6 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • การเมือง

I #แนวทางการเลือกตั้งสำหรับมุสลิมที่เป็นชนกลุ่มน้อย

ประเด็นเรื่องการเลือกตั้งของมุสลิมที่เป็นประชากรส่วนน้อยในประเทศใดประเทศหนึ่ง ในประเทศที่ไม่ใช่รัฐอิสลาม มีข้อชี้ขาดที่อาจเปลี่ยนผันไปตามปัจจัยต่างๆ เช่น กาลเวลา สถานที่หรือสภาพแวดล้อม ดังกฎเกณฑ์แห่งนิติศาสตร์อิสลามบทหนึ่งที่ว่า :
الفتوى قد تتغير بتغير المكان والزمان
“คำวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาศาสนา จะถูกเปลี่ยนแปลงไปตามสถานที่และกาลเวลา”
ซึ่งมาตราดังกล่าวนี้ได้แตกแขนงออกมาจากกฎเกณฑ์สามัญที่เป็นดั่งแม่บทคือ
الْعَادَةُ مُحَكَّمَةٌ
“จารีตประเพณี (ที่อยู่ในกรอบของศาสนา) เป็นสิ่งที่ถูกชี้ขาดในการตัดสิน”
และยังมีกฎเกณฑ์แห่งนิติศาสตร์อิสลามอีกหลายบทที่สามารถนำมาปรับใช้ในการเลือกตั้งได้ เช่น
กฎเกณฑ์ที่ว่า :
الضَّرَر الأَشد يزَال بِالضَّرَرِ الأَخف
“สิ่งที่เป็นภัยที่ร้ายแรงกว่า ย่อมถูกขจัดไปด้วยการเลือกกระทำสิ่งที่เป็นภัยน้อยกว่า”
ความนัยยะแห่งกฎเกณฑ์นิติศาสตร์อิสลามนี้ทำให้เข้าใจได้ว่า พรรคไหนที่ขัดกับหลักศาสนาน้อยที่สุด ก็สมควรที่จะเลือกพรรคดังกล่าว
หรือกฎเกณฑ์ที่ว่า :
 
دَرْءُ الْمَفَاسِدِ أَوْلَى مِنْ جَلْبِ الْمَصَالِحِ
“การป้องกันผลเสียย่อมดีกว่าการได้มาซึ่งผลประโยชน์”
ท่านอิหม่ามอัซซุบกีย์ ได้อธิบายเสริมไว้ว่า :
أن المصلحة إذا عظم وقوعها وكان وقع المفسدة كانت المصلحة أولى بالاعتبار
“หากผลประโยชน์สาธารณะที่ดีมีมากกว่าผลเสีย ก็ให้พิจารณาผลประโยชน์สาธารณะมาก่อน”(1)
หรือกฎเกณฑ์ที่ว่า :
يَختَارُ أَهْوَنَ الشَّرّيْن
“ควรเลือกสิ่งที่เลวร้ายน้อยที่สุด”
 
หรือกฎเกณฑ์ที่ว่า :
 
يَدْفَع أَعْظَم الضّرُرَين بِارْتكَاب أَخفهُما
“ระหว่าง 2 สิ่งที่อันตราย ควรละเว้นสิ่งอันรายมากกว่า ด้วยการเลือกสิ่งอันตรายที่น้อยกว่า”
 
หรือกฎเกณฑ์ที่ว่า :
تحتمل أَخف المُفسِدَتَين لِدفع أعظمهما
“ควรเลือกความเลวร้ายที่เบากว่า เพื่อหลีกเลี่ยงความเลวร้ายที่ใหญ่กว่า”
 
หรือกฎเกณฑ์ที่ว่า :
إذَا تَعَارَضَ مَفْسَدَتَانِ رُوعِيَ أَعْظَمُهُمَا ضَرَرًا بِارْتِكَابِ أَخَفِّهِمَا
“เมื่อภยันตรายสองกรณีที่อาจเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน (อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้) ก็ให้เลี่ยงภัยที่มีอันตรายมากกว่า ด้วยการเลือกเผชิญภัยที่มีอันตรายน้อยกว่า”
แน่นอนว่าหากเราพิจารณาดูนโยบายของพรรคต่างๆ ร้อยทั้งร้อยมีนโยบายที่ขัดกับหลักการศาสนาแทบทั้งสิ้น และเกือบทุกพรรคก็มีนโยบายที่มุสลิมได้ประโยชน์อยู่ไม่มากก็น้อย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศาสนาหรือเรื่องปากท้อง มุสลิมแทบจะเลือกพรรคดังกล่าวไม่ได้เลย ซึ่งต้องหันไปเลือกพรรคเล็กๆที่ไม่ขัดหลักการศาสนา หรืองดออกเสียงไปเลยยังจะดีกว่า
ทั้งนี้กฎเกณฑ์ต่างๆที่เราได้อ่านมา ก็คุ้นหู คุ้นตากันมาแล้ว
แต่กฎเกณฑ์อีกประเภทหนึ่งที่อยากจะให้ทุกท่านทำความรู้จักเพิ่มเติมคือ
الأمور بِعَواقِبِها، أي بمآلاتها
“ข้อตัดสินของการกระทำ ขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ หมายถึง ผลในบั้นปลาย”
หรือกฎเกณฑ์ที่ว่า :
الأشياء تحرم وتحل بمآلاتها
“ทุกสรรพสิ่งจะไม่เป็นที่อนุมัติหรือจะเป็นที่อนุมัติ ก็ด้วยกับการพิจารณาผลลัพธ์ในบั้นปลาย”
หรือกฎเกณฑ์ที่ว่า :
اَلعِبْرَة لِلْمآل لا لِلحال
“การพิจารณาข้อกำหนด จะคำนึงถึงผลบั้นปลาย มิใช่สภาพปัจจุบัน”
หรือกฎเกณฑ์ที่ว่า :
إذا تعارضت المصلحة والمفسدة قُدِّم أرجحهما
“เมื่อผลประโยชน์สาธารณะและผลเสียสาธารณะมีการขัดแย้งกัน ก็ให้เลือกในสิ่งที่มีน้ำหนักที่สุด”
ما حرم لسد الذريعة أبيح للمصلحة الراجحة
“สิ่งใดก็ตามที่ถูกห้ามเพื่อปิดประตูแห่งความชั่วร้าย จะกลายเป็นสิ่งที่ถูกอนุมัติ หากมีผลประโยชน์สาธารณะที่มีน้ำหนักมากกว่า”
لا تترك المصالح الغالبة لأجل المفاسد النادرة
“อย่าทิ้งผลประโยชน์สาธารณะที่ดีจำนวนมาก เพียงเพราะผลเสียสาธารณะที่มีจำนวนน้อย”
กฎเกณฑ์ที่เราได้อ่านผ่านมานี้ เป็นที่รู้จักกันดีในหลักวิชาที่ว่าด้วยเรื่อง 'มะกอศิด อัชชะรีอะฮ์' หรือ 'หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม' ซึ่งกฎเกณฑ์ที่ได้อ้างไปนั้น ก็คือกฎเกณฑ์พื้นฐานในวิชานี้ กฎเกณฑ์ทั้งหมดนี้เป็นกฎเกณฑ์ที่อยู่ขั่วตรงข้ามหรือเปิดกว้างยิ่งกว่ากับกฎเกณฑ์แห่งนิติศาสตร์อิสลามที่ว่า :
سد الذرائع
“ทฤษฎีปิดประตูแห่งความชั่วร้าย”
ซึ่งการใช้กฎเกณฑ์แห่งนิติศาสตร์อิสลามมาตัดสินใจในการเลือกตั้ง บางครั้งก็เป็นสิ่งที่ทำให้หลายท่านลืมมองถึงผลประโยชน์โดยรวมที่มุสลิมทั้งหลายควรจะได้รับ และพลาดโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ดังกล่าวไป โดยผลประโยชน์ดังกล่าวที่จะได้รับก็ใช้กฎเกณฑ์หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลามมาพิจารณาการตัดสินใจและชั่งน้ำหนัก
ซึ่ง “กฎเกณฑ์นิติศาสตร์อิสลาม” ที่เรามักใช้กันนั้น จะตัดสินกันในสภาพปัจจุบัน กล่าวคือ พรรคไหนมีนโยบายสนับสนุนสิ่งที่ขัดกับหลักการศาสนา เราจะไม่เลือกเลย ในขณะเดียวกันนโยบายอื่นๆที่มีประโยชน์ต่อมุสลิมเยอะกว่าจะไม่มีการนำมาพิจารณา
แต่กฎเกณฑ์จาก “หลักเจตนารมณ์แห่งกฎหมายอิสลาม (มะกอศิด อัชชะรีอะฮ์)” จะคำนึงถึงผลกระทบและผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หากเลือกพรรคเดียวกันนี้ มุสลิมและบุคคลทั่วไปจะได้รับประโยชน์มากมาย ซึ่งที่ในหลายปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์กันไปแล้วว่าพรรคไหนที่จะทำให้มุสลิมและบุคคลทั่วๆไปจะได้รับประโยชน์มากที่สุด หากได้ขึ้นเป็นฝ่ายบริหาร และพรรคไหนได้ทำลายสังคม
ในประเด็นการเลือกตั้งในประเทศที่ไม่ใช่รัฐอิสลามนี้ ทางสภานิติบัญญัติเคยมีวาระการประชุมมาแล้วถึงสองครั้งในประเด็นเรื่อง “การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งขึ้นอยู่กับ 'ผลประโยชน์สาธารณะ” ที่อิสลามิกชนพึงจะได้รับ”
สภานิติบัญญัติอิสลาม (مجمع الفقه الإسلامي) ได้ออกคำแถลงการณ์ว่า :
“อนึ่งในวาระการประชุมของสภานิติบัญญัติอิสลาม ครั้งที่ 19 ณ ที่ทำการสมาพันธ์อิสลามโลก (رابطة العالم الإسلامي) แห่งมหานครมักกะฮ์ ที่ถูกจัดขึ้นระหว่าง 22-26 เชาวาล ฮ.ศ. 1428 ซึ่งตรงกับ 3-7 พฤศจิกายน ค.ศ. 2007 ในวาระการพิจารณาวินิจฉัยต่อประเด็น “การมีส่วนร่วมของมุสลิมต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในการเลือกตั้ง ในประเทศที่ไม่ใช่รัฐอิสลาม”
ซึ่งเดิมเป็นญัตติที่ละเว้นการลงความเห็นตัดสินของสมาชิกสภาฯ ในการประชุมครั้งก่อนที่ถูกจัดขึ้นในระหว่าง 21-26 เชาวาล ฮ.ศ.1422 เพื่อให้สมาชิกสภาฯ ได้ค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาในการประชุมรอบใหม่
และหลังจากที่สภาฯ ได้รับฟังบทความวิจัยและการวิพากษ์เชิงหลักฐาน ตลอดจนข้อเสนอแนะ ตามเอกสารที่ถูกเสนอมา บัดนี้ทางสภานิติบัญญัติอิสลามขอออกแถลงการณ์ดังนี้ :
1. ประเด็น “การมีส่วนร่วมของมุสลิมต่อผู้ที่ไม่ใช่มุสลิมในการเลือกตั้ง ในประเทศที่ไม่ใช่รัฐอิสลาม” ถือเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดของศาสนา ซึ่งข้อกำหนดแห่งกฎหมายอิสลามจะขึ้นอยู่กับขอบข่ายของการพิจารณาตัวแปรด้าน “ผลประโยชน์สาธารณะ” และ “ความเดือดร้อนสาธารณะ” ในการนี้ข้อชี้ขาด (ฟัตวา) ในแต่ละกรณีที่จะแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยแวดล้อมด้านยุคสมัย สถานที่ และสภาพการณ์ ประกอบ
2.อนุญาตให้อิสลามิกชนสามารถใช้สิทธิ์ในฐานะเป็นพลเมืองของประเทศรัฐที่ไม่ใช่อิสลาม ในการเข้าร่วมลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เพื่อให้ประจักษ์ซึ่งผลประโยชน์สาธารณะที่จะเกิดขึ้น เช่น การสามารถนำเสนอภาพลักษณ์ที่ถูกต้องเกี่ยวกับอัลอิสลาม และเป็นช่องทางที่สามารถนำเสนอแนวทางป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับมุสลิมในประเทศได้ ทั้งยังเป็นการแสดงพลังที่ยิ่งใหญ่ของประชากรส่วนน้อยในประเทศให้เป็นที่ประจักษ์ รวมถึงการมีส่วนช่วยในการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรม
ทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้ขอบข่ายดังต่อไปนี้ :
1) มุสลิมผู้เข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งจะต้องตั้งปณิธานอันแน่วแน่ว่าจะเป็นไปเพื่อการช่วยรังสรรค์ผลประโยชน์สาธารณะและขจัดความเดือดร้อนสาธารณะให้หมดไปจากสังคม
2) ผู้มีส่วนร่วมฯ จะต้องทราบว่าการมีส่วนร่วมของเขาจะส่งผลในทางที่ดี สร้างประโยชน์แก่คนในสังคม เป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม
3) การมีส่วนร่วมของมุสลิมในการเลือกตั้งจะต้องไม่ส่งผลให้เกิดการละเลยต่อบทบัญญัติข้อใดของศาสนา
ดังกล่าวนี้คือ มติที่ออกมาจากสภานิติบัญญัติ
ดังนั้นใครจะเลือกพรรค A เพราะเล็งเห็นถึงผลประโยชน์ที่ดีกว่าในอนาคต ก็จงเลือก หรือใครไม่เลือกเพราะเห็นถึงสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนาก็เลี่ยง และหากเป็นไปได้ไม่ควรที่จะงดออกเสียง และก็ไม่จำเป็นต้องขู่ใครที่เลือกพรรคต่างๆด้วยคำกล่าว: 'ต้องไปตอบอัลลอฮ์ในวันกียามัต'
Reference:
อัลอัชบาฮ์ วันนะศออิร, ตาญุดดีน อัซซุบกีย์, สนพ.ดารุลกุตุบ อัลอิลมียะฮ์, เล่มที่ 1, หน้า 105.
บรรณานุกรม
══════════════════════════
ติดตามเราได้ที่ :
Facebook - สำนักพิมพ์เพื่อการค้นคว้าวิจัยด้านนิติศาสตร์อิสลาม
โฆษณา