4 พ.ค. 2023 เวลา 06:31 • หนังสือ

EP.2 Part.2 : “ the four ”

ตอนนี้จะเล่าถึงหนังสือ “ the four ” กับพ่อมดสองตัวที่เหลือ คือ facebook กับ google ครับว่ามีความสามารถในการทำลายล้างคู่แข่งอย่างไรบ้าง และมีความเก่งกาจอย่างไรถึงก้าวขึ้นมาเป็นบริษัทไอทีแถวหน้าของโลกปัจจุบันเราครับ
ตอนนี้มาเล่ากันต่อกับพ่อมดตนที่ 3 นั้นคือ Facebook อย่างที่ทราบครับ เป็นโซเชียลแพลตฟอร์มของคนโลกยุคปัจจุบัน มีคนใช้กว่าครึ่งโลกและใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงบนโลกโซเชียลครับ (ข้อมูลจากตอนตีพิมพ์ปี ค.ศ. 2017) และมีมูลค่าเกือบครึ่งล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ (ขอย้ำครับ 500,000,000,000 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ) เห็นเลขศูนย์จนตาลายครับ
Facebook ใช้ประโยชน์จากการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ในการสร้างเครือข่าย จากความต้องการเสพข้อมูลความเป็นไปของคนรอบข้าง (แปลเป็นศัพท์ง่ายๆ ก็คือ เีอกนั่นเอง) ทำให้เครือข่ายของ facebook เติบโตอย่างรวดเร็ว อยากรู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งส่วนใหญ่ คนที่โพสต์หรือแบ่งบันเรื่องราวบนโซเชียลก็จะแบ่งปันเฉพาะด้านที่ดีๆ
ซึ่งทำให้คนทั่วไปอยากทำหรืออยากมีตามเพื่อนหรือคนรู้จักนั้นบ้าง และก็เป็นผู้ใช้ facebook นั่นเองที่เป็นผู้สร้างคอนเทนต์ (content) เอง โดยที่ facebook ไม่ต้องเสียเงินในการสร้างคอนเทนต์ใดๆ
และแน่นอนที่ facebook มีระบบ AI (artificial intelligent ปัญญาประดิษฐ์) ที่ใช้ในการประมวลข้อมูลต่างๆ จากที่เราโพสต์ข้อความหรือรูปภาพบนแพลตฟอร์ม เพื่อใช้สำหรับประมวลความต้องการ ณ เวลานั้น นั่นทำให้การโฆษณาบน facebook ได้ผลดีตรงเป้าหมายกว่า การสาดโฆษณาบนสื่อแบบเดิม หรือกระทั่งสื่อในปัจจุบันจากความที่มีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และ AI ที่ฉลาดหลักแหลม
นี่เองที่ทำให้พนักงานระดับหัวกะทิทั้งหลายจากบริษัทอื่นหลั่งไหลมาทำงานที่ facebook นั่นแปลว่าบริษัทอื่นก็ต้องสูญเสียพนักงานหัวกะทิไปเช่นกัน
สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ facebook จะรู้ถึงตรวจตนที่แท้ของเรามากกว่าคนรอบข้างเรา ไม่ว่าจะ พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อนหรือแฟน ก็ตาม เพราะเราแสดงทุกอย่างบน facebook นอกเหนือจากรูปร่างหน้าตา วันเกิด ซึ่งเป็นข้อมูลที่หาได้ทั่วไป
ถึงแม้ว่า facebook เป็นแพลตฟอร์มสำหรับโซเชียล แต่ก็มีข่าวสารหรือข้อมูลต่างๆ ที่เผยแพร่มากมาย แต่ facebook เองก็ยืนยันว่าตนเองไม่ได้เป็นองค์กรสื่อ เป็นเพียงแพลตฟอร์มโซเชียล ที่ไม่ต้องมีความรับผิดชอบต่อข้อมูลใดๆ ก็ตามที่เผยแพร่บนแพลตฟอร์ม เพราะถ้าต้องมีการตรวจสอบข้อมูลก่อนการเผยแพร่ ก็จะเป็นต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ได้กำไรเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย (ยิ่งข้อมูลมีการตัดแต่งให้ไม่จริงหรือเกินจริงคนย่ิงสนใจ ยิ่งคลิกมากขึ้น กำไรก็มากขึ้นตาม : Keyman)
แต่หลังจากโดนกล่าวหาเยอะขึ้น โฆษกของ facebook จึงออกมาบอกว่า “ เราไม่ได้มีหน้าที่เป็นผู้ตัดสินความจริง ” (หน้า 146) ทำให้ facebook นำซอฟแวร์มาใช้ในการช่วยตรวจสอบมากขึ้น ก็จะเห็นว่ายังไม่ใช้คนอยู่ดี เนื่องจากต้นทุนสูงกว่า
มาถึงพ่อมดตนที่ 4 คือ Google โดย google ถูกจัดให้เป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือมากที่สุดในโลก ปัจจุบันถูกเปรียบศาสนาๆ หนึ่ง (ในอดีตเราจะมีคำพูดว่ามีแต่เพราะเจ้าเท่านั้นที่รู้ : Keyman) แต่ปัจจุบันเราสามารถที่จะถาม google ได้ทุกเรื่องครับ แต่จะถูกหรือผิดก็ขึ้นกับอัลกอริทึมของ google ครับ 555
Google เป็น เสิร์ชเอ็นจิ้น (search engine) ที่คนใช้มากที่สุดในโลกราวๆ 3,500 ล้านครั้งต่อวัน ย้ำนะครับ 3,500 ล้านครั้งต่อวัน และบนหน้าเว็บไซด์ที่เรียบง่าย ซี่งผมเชื่อว่าผู้อ่านน่าเคยใช้บริการ google กัน จะมีโฆษณาใดๆเลย เป็นอีกปัจจัยทำให้คนรู้สึกถึงความไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่งของ google แต่ในความเป็นจริง google สามารถที่จะควบคุมการนำเสนอต่างๆ ได้ โดยที่จะนำเสนอเว็บใด หรือเนื้อหาใดหลังจากเรากดปุ่มเสิร์ชแล้วนั้นเอง
โดย google เองได้ใช้วิธีฟังความคิดของเราจากสิ่งที่เราค้นหา รู้ว่าเราอยากรู้ข้อมูลเรื่องใดสนใจเรื่องใดอยู่ เช่น อยากเที่ยวก็จะนำเสนอสถานที่เที่ยว โดยสามารถสร้างรายได้จากบริษัทหรือองค์กรที่มาโฆษณา และสามารถโฆษณาได้อย่างตรงใจและทันทีทันใดเลยครับ
สิ่งที่หน้ากลัวอีกอย่างคือ ความสามารถซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าครอบงำสื่อ ในหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงองค์กรสื่อชั้นนำ คือ Times ซึ่ง google สามารถเลือกหยิบเนื้อหาหรือข่าวที่น่าสนใจมาใช้ได้โดยที่ Times เองไม่มีสิทธิ์ที่จะตอบโต้ใดๆ แต่ Times ที่เป็นองค์กรสื่อนั้นยังคงต้องรักษาจรรยาบรรณของสื่อ ดังที่บอกไปแล้วว่าก็จะเป็นอีกหนึ่งต้นทุนในการเตรียมข่าวหรือเนื้อหา เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชน ซึ่งคุณสก๊อตต์ได้เล่าประสบการณ์ตรงจากการเป็นทั้งผู้บริหารและที่ปรึกษา กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงครับ
1
นอกจากที่มีเสิร์ชเอ็นจิ้นแล้ว google ยังพัฒนาแอพพลิเคชั่นอื่นๆ ขึ้นมาอีกมากมายเพื่อครอบคลุมทุกอย่าง เช่น google map เป็นต้นนั่นทำให้เสมือนว่าข้อมูลทุกอย่างบนโลกอยู่ในมือของ google เช่นกัน สิ่งที่ทำให้ google เป็นองค์กรที่มีนวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นมาได้อย่างต่อเนื่อง อีกปัจจัยคือการที่องค์กรให้พนักงานใช้เวลา 10% ของการทำงานมาใช้ในการคิดและพัฒนาส่ิงใหม่ๆ แล้วคิดดูครับว่าในองค์กรมีพนักงานระดับหัวกะทิอยู่ประมาณ 60,000 คน องค์กรจะก้าวหน้าไปเร็วขนาดไหน
สำหรับสองตอนแรกก็เล่าถึงความเก่งกาจและความสามารถในการทำลายล้างของพ่อมดไอทีทั้ง 4 ตนไปแล้วนะครับ จะเห็นได้ว่าพ่อมดไอทีนั้นมีความสามารถในการบดขยี้คู่แข่งหรือกลืนกินสตาร์ทอัพที่มีแนวโน้มว่าจะขึ้นมาเป็นคู่แข่งในวงการ หรือแม้กระทั่งดึงดูดพนักงานความสามารถสูงจากองค์กรอื่นๆ ให้เข้ามาร่วมงาน
รวมทั้งความสามารถในการทัดท้านอำนาจรัฐถึงการผูกขาด ภาษีและเรื่องอื่นๆ แต่ในแง่ขององค์กรเองก็มีความสามารถในการพัฒนานวัตกรรม และกล้าเสี่ยงทุ่มงบประมาณในการลองผิดลองถูกอย่างมหาศาล รวมถึงสร้างกำไรได้อย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน
และตอนหน้าก็จะเป็นตอนสุดท้ายของ “ the four ” ครับ มาติดตามครับว่ามีอะไรน่าสนใจบ้างครับ
ขอให้มีความสุขกับการอ่านหนังสือ “ the four ” นะครับ
ขอบคุณท่านผู้อ่านที่ติดตามอ่านครับ พบกันใหม่ตอนหน้าครับ
KeY_MaN
โฆษณา