Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
สารตั้งต้น
•
ติดตาม
6 พ.ค. 2023 เวลา 04:02 • การเมือง
การวิเคราะห์นโยบายพรรคการเมืองขนาดใหญ่ สู้เลือกตั้ง 2566
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาแล้ว 8 ปี 6 เดือน 24 วัน เริ่มต้นจากการดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังก่อรัฐประหารในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ราว 5 ปี และ ดำรงตำแหน่งนายกฯ หลังการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562 โดยเมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2566 ได้ประกาศยุบสภาตาม พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
นับเป็นการยุบสภาครั้งที่ 15 ของประเทศไทย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกประกาศ กำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 7 พ.ค. 66 เป็นวันใช้สิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้า และ วันที่ 14 พ.ค. 66 เป็นวันเลือกตั้ง เราก็จะได้ นายกฯ คนที่ 30 ดังนั้น ก่อนจะไปเลือกตั้งเรามาวิเคราะห์นโยบายเลือกตั้งของพรรคการเมืองขนาดใหญ่กันดังนี้
นโยบายเลือกตั้งที่ถูกนำมาวิเคราะห์มาจากพรรคการเมืองขนาดใหญ่ประกอบด้วยพรรคการเมืองดังต่อไปนี้
- เบอร์พรรค 7 ภูมิใจไทย ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ นาย อนุทิน ชาญวีรกุล
- เบอร์พรรค 14 ชาติพัฒนากล้า ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ นาย สุวัจน์ ลิปตพัลลภ, นาย กรณ์ จาติกวณิช และ นาย เทวัญ ลิปตพัลลภ
- เบอร์พรรค 18 ชาติไทยพัฒนา ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ นาย วราวุธ ศิลปอาชา
- เบอร์พรรค 21 ไทยภักดี ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ นพ. วรงค์ เดชกิจวิกรม
- เบอร์พรรค 22 รวมไทยสร้างชาติ ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ นาย พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค
- เบอร์พรรค 25 เสรีรวมไทย ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ พล.ต.อ. เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส
- เบอร์พรรค 26 ประชาธิปัตย์ ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ นาย จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
- เบอร์พรรค 29 เพื่อไทย ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ นส. แพทองธาร ชินวัตร, นาย เศรษฐา ทวีสิน และ นาย ชัยเกษม นิติสิริ
- เบอร์พรรค 31 ก้าวไกล ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ นาย พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
- เบอร์พรรค 32 ไทยสร้างไทย ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ คุณหญิง สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, นาย สุพันธุ์ มงคลสุธี และ น.อ. ศิธา ทิวารี
- เบอร์พรรค 37 พลังประชารัฐ ชื่อแคนดิเดตนายกฯ คือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ
หมายเหตุ โดยหลังจากนี้เบอร์พรรคจะถูกใช้เป็นตัวแทนชื่อพรรคการเมืองและนโยบายเลือกตั้ง สำหรับการวิเคราะห์
ตารางที่ 1 แสดงรายการแบ่งหมวดเศาฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ การเมือง
เนื่องจากนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง มีการแบ่งหมวดหมู่ที่หลากหลายและแตกต่างกัน เพื่อให้ง่ายต่อการวิเคราะห์ จึงขอแบ่งหมวดหมู่นโยบายออกเป็น 4 หมวด ประกอบด้วย (1) หมวดเศษฐกิจ, (2) หมวดสังคม, (3) หมวดสิ่งแวดล้อม และ (4) หมวดการเมือง ซึ่งแต่ละหมวดจะประกอบไปด้วยหมวดย่อยดังตารางที่ 1
ตารางที่ 2 แสดงนโยบายแบ่งตามหมวดเศาฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และ การเมือง
ตารางที่ 2 เป็นผลการวิเคราะห์นโยบายเลือกตั้งของพรรคการเมืองขนาดใหญ่ โดยสามารถสรุปและมีข้อเสนอแนะดังนี้
โอกาสด้านเศรษฐกิจ
(1) การเกษตร เป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นอันดับหนึ่ง เน้นไปที่ จัดหาที่ดินทำกิน การลดต้นทุน ทำ Contract Farming ประกันรายได้ การรวมกลุ่มต่อยอดเกษตรแปลงใหญ่ รวมถึงเพิ่มมูลค่าสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม และ การเพิ่มรายได้ด้วยการขายคาร์บอนเครดิต (2) การแก้ไขหนี้ครัวเรือน เป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นอันดับสอง เน้นไปที่ การพักหนี้ จัดตั้งกองทุนหรือธนาคารช่วยเหลือ ยกเลิกแบล็คลิสต์ และ จัดหางานให้ และ
(3) การคมนาคม เป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นอันดับสาม เน้นไปที่ การปรับปรุงขนส่งมวลชนและระบบรถไฟ ก่อสร้างมอร์เตอร์เวย์ทั่วไทยและ Landbridge อ่าวไทย-อันดามัน รวมไปถึง การขุดคลองไทย พร้อมไปกับการพัฒนาเมืองหลักและเมืองรอง
นโยบายโดดเด่นรองลงไป ได้แก่
(4) ท่องเที่ยว เน้นไปที่ กองทุนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและผู้ประกอบการ เชื่อมโยงโครงข่ายการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ส่งเสริมท่องเที่ยว ด้านชุมชน ด้านสุขภาพ ด้านการแพทย์ ด้านการท่องเที่ยว-ทำงาน และ ด้านธรรมชาติ
(5) พลังงาน เน้นไปที่ ปฏิรูปโครงสร้างราคา เจรจาเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติ สนับสนุนพลังงานทดแทน ได้แก่ โซล่า อีวี และ เนเปียร์ เปิดตลาดซื้อ-ขายไฟฟ้าเสรี
(6) เศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นไปที่ กองทุนสนับสนุนและพัฒนา ลงทุนระบบพื้นฐานทางด้านสื่อสารและดิจิทัล และ โปรโมทวัฒนธรรม ซอฟเพาเวอร์
สุดท้าย ค่าแรง และ ธุรกิจสีเทาฯ เป็นนโยบายที่โดดเด่นน้อยที่สุดเท่ากัน เน้นไปที่ (7) การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ หรือ กำหนดเงินเดือนเริ่มต้น และ (8) การทำให้ หวย สุรา ขายบริการทางเพศ เซ็กซ์ทอย หนังผู้ใหญ่ บุหรี่ไฟฟ้า และ คาสิโน ให้ถูกกฎหมาย ตามลำดับ
อุปสรรคด้านเศรษฐกิจ
ขาด นโยบายสานต่อยุทธศาสตร์การเป็นครัวของโลก, นโยบายแก้ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และ การปรับตัวแรงงานในยุค Technology Disruption รวมถึง มีบางนโยบายอาจจะส่งผลกระทบในทางลบต่อ ธุรกิจเอกชน ธนาคาร สิ่งแวลดล้อม สังคม และ วัฒนธรรม
โอกาสด้านสังคม
รัฐสวัสดิการฯ และ สาธารณสุข เป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นอันดับหนึ่ง เน้นไปที่ (1) เบี้ยยังชีพ, เงินช่วยเหลือ, เงินอุดหนุน, เงินสงเคราะห์, บำนาญ, บัตรสวัสดิการ, กองทุนประกันชีวิต และ จัดหางาน (2) เงินรางวัลสุขภาพดี, เพิ่มสถานพยาบาล, จัดตั้งศูนย์ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง, บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทั่วไทย, จัดซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์, ยกระดับการรักษาพยาบาลผ่านเทคโนโลยี, ตรวจเช็คสุขภาพ-ค่าเดินทางฟรี, วัคซีนฟรี, สิทธิยุติชีวิตตนเองอย่างมีศักดิ์ศรี และ ค่าทำศพ ตามลำดับ
นโยบายโดดเด่นรองลงไป ได้แก่ (3) ปฏิรูปการศึกษา เน้นไปที่ ปรับปรุงหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของตลาดโลก, ให้เด็กเรียนในสิ่งที่อยากเรียน, เสริมทักษะด้านภาษาต่างประเทศ และ Coding, ทุนการศึกษา, เรียนฟรีถึงปริญญาตรี, ฟรี นม อาหาร รถรับส่ง, แท็บเล็ตให้นักเรียนและครู, เพิ่มศูนย์การเรียนรู้แบบ TCDC และ TK Park, พัฒนาแพลตฟอร์มเรียนรู้ตลอดชีวิต และ ระบบจัดหางาน
(4) วิจัยและนวัตกรรม เน้นไปที่ งานวิจัยด้านการเกษตร เช่น พันธุ์ข้าว, สิ่งแวดล้อม, ลดโลกร้อน และ ความหลากหลายทางชีวภาพ
สุดท้าย ปัญหายาเสพติดและอาชญากรรม และ ความเท่าเทียมทางเพศ เป็นนโยบายที่โดดเด่นน้อยที่สุดเท่ากัน เน้นไปที่ (5) ปราบปรามยาเสพติดผู้ขาย ผู้ซื้อ, จับกุมและลงโทษผู้รับประโยชน์, สังคมปลอดอาวุธ และ การวางระบบป้องกันภัยไซเบอร์ และ (6) แก้กฎหมายให้ทุกเพศเท่าเทียมกัน และ สมรสเท่าเทียม ตามลำดับ
อุปสรรคด้านสังคม
ขาด การสร้างมาตรฐานในสถานพยาบาลทั้งในเมืองและชนบท, การจัดอบรมความรู้และสร้างความพร้อมให้กับประชนในการรับการรักษาผ่านระบบเทคโนโลยี (Telemedicine), การสนับสนุนการศึกษานอกโรงเรียน เช่น กสน. และ โฮมสกูล (Homeschooling), งานวิจัยในเทคนโนโลยีขั้นสูง, การสร้างสนามเด็กเล่นและสนามกีฬาให้เด็กและเยาวชนหลีกไกลยาเสพติด, การปรามปรามอาชญากรรมไซเบอร์เชิงรุก และ การพูดคุยและทำความเข้าใจการแก้ไขกฏหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ
โอกาสด้านสิ่งแวดล้อม
(1) การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ เป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นอันดับหนึ่ง เน้นไปที่ รณรงค์การปลูกต้นไม้, การบริหารจัดการน้ำ แก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง ลดความรุนแรง น้ำไม่ท่วม ไม่แล้ง มีน้ำดื่ม น้ำใช้ ตลอดปี, สนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เช่น อุดหนุนการติดหลังค่าโซล่าเซลล์ และ ใช้มอเตอร์ไซต์ไฟฟ้า เป็นต้น, สนับสนุนเศรษฐกิจสีเขียว เช่น พัฒนาระบบกำจัดขยะ พัฒนาระบบไฟฟ้าธรรมชาติ สร้างเกษตรเพื่อพลังงานสะอาด เลิกโรงงานไฟฟ้าถ่านหิน และ สนับสนุนใช้เครื่องจักรสมัยใหม่ในการเกษตร เป็นต้น,
เปิดเผยข้อมูลมลพิษและก๊าซเรือนกระจก, กำหนดเพดานปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายอุตสาหกรรม และ เปิดตลาดค้าขายแลกเปลี่ยนสิทธิในการปล่อยคาร์บอน
(2) ปัญหามลพิษ เป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นอันดับสอง เน้นไปที่ รณรงค์การทำเกษตรสมัยใหม่, เจรจากับเพื่อนบ้าน, เอาผิดกับคนเผ่าป่า เผาไร่ อย่างจริงจัง, บังคับใช้ พ.ร.บ.อากาศสะอาด, เพิ่มค่าบริการขยะอาหารสำหรับห้างใหญ่ บังคับแยกขยะ-เก็บข้อมูล-ทำบัญชีขยะ, แบนโฟม และ หยอด-แก้ว-ถุงพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง, เก็บภาษีถุงพลาสติก, เลิกนำเข้าขยะ, เพิ่มการใช้รถเมล์ไฟฟ้า, ส่งเสริมการใช้รถอีวี, เปลี่ยนรถไฟดีเซลเป็นรถไฟไฟฟ้า, สลับ-เหลื่อมเวลาการทำงานและเวลาเรียน, โครงการสวนสีเขียว และ เมืองอัจฉริยะสีเขียว
อุปสรรคด้านสิ่งแวดล้อม
ขาด นโยบายอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ทะเล แหล่งน้ำธรรมชาติ และ สัตว์ป่า, การรณรงค์ประหยัดพลังงาน, การรณรงค์การลดใช้ขวดแก้วและพลาสติก, การรณรงค์การแยกขยะ, การส่งเสริมธุรกิจรีไซเคิล (Recycle) รียูส (Reuse) และ อัพไซคลิ่ง (Upcycling), นโยบายแหล่งน้ำสะอาด, แผนงานเชิงรุก ตรวจ จับ ปรับ ผู้กระทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ. อากาศสะอาด, การรณรงค์การใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น เช่น การใช้ตั๋วร่วมกัน รถเมล์ รถไฟ รถไฟฟ้า และ เรือ เป็นต้น และ การดำเนินคดีจริงจังกับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษ
โอกาสด้านการเมือง
(1) ปัญหาการทุจริต เป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นอันดับหนึ่ง เน้นไปที่ แก้ไขกฏหมายที่รังแกประชาชนและอุปสรรคการทำกิน, เปิดข้อมูลภาครัฐ, สร้างระบบสารสนเทศให้บริการภาครัฐ One Stop Service และ ลงโทษหนักทั้งผู้ให้ผู้รับ
(2) ปฏิรูประบบราชการฯ เป็นนโยบายที่โดดเด่นเป็นอันดับสอง เน้นไปที่ รื้อระบบราชการ ตำรวจ ทหาร, เลือกตั้งผู้ว่าฯ และ ให้อำนาจประชาชนมีอำนาจเลื่อน ลด ปลด ย้ายข้าราชการได้
สุดท้าย แก้ไข/ยกเลิก รัฐธรรมนูญ และ ปฏิรูประบบยุติธรรม เป็นนโยบายที่โดดเด่นน้อยที่สุดเท่ากัน เน้นไปที่ (3) ร่างรัฐธรรมนูญใหม่, แก้ไขมาตร 112, แก้ไชกฎหมายความมั่นคงพิเศษ, แก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อเสรีภาพในการแสดงออก (มาตรา 116 / พรบ. คอม), ออกกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก (SLAPP) และ คุ้มครองสิทธิในการชุมนุม (พ.ร.บ. ชุมนุม) และ (4) ปฎิรูป กกต., ปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม (องค์กรอิสระ, ตำรวจ,อัยการ และ ศาล), ปฎิรูปเรือนจำ และ นิรโทษกรรมคดีการเมือง ตามลำดับ
อุปสรรคด้านการเมือง
ไม่สามารถแก้ไขการทุจริตรับผลประโยชน์จากโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ และ ทุจริตเชิงนโยบายได้ ควรจะมีการตั้งรางวัลให้กับผู้แจ้งและมอบหลักฐานในการเอาผิดกับนักการเมืองและข้าราชการที่ทุจริต, ควรที่จะเพิ่มโทษกับผู้ทุจริต เช่น ยึดทรัพย์ จำคุกตลอดชีวิต เป็นต้น เพื่อให้เกิดความเกรงกลัว,
ควรจะมีการปรับค่าตอบแทนให้กับข้าราชการ ให้เหมาะสม สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรี ไม่จำเป็นต้องทุจริตในหน้าที่การงาน, ควรปรับเปลี่ยนค่านิยม “เช้าชามเย็นชาม” ให้หมดไปจากข้าราชการไทย ส่งเสริมผู้มีความรู้ ความสามารถ เป็นคนดี เติบโตในหน้าที่การงาน ไม่ใช้ระบบอาวุโส หรือ ระบบอุปถัมภ์, ควรนำเทคโนโลยี เช่น AI เข้ามาช่วยในการบังคับใช้กฎหมายให้ทั่วถึงและเป็นธรรมมากขึ้น, ใช้ AI พิจารณาคดีให้รวดเร็ว ถูกต้องและเชื่อถือได้ เป็นต้น และ การแก้ไขกฎหมายบางมาตรา อาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองได้
สุดท้ายนี้ นโยบายที่โดดเด่นน้อยมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยกว่านโยบายที่โดดเด่นมากกว่า เพราะ งบประมาณมีจำกัด ต้องใช้ความเห็นชอบจากพรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงการเคารพความรู้สึกของประชาชนด้วย เพราะ การที่ได้คะแนนเลือกตั้งสูงสุด สามารถรวบคะแนนเสียงในสภาผู้แทนราชฎร จัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่ได้หมายความว่าประชาชนเห็นด้วยกับทุกนโยบายของรัฐบาล ดังนั้น นโยบายทุกนโยบายยังต้องผ่านการพิจารณาตามกระบวนการประชาธิปไตย์ในระบบรัฐสภาฯ ก่อนจะนำมาประกาศใช้กับประชาชนต่อไป
สารตั้งต้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคน เพราะคำว่า "ไม่รู้" ทำคนเสีย "น้ำตา" มามากแล้ว
ถ้าเนื้อหาถูกใจ ช่วยกดติดตาม กดไลท์ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจ
แลกเปลี่ยนความเห็น ติชม สอบถาม แนะนำเนื้อหาได้นะครับ
เลือกตั้ง2566
เลือกตั้ง
การเลือกตั้ง
1 บันทึก
3
5
1
3
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
โฆษณา
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย