4 พ.ค. 2023 เวลา 00:26 • ท่องเที่ยว
พิพิธบางลำพู

ขุมทรัพย์บางลำพู

ช่วงนี้มีวันหยุดยาวติดกันหลายวัน
หลายคนวางแผนเดินทางไปเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
หลายคนเดินทางกลับบ้านไปเยี่ยมญาติ
หลายคนอยากพักผ่อนอยู่เฉยๆ ที่บ้าน
ในขณะที่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร
วันนี้ผมมีสถานที่น่าสนใจมาแนะนำสำหรับใครที่ไม่รู้ว่าจะไปไหนและเบื่อกับการเดินเที่ยวในห้าง
สถานทีนี้มีชื่อว่า “พิพิธบางลำพู”
พิพิธบางลำพู เปิดให้บริการตั้งแต่วันอังคาร - วันอาทิตย์ ปิดบริการวันจันทร์ ตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ ติดกับป้อมพระสุเมรุ ริมคลองบางลำพูซึ่งเป็นคลองเส้นเดียวกับคลองโอ่งอ่างที่ใครเป็นสายเที่ยวแนวสตรีทอาร์ทจะรู้จักคลองนี้กันดี
1
พิพิธบางลำพู เป็นสถานที่ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานมาตั้งแต่ตอนสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ สมัยรัชกาลที่ 1 ด้วยเพราะเป็นแหล่งพำนักอาศัยของเจ้านาย ขุนนาง ข้าราชบริพาร และประชาชนหลากหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย มอญ จีน ลาว เขมร มลายู ทำให้บริเวณนี้เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อ จนกลายเป็นชุมชนบางลำพูขึ้นมา ซึ่งย่านนี้ก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและยุคสมัย ซึ่งตัวอาคารที่มีเอกลักษณ์และความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งนี้ก็ได้ถูกขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอาคารจากกรมศิลปากรเมื่อปี 2543
พิพิธบางลำพู แต่เดิมเป็น โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ก่อตั้งขึ้นในปี 2475 สถาบันการศึกษาในสังกัดกรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ เป็นสถานที่สอนวิชาการพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นักเรียนที่เข้าเรียนมีน้อยลง ประกอบกับขาดแคลนอุปกรณ์การพิมพ์ จึงได้ยุติการเรียนการสอนลงในปี 2489
1
ภายหลังได้ยุบการเรียนการสอน โรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวชก็ได้ถูกโอนเข้าสังกัดคุรุสภา และได้กลายเป็น โรงพิมพ์คุรุสภาพระสุเมรุ โรงพิมพ์แห่งนี้เป็นโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ โดยใช้ระบบการพิมพ์แบบ Letterpress หมวดงานเรียงตัวพิมพ์ หมวดทำเล่มหนังสือ และอุปกรณ์การพิมพ์ในประเทศไทยจำนวนมาก
1
ในปี 2555 กรมธนารักษ์ได้พัฒนาและปรับปรุงแปลงอาคารโรงพิมพ์คุรุสภามาเป็น พิพิธบางลำพู เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตภูมิปัญญาของชุมชนบางลำพู
จะสังเกตได้ว่าทีนี่ใช้คำว่า “พิพิธ” แทนคำว่า “พิพิธภัณฑ์” ที่เรามักเคยได้ยินทั่วไป
นั่นเป็นเพราะว่า “พิพิธภัณฑ์” จะให้ความหมายถึง สถานที่เก็บรวบรวมจัดแสดงสิ่งของต่างๆ
แต่คำว่า “พิพิธ” จะหมายถึง มากมายนานาชนิด ด้วยเหตุนี้ “พิพิธบางลำพู” จึงไม่ได้เน้นการนำสิ่งของต่างๆ มาจัดแสดง แต่จะเป็นสถานที่ให้ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ การศึกษา รูปแบบการพิมพ์ไทย สะท้อนให้เห็นเรื่องราวของย่านบำลำพูตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบางลำพูที่ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาศึกษา
ภายใน “พิพิธบางลำพู” จะมีทั้งหมด 2 ชั้นแบ่งเป็นตัวอาคารหลังใหม่กับอาคารไม้หลังเก่า มีแหล่งเรียนรู้ให้เราได้ศึกษาหลายด้าน
เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์สมัยรัชกาลที่ 1 ที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นมา โดยพระองค์ทรงให้ความสำคัญกับการป้องกันพระนครเป็นอย่างยิ่ง จึงได้สร้างประตูเมืองเพื่อป้องกันและเป็นการควบคุมไพร่พล ผ่านการเข้าการออก โดยพระนครมีประตูเข้า-ออกถึง 63 ประตู แบ่งเป็นประตูใหญ่ 16 ประตู และประตูเล็กหรือช่องกุด 47 ประตู ซึ่งชุมชนบางลำพูก็เป็นส่วนหนึ่งในบริเวณนี้
ขึ้นมาที่ชั้น 2 เราจะได้เรียนรู้ประวัติการพิมพ์ของประเทศไทย การพิมพ์แบบ Letterpress ที่เป็นการพิมพ์แบบตัวเรียง เป็นการพิมพ์เก่าแก่ที่สอนอยู่ในโรงเรียนช่างพิมพ์วัดสังเวช ซึ่งการพิมพ์เกิดจากการเรียงแท่นพิมพ์ตัวหนังสือให้เป็นประโยค และกดลงไปบนกระดาษ เป็นการพิมพ์ในสมัยแรกเริ่มในประเทศไทย
1
ห้องต่อมาเป็นความรู้ทางด้านเหรียญกษาปณ์ ตั้งแต่ประวัติความเป็นมาตลอดจนกระบวนการผลิตเหรียญ วิธีการเก็บรักษา ทำให้เราได้รู้ว่าทำไมสันขอบของเหรียญกษาปณ์ที่มีลวดลาย การใช้เหรียญกษาปณ์ในการชำระหนี้ทางกฎหมายมีรูปแบบอย่างไร รวมไปถึงการวางลายบนเหรียญกษาปณ์ไทย เช่น
เหรียญกษาปณ์หมุนเวียนจะจัดวางลวดลายแบบ American turning ที่วางลวดลายด้านหน้ากับด้านหลังเหรียญหันด้านตรงข้ามกัน เมื่อจะดูลวดลายด้านหลังจะต้องพลิกเหรียญในแนวดิ่ง
ส่วนเหรียญกษาปณ์ที่ระลึกจะจัดวางลวดลายแบบ European turning ที่วางลวดลายด้านหน้ากับด้านหลังหันไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อจะดูลวดลายด้านหลังจะต้องพลิกเหรียญในแนวนอน ซึ่งวิธีดูลวดลายเหล่านี้ผมไม่เคยได้สังเกตมาก่อนแม้ว่าจะหยิบใช้เหรียญอยู่ตลอดทุกวัน
ที่ด้านหลังของห้องทางพิพิธบางลำพูได้จัดแสดงตู้เกม ตู้กาชาปอง ตู้ซื้อบัตรรถไฟฟ้า ที่ต้องใช้เหรียญกษาปณ์ในการใช้งาน เพื่อสื่อให้เห็นถึงความสำคัญของเหรียญกษาปณ์ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา
หลังจากนั้นก็มาถึงส่วนที่เป็นไฮไลต์สำคัญของพิพิธบางลำพู นั่นคือ “ขุมทรัพย์บางลำพู”
ที่จะบอกเล่าวิถีชีวิต การใช้ชีวิต ศิลปวัฒนธรรมของคนในชุมชนบางลำพู
ตั้งแต่ ละครร้องแม่บุนนาค, รถราง, ห้าง ต. เง๊กชวน, ร้านกาแฟนันทิยา, ร้านแก้วฟ้า, ร้านธงวันชาติ, ห้างหุ้นส่วนจำกัด ตั้งฮั่วเส็ง, ประณีตศิลป์ เครื่องถมไทย, ข้าวต้มน้ำวุ้น, บ้านช่างทอง, บ้านปักชุดละคร, ดุริยประณีต, ลานทอง, ช่างทองหลวง รวมไปถึง ต้นลำพู ต้นสุดท้ายที่ตอนกลางคืนเคยวาววับประดับด้วยแสงหิ่งห้อยแต่ก็ได้ตายลงเมื่อคราวน้ำท่วมกรุงเทพฯ ปี 54
เหล่านี้คือขุมทรัพย์บางลำพู ที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งหลายอย่างก็ไม่สามารถพบเจอได้แล้ว เป็นสิ่งล้ำค่าที่เราสามารถมารำลึกได้ในพิพิธบางลำพู
1
เมื่อเราเดินชมจนทั่วแล้ว ตรงทางออกของชั้น 2 จะมีองค์ “พระพุทธรูปบางลำพูประชานาถ” ประดิษฐานอยู่ ซึ่งชาวบางลำพูได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณสังวร ที่ทรงประทานพระพุทธรูปคันธาราฐ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุภายในพระพุทธรูปตรงตำแหน่งพระอุระ (อก) ข้างซ้าย พระพุทธรูปบางลำพูประชานาถเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจและกลายเป็นที่พึ่งของชาวชุมชนบางลำพูตลอดมา
กล่าวโดยสรุป พิพิธบางลำพู คือมรดกล้ำค่าที่ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์ที่เราไม่สามารถพบเห็นได้แล้วในปัจจุบัน มันคือมรดกแห่งความทรงจำที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา ซึ่งเราควรหวนแหนและอนุรักษ์ไว้ให้นานเท่านาน
1
และหากใครยังไม่รู้ว่าวันหยุดยาวนี้จะทำอะไร หรือไปไหนดี ผมอยากให้ลองแวะไปที่พิพิธบางลำพู แล้วจะรู้สึกเพลิดเพลินไปกับการเรียนรู้มรดกอันล้ำค่ากันครับ
โฆษณา