด้านการเงินหรือเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม เอดิสันเชื่อว่าไฟฟ้ากระแสสลับนั้นเป็นอันตราย และหาทางที่จะพิสูจน์ให้สาธารณชนเชื่อเช่นนั้นเช่นกัน
ในปีค.ศ.1888 (พ.ศ.2431) เอดิสันได้ทำถึงขั้นฆ่าสุนัขโดยใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ แสดงให้สาธารณชนเห็นว่าไฟฟ้ากระแสสลับนั้นอันตราย
นอกจากนั้น เอดิสันยังฆ่าวัวโดยใช้ไฟฟ้า และมีข่าวลือว่าเอดิสันถึงกับฆ่าช้างโดยใช้ไฟฟ้าเช่นกัน หากแต่อันที่จริง ผู้ที่ฆ่าช้างคือลูกน้องของเอดิสัน
แต่โดยรวมแล้ว ทีมงานของเอดิสันได้ฆ่าสุนัขไป 44 ตัว วัว 6 ตัว ม้าอีก 2 ตัว ไม่นับรวมช้างอีกตัว
1
นอกจากนั้น วิศวกรรายหนึ่งที่ชื่อ “ฮาโรลด์ บราวน์ (Harold Brown)” ผู้เป็นเพื่อนกับเอดิสัน ได้รับการว่าจ้างจากเอดิสันให้ทำการสาธิตต่อสาธารณชน และบราวน์ก็ได้ทำการจ้างให้เด็กๆ ไปจับสุนัขจรจัดมา และนำมาให้ตนเพื่อที่จะได้ทำการสาธิต
ฮาโรลด์ บราวน์ (Harold Brown)
เทสลาก็ไม่นิ่งเฉย และได้โต้ตอบด้วยการจัดแสดงในห้องทดลองของตนเองเช่นกัน โดยเทสลาได้กล่าวถึงความหวาดกลัวไฟฟ้ากระแสสลับ และแสดงให้สาธารณชนเห็นว่าไฟฟ้ากระแสสลับก็ปลอดภัยได้
ในเวลาต่อมา เรือนจำได้ติดต่อหาเอดิสันให้ช่วยหาวิธีการประหารนอกเหนือจากการแขวนคอ และเอดิสันก็มองเห็นช่องทางในการดิสเครดิตเทสลาอีกแล้ว
เอดิสันสั่งให้ทีมงานสร้างเก้าอี้ไฟฟ้า และแสดงให้ประชาชนเห็นว่าไฟฟ้ากระแสสลับนั้นร้ายแรงเพียงใด
ในปีค.ศ.1890 (พ.ศ.2433) เอดิสันได้เชิญสื่อมวลชนเข้าชมการประหารนักโทษด้วยเก้าอี้ไฟฟ้ารายแรก หากแต่ผลที่ได้กลับเป็นสิ่งที่ไม่ได้คาดฝัน เมื่อนักโทษนั้นไม่เสียชีวิตในทันที ต้องทำการเปิดสวิทช์ไฟฟ้าอีกหลายครั้งและเวลาอีกหลายนาทีกว่านักโทษจะเสียชีวิต
1
จากเหตุการณ์นี้ ทำให้ภาพลักษณ์ของเอดิสันติดลบ แทนที่จะเป็นเทสลา
1
สงครามครั้งนี้จบลงเมื่อเทสลาและเวสติงเฮาส์ชนะการประมูลเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดไฟในงานนิทรรศการโลกที่จัดขึ้นที่ชิคาโกในปีค.ศ.1893 (พ.ศ.2436) อีกทั้งยังได้เซ็นสัญญาในการเป็นผู้จัดการไฟฟ้าในอีกหลายโครงการ
ผู้คนเริ่มเห็นถึงศักยภาพในไฟฟ้ากระแสสลับของเทสลา โดยในปีค.ศ.1896 (พ.ศ.2439) แม้แต่ “General Electric” บริษัทที่เอดิสันมีผลประโยชน์อยู่ด้วย ก็เปลี่ยนมาใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ
1
จะเห็นได้ว่าสงครามกระแสไฟฟ้าเป็นการแสดงถึงด้านมืดของเอดิสัน ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์จำนวนมากเพื่อจะดิสเครดิตเทสลา และการจ้องจะโจมตีเทสลาอยู่เนืองๆ
1
อันที่จริง ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับต่างก็มีประโยชน์ทั้งคู่ หากว่าเอดิสันเปิดใจยอมรับในข้อนี้ ก็อาจจะเห็นอีกด้านหนึ่ง
2
แต่ก็ต้องยอมรับว่าในประวัติศาสตร์นั้น ชื่อเสียงของเอดิสันนั้นโด่งดังเป็นวงกว้างกว่าเทสลา ผู้คนถูกปลูกฝังมาว่าเอดิสันนั้นเป็นอัจฉริยะ ถึงแม้ว่างานประดิษฐ์หลายๆ ชิ้นจะเป็นผลงานของลูกน้องเอดิสัน ไม่ใช่ตัวเอดิสันเองก็ตาม ส่วนเทสลานั้น กลับไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก
2
และบางคนก็อาจจะมองว่าไม่ค่อยยุติธรรมนัก เนื่องจากเทสลาถูกมองว่าเป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ไม่ได้โดดเด่นอะไร ขณะที่เสียชีวิต ก็แทบไม่เหลืออะไร เป็นเพียงนักวิทยาศาสตร์จนๆ คนหนึ่ง ในขณะที่เอดิสันนั้น เมื่อเสียชีวิต ฐานะของเขาเข้าขั้นเศรษฐี
แต่ท้ายที่สุดแล้ว ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าบุคคลทั้งคู่เป็นผู้ปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และได้เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล
References:
https://medium.com/lessons-from-history/the-war-of-currents-thomas-edisons-rivalry-with-nikola-tesla-76ab872e35da
https://meroli.web.cern.ch/blog_tesla_vs_edison.html
https://www.history.com/news/what-was-the-war-of-the-currents
https://www.historyextra.com/period/victorian/edison-westinghouse-tesla-real-history-behind-the-current-war-film/
ประวัติศาสตร์
เรื่องรอบโลก
5 บันทึก
32
3
8
5
32
3
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย