5 พ.ค. 2023 เวลา 01:07 • บันเทิง

ตราปศุปติ(Pashupati seal)

ตอนที่ 1 ตราประทับ(Indus Seal)
ตราปศุปติ(Pashupati seal) ตราประทับโบราณที่เกาะสลักรูปมนุษสวมหมวกมีประดับด้วยเขาสัตว์นั่งอยู่บนแท่นในท่านั่งขัดสมาธิ และมีเหล่าสัตว์อยู่เบื้อหลัง ตราประทับนี้มีอายุราว 2,300-2,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ถูกค้นพบที่เมืองโบราณโมเฮนโจ-ดาโร เมืองสำคัญในสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ การค้นพบครั้งนี้นำมาซึ่งข้อถกเถียงเกี่ยวกับตัวตนของมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในตราประทับนี้
ตราประทับ
การค้นพบตราประทับปศุปติเกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ.2471 ในปัจจุบันตราประทับนี้ถูจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดียร่วมกับตราประทับและโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆที่ค้นพบ ซึ่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนี้เป็นอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ อยู่ในยุคที่ร่วมสมัยกับอารยธรรมอียิปต์โบราณ อารยธรรมเมโสโปเตเมีย และอารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโหของจีน
ลวดลายบนตราปศุปาตินั้นเป็นภาพมนุษย์นั่งขัดสมาธิคล้ายกับโยคี ที่แขนมีลวดลายคล้ายการสวมใส่กำไร ที่ลำตัวมีแถบสามเหลี่ยมคล้ายการสวมใส่สร้อยหรือการห่มผ้า หรือสวมเสื้อผ้าที่มีลายแถบสามเหลี่ยม สวมหมวกทรงสูงประดับด้วยเขาสัตว์ และด้านหลังมีภาพของสัตว์ 4 ชนิดคือ ช้าง เสือ กระบือ และแรด บริเวณใกล้ๆกับช้างมีภาพคล้ายมนุษย์อีกหนึ่งคนยืนอยู่ ด้านล่างใต้ฐานที่นั่งมีกวางหรือแพะภูเขาสองตัว ส่วนด้านบนสุดมีสัญลักษณ์คล้ายกับอักษรซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นอักษรสินธุ
ตราประทับทำด้วยหินสบู่หรือสตีไทต์(Soapstone or Steatite)ขนาด 3.56 ซม. คูณ 3.53 ซม. หนา 0.76 ซม.ถูกค้นพบในแหล่งโบราณคดีอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ หลังการค้นพบจอห์น มาร์แชล(John Marshall) นักโบราณคดีผู้นำการขุดค้นและผู้อำนวยการสำนักสำรวจทางโบราณคดีแห่งอินเดียในขณะนั้นได้ตีความตราประทับนี้ว่ารูปสลักของพระปศุปติผู้เป็นเจ้าแห่งสัตว์และเป็นปางหนึ่งของพระศิวะ
โดยมาร์แชลให้เหตุผลว่าบุคคลในตราประทับน่าจะเป็นบุคคลที่มีความสำคัญมาก มนุษย์ที่ปรากฏในตราประทับเป็นเพศชายบรศีรษะด้านข้างมีลักษณะเหมือนในหน้า ทำให้เขาคิดว่ามนุษย์ผู้นี้น่าจะมี 3 ใบหน้า และอาจจะมีในหน้าที่ 4 อยู่ด้านหลังด้วย ส่วนด้านบนศรีษระสวมมงกุฎประดับด้วยเขาของวัวตัวผู้ทำให้ดูมีลักษณะคล้ายกับตรีศูล
บุรุษผู้นี้อยู่ในท่านั่งสมาธิหรืออยู่ในท่านั่งแบบโยคะ พร้อมกับถูกรายล้อมด้วยเหล่าสัตว์เหมือนกับว่าบุรุษผู้นี้เป็นนายของเหล่าสัตว์หรือมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าเหล่าสัตว์และมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในตราประทับนี้ ในเวลาต่อมามาร์แชลได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมเกี่ยวกับลายเส้นบริเวณเอวว่ามีลักษณะคล้ายกับองคชาติ
การตีความดังกล่าวถูกนำไปเชื่อมโยงกับที่มาของพระศิวะทำให้คิดไปได้ว่าพระศิวะซึ่งชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนับถือในนามของพระปศุปตินั้น อาจไม่ใช่เทพดั้งเดิมที่ของชาวอารยันแต่เป็นเทพของชาวดราวิเดียน (Dravidian) หรือฑราวิท ชนพื้นเมืองอินเดียโบราณสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุมาก่อน ต่อมาเมื่อพวกอารยันเข้ามายังดินแดนแถบนี้จึงรับความเชื่อเรื่องเทพของชาวพื้นเมืองเข้าไปผนวกกับเทพดั้งเดิมของตน
เหตุที่ทำให้เชื่อได้เช่นนี้ก็คือ ช่วงเวลาที่ชาวอารยันเดินทางเข้ามาถึงอณุทวีปอินเดียนั้นเป็นช่วงเวลาประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่มีหลักฐานอื่นๆที่แสดงพระศิวะหรือพระปศุปติเลยนอกจากเรื่องราวในพระเวท ในขณะที่ตราปศุปติมีอายุเก่าแก่มากกว่านั้น ซึ่งในการขุดค้นทางโบราณคดีในแหล่งของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ยังพบตราประทับที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน และรูปสลักทรงกระบอกที่ถูกตีความว่าคล้ายกับศิวลึงค์อีกด้วยซึ่งนั่นช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับแนวคิดนี้
การตีความของมาร์แชลเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้าง อีกทั้งยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อเรื่องของศาสนาในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ สาเหตุหนึ่งของการที่แนวคิดนี้ได้รับความเชื่อถืออย่างกว้างขวางนอกเหนือที่จอห์น มาร์แชล เป็นนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิที่มีผู้เคารพนับถือมากมายในแวดวงวิชากรแล้ว ประเด็นสำคัญอีกประการก็คือแนวคิดดังกล่าวยังส่งเสริมกับความเชื่อของผู้นับถือศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ทำให้พระศิวะที่พวกเขาบูชา นับถือดูมีมิติขึ้น
หากเราเชื่อว่าองค์พระศิวะเป็นผู้ทรงมีเมตตาต่อมวลมนุษย์และเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย ท่านทรงช่วยเหลือมวลมนุษย์ทุกเชื้อชาติ ทุกเผ่าพันธุ์ และทุกๆยุคสมัย เพียงแต่ผู้คนเหล่านั้นที่เรียนขนานพระนามของท่าน สร้างรูปเคารพ และปฏิบัติบูชาต่อพระองค์แตกต่างกันไปในแต่ละอารยธรรม ชาวดราวิเดียนหรือชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุรู้จัก นับถือบูชาพระองค์และสลักรูปของพระองค์ลงในตราประทับในฐานะเจ้าแห่งสรรพสัตว์ทั้งหลาย
ในขณะที่ชาวอารยันเองก็นับถือบูชาพระองค์เช่นกันแม้ไม่หลักฐานทางโบราณวัตถุที่ย้อนหลังไปได้เก่าแก่กว่าชาวลุ่มแม่น้ำสินธุ แต่ก็มีหลักฐานปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวท ซึ่งจากตำนานการรจนาพระเวทนั้นเชื่อว่าเกิดขึ้นตั้งแต่ 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชและถูกท่องจำกันถ่ายทอดกันต่อๆมา ทำให้เชื่อได้ว่าชาวอารยันเองก็รู้จักพระศิวะมาเนิ่นนานเช่นเดียวกับชาวดราวิเดียน
การที่พระศิวะปรากฏอยู่ในความเชื่อของชนเผ่าโบราณทั้งสองอารยธรรมเช่นนี้ย่อมทำให้มิติ มุมมองที่มีต่อพระศิวะแผ่ขยายฝังรากลึกขึ้นในหมู่ผู้เชื่อถือศรัทธา ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้แนวคิดเรื่องตราปศุปติของจอห์น มาร์แชลแข็งแกร่งขึ้นด้วย และยังได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้
ข้อถกเถียง
ถึงแม้การตีความของมาร์แชลเรื่องตราปศุปติจะกลายเป็นความเชื่อกระแสหลักในแวดวงวิชาการ แต่ก็มีนักวิชาการบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ เช่น เฮอร์เบิร์ต ซัลลิแวน(Herbert Sullivan) และ วีเจย์ ที. อินโกเล(Vijay T. Ingole) มีความเห็นว่ารูปมนุษย์บนตราประทับนี้น่าจะเป็นรูปสลักของสตรีมากกว่าบุรุษ
ในขณะที่ดอริส ศรีนิวาสัน(Doris Meth Srinivasan), ดาโมดาร์ ธัมมานันทา โกสัมบี(Damodar Dharmananda Kosambi) และอัลฟ์ ฮิลเตเบเทล(Alfred John Hiltebeitel) มีความเห็นว่ามนุษย์ที่มีเขาบนตราประทับนี้น่าจะเทพ หรือเทพอสูรที่มีเขาจริงๆมากกว่าเทพที่มีรูปร่างเหมือนมนุษย์แล้วสวมหมวกที่ประดับด้วยเขาสัตว์ ส่วนวอลเตอร์ แฟร์เซอร์วิส(Walter Fairservis)เสนอแนวคิดว่าน่าจะเป็นรูปสลักของมนุษย์ที่เป็นบุคคลสำคัญมากกว่า
อย่าไรก็ตามข้อถกเถียงดังกล่าวยังไม่เป็นที่ยอมรับในวงกว้างเท่าแนวคิดเรื่องตราปศุปติของจอห์น มาร์แชล หลักฐานหนึ่งที่พอจะไขปริศนาเรื่องตราประทับและทำให้เป็นที่ยอมรับในวงกว้างได้ คือความพยายามถอดความอักษรสินธุให้ออกเพื่อที่จะช่วยไขความลับของตราประทับนี้ รวมถึงเรื่องราวต่างๆของอารยธรรมนี้ให้กระจ่างกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้
โฆษณา