9 พ.ค. 2023 เวลา 03:00

ทำงานหนักไม่ได้แปลว่าทำงานดี วิธีทำงานที่ประสิทธิภาพ คือการไม่ทำงานอะไรในเวลาพัก

‘ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่จะต้องปฏิวัติแนวคิดในการทำงานเสียใหม่ ทั้งจากมุมมองของเราที่พยายามจะทำงานหนักจนมากเกินไป และองค์กรที่ควรปล่อยให้เราได้พักหายใจบ้าง’
‘การทำงานหนัก’ เป็นสิ่งที่มักจะได้ยินกันเป็นประจำเมื่อกล่าวถึงวัฒนธรรมองค์กรในไทย เรามักจะถูกปลูกฝังกันมาว่า ให้ทุ่มเทกับการทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ตัวเรามีคุณค่าต่อองค์กร ทำให้พวกเราก้มหน้าก้มตาทำงาน เพื่อป้อนผลงานที่สมบูรณ์แบบให้กับเจ้านาย
แรก ๆ มันก็คงดีอยู่หรอก เราตั้งใจทำงานเป็นอย่างดี ผลงานก็ออกมาสมบูรณ์แบบ องค์กรก็ได้งานตามที่ต้องการ แต่เมื่อองค์กรเริ่มเห็นว่าเราทำงานได้ดี เขาก็ป้อนงานให้เรามากขึ้นเรื่อย ๆ เหมือนหวังผลว่า ลงทุนเยอะ ก็ต้องได้กลับมาเยอะสิ
ด้วยความคิดที่ฝังหัวมาตลอดว่า ถ้าเราทำงานอย่างหนัก เราจะมีคุณค่าต่อองค์กร ทำให้เราเริ่มฝืนตัวเองมากขึ้น ใครให้ทำอะไร เราก็ทำทั้งนั้น จนมารู้ตัวอีกทีเราก็กลายเป็นคนที่ทำงานตลอด 24/7 ไปเสียแล้ว แถมงานที่ได้ออกมาก็ไม่ได้สมบูรณ์แบบอีกต่อไป
เพราะฉะนั้น ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะต้องปฏิวัติแนวคิดในการทำงานเสียใหม่ ทั้งจากมุมมองของเราที่พยายามจะทำงานหนักมากเกินไป และองค์กรที่ควรปล่อยให้เราได้พักหายใจบ้าง?
หากเราได้พักจากการทำงานในเวลาที่เหมาะสม แน่นอนว่ามันเหมือนเราได้ชาร์จพลังงานที่หายไปกลับมา อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะกลับมาด้วยไม่ใช่มีเพียงแต่พลังงานเท่านั้น แต่เป็น ‘Soft Skills’ ที่จะทำให้งานของเรากลับมาสมบูรณ์เหมือนเดิมอีกด้วย ซึ่งสิ่งนี้ไม่มีทางจะเกิดขึ้นได้แน่นอนหากเราต้องทำงานตลอดเวลา
🟥 Creativity ความคิดสร้างสรรค์ที่หายไปจากความเหนื่อยล้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแข่งขันทางธุรกิจระหว่างองค์กรนั้นเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ ทุกองค์กรล้วนต้องการคนที่มีความคิดสร้างสรรค์มาช่วยกันเสนอไอเดียและพัฒนาองค์กรให้ก้าวหน้าทั้งนั้น แต่ถ้าเราต้องทำงานใช้สมองหนัก ๆ ไม่ได้หยุดหย่อน ความคิดสร้างสรรค์ของเราก็ต้องหายไปเป็นเรื่องปกติ
ดังนั้น แทนที่องค์กรจะเห็นว่า คนนี้ทำงานเก่งไอเดียดี แล้วใช้งานหนัก ๆ เพื่อผลงานจำนวนมาก ลองเปลี่ยนมาเป็นการป้อนงานที่เหมาะสมกับเวลาและความสามารถดีไหม ให้คนทำงานได้มีเวลาพักผ่อนสมอง จะได้มีไอเดียใหม่ ๆ มานำเสนอไป ส่วนเราในฐานะคนทำงานเองก็ต้องรู้จักแบ่งเวลาเช่นกัน เมื่อถึงเวลาที่ต้องพัก เราก็ต้องพัก อาจจะไปทำงานอดิเรกที่เราชอบ เพื่อให้ร่างกายและจิตใจพร้อมสำหรับการทำงานในวันต่อไป
🟥 Perspective มุมมองใหม่ ๆ ที่ได้จากการทำงานอดิเรก ที่สามารถนำมาปรับใช้ในการทำงาน
การพักผ่อนจากงานด้วยการทำงานอดิเรกที่เราชอบ เป็นอีกวิธีที่จะทำให้การทำงานของเราดียิ่งขึ้น จากการเปิดรับมุมมองใหม่ ๆ ที่สามารถปรับใช้กับงานของเราได้
สังเกตว่า เวลาที่เรากำลังทำงานอดิเรกอะไรสักอย่าง เรามักจะคิดอยู่เสมอว่า คนอื่นจะรู้สึกยังไงถ้าได้เห็นผลงานของเรา เช่น หากงานอดิเรกของเราคือการแต่งเพลง เราก็คงอยากจะให้คนมาฟังเพลงของเราแล้วรู้สึกประทับใจ ซึ่งมุมมองแบบนี้แหละ สามารถนำมาปรับใช้ในการทำความเข้าใจคนอื่น ตั้งแต่เจ้านาย เพื่อนร่วมงาน จนกระทั่งลูกค้าได้ดีทีเดียว
ดังนั้น หากองค์กรได้ให้อิสระกับบุคลากรในการใช้เวลาพักผ่อนไปกับงานอดิเรกบ้าง ก็อาจจะช่วยให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น มากกว่าการบังคับให้เราทำงานหนัก ๆ แล้วไม่ได้รู้จักปรับมุมมองในการทำงานที่เป็นประโยชน์เลย
🟥 Confidence ความมั่นใจที่หายไปจากการทำผิดผลาดซ้ำ ๆ
เมื่อเราทำงานหนักตลอดเวลาจนไม่มีเวลาพักผ่อน สิ่งหนึ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ ความเบลอ จนทำให้การทำงานของเราเกิดข้อผิดพลาด และเมื่อเราผิดพลาดบ่อยครั้ง ความมั่นใจที่เรามีก็จะค่อย ๆ หายไปทีละนิด ทั้งที่เราเคยทำงานได้เป็นอย่างดีมาก่อน
ดังนั้น หากเราเริ่มรู้สึกว่าร่างกายและจิตใจต้องการพักผ่อนจากการทำงาน ก็ควรพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ประสิทธิภาพการทำงานของเรากลับมาดีดังเดิม และเมื่อเราพร้อมที่จะเริ่มต้นทำงานอีกครั้งแล้ว ข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นก็จะน้อยลงตามไปด้วย และความมั่นใจในการทำงานของเราก็จะกลับเต็มเปี่ยม
สุดท้ายนี้ วิธีการทำงานที่มีประสิทธิภาพอย่าง ‘การไม่ทำงานอะไรเลยในเวลาที่ต้องพัก’ จะเกิดขึ้นได้ ต้อง อาศัยความร่วมมือระหว่างองค์กร ที่ก็ต้องเข้าใจได้แล้วว่า การให้บุคลากรทำงานหนักเกินไป ไม่เป็นผลดีต่อใครทั้งนั้น และพวกเราเองที่ก็ต้องปรับแนวคิด Work-Life-Balance ด้วยการพักผ่อนในเวลาที่ควรพักเช่นกัน มิฉะนั้น คงจะไม่มีใครได้มีความสุขกับการทำงานอีกเลย
อ่านบทความได้ที่ : https://bit.ly/42oapcr
มาร่วม CONNEXT THE DOT ก้าวสู่โลกการทำงานอย่างมั่นใจไปด้วยกัน
——————————————————

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา