6 พ.ค. 2023 เวลา 13:05 • การศึกษา

แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475

เมื่อวันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้ประกาศใช้แผนการศึกษาชาติ โดยมีแผนผังเป็นรูปต้นไม้  เรียกกันว่า “ศึกษาพฤกษ์”
ในแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 นักการศึกษาได้พยายามที่จะให้การศึกษาแก่นักเรียนทั้งด้านความรู้  ด้านศีลธรรมจรรยา  และด้านความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายโดยเท่าเทียมกัน คือให้ทั้งด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา และพลศึกษา  เรียกกันว่า “องค์ 3 แห่งการศึกษา”
หมายความว่าจะให้นักเรียนเป็นผู้ที่มีความรู้ทางวิชาการดี มีศีลทำจรรยาดี แล้วมีพลานามัยดี  ในการศึกษาตั้งแต่เดิมมาไม่ได้เน้นถึงสิ่งเหล่านี้  ด้วยเหตุนี้เองรัฐบาลจึงได้จัดตั้งกรมพลศึกษาขึ้นเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2476 โดยมีวัตถุประสงค์ตามคำแถลงของรัฐบาลว่า
“การที่รัฐบาลตั้งกรมพลศึกษาขึ้นก็เพราะต้องให้ นักเรียนและลูกเสือมีจิตใจเป็นนักกีฬา”
นโยบายของกรมพลศึกษาเมื่อแรกตั้งขึ้นมีว่า  “บุคคลที่จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาตินั้น  ถึงแม้จะได้รับจริยศึกษาและพุทธิศึกษาเป็นอย่างดีแล้วก็ตาม  แต่ถ้าร่างกายไม่แข็งแรง  ใจคอไม่หนักแน่น ขาดการอนามัยและเป็นขี้โรคแล้ว  ก็ไม่สามารถที่จะทำหน้าที่ของตนให้ได้ผลเต็มที่  พลศึกษาจึงเป็นหลักสำคัญของการศึกษาหลักหนึ่ง”
อีกประการหนึ่งแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 ร่างขึ้นในสมัยที่มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย  จึงได้เน้นถึงเสรีภาพในการศึกษาไว้หลายแห่ง  เช่นในตอนแรกที่กล่าวถึงความมุ่งหมายได้เขียนไว้ว่า
"1. ความมุ่งหมายแห่งการศึกษาของชาติคือให้พลเมืองทุกคนไม่เลือก  เพศ  ชาติ  ศาสนา  ได้รับการศึกษาพอเหมาะแก่อัตภาพของตนคือ  พอสมควรแก่ภูมิปัญญาและทุนทรัพย์  เพื่อทุกคนได้เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองในทางอาชีพ  ซึ่งตนเกิดมาสำหรับกระทำ”
และ “16. ท่านว่าหญิงต้องได้รับความเสมอภาคกับชายในการศึกษา  แต่หญิงมีภาระพิเศษโดยธรรมชาติ  ท่านให้วางหลักสูตรการศึกษาของหญิงให้มีวิชาผิดเพี้ยนกับของชายบ้างเป็นบางส่วน  แต่จะไม่ผิดกันโดยปริมาณ  หรือโดยส่วนสูงต่ำนั้นเลย”
แผนการศึกษาชาติฉบับนี้ได้เปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญผิดแปลกไปจากของเดิม 2 ถึง 3 ประการด้วยกันคือ
1.  ชั้นประถมศึกษาฝ่ายสามัญ  แต่เดิมมีเพียง 3 ชั้นในแผนการศึกษา
ชาติ พ.ศ. 2475 มี 4 ชั้น  แต่ความจริงก็มีระดับความรู้แค่ชั้นประถมปีที่ 3 เดิมนั่นเอง เพราะแต่เดิมเรามีชั้นเตรียมอยู่ด้วย  คือก่อนจะเข้าโรงเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ต้องเรียนชั้นเตรียมมาก่อน  มาใน พ.ศ. 2475 ได้ยุบชั้นเตรียมเสีย  ให้เข้าเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ได้เลย  จึงต้องเพิ่มชั้นประถมอีก 1 ชั้น รวมเป็น 4 ชั้น
2.  ชั้นประถมศึกษาฝ่ายวิสามัญ  เดิมเรียกชั้นประถมปีที่ 4 ปีที่ 5 ต้องขยับเลื่อนขึ้นเป็นชั้นประถมปีที่ 5 และปีที่ 6 ตามลำดับ
3. แต่เดิมชั้นมัธยมศึกษาฝ่ายสามัญ  มีแบ่งเป็นชั้นมัธยมตอนต้น (มัธยมปีที่1-2-3) ชั้นมัธยมตอนกลาง(มัธยมปีที่ 4-5-6) และมัธยมตอนปลาย(มัธยมปีที่ 7-8)  แต่ในแผนการศึกษา พ.ศ. 2475  แบ่งตอนเสียใหม่เหลือเพียง 2 ตอน และใช้ถ้อยคำเสียใหม่เป็น”มัธยมต้น”และ”มัธยมปลาย”  มัธยมต้นมี 4 ชั้นคือ มัธยมปีที่ 1-2-3-4  มัธยมปลายมี 4 ชั้นคือมัธยมปีที่  5-6-7-8
อนึ่ง มัธยมปลายนี้ แต่เดิมเริ่มตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 7-8  แบ่งออกเป็น 3 แผนกคือ  แผนกกลาง  แผนกอักษรศาสตร์  และแผนกวิทยาศาสตร์ ครั้นมาพ.ศ. 2475 ชั้นมัธยมปลายเริ่มแต่ชั้นนมัธยมปีที่ 4 เป็นต้นไป  มัธยมปลายแบบใหม่นี้มีการ แบ่งออกเป็น 4 แผนก  2 แผนกแรกเป็นสายสามัญเรียนวิชาการทั่วไป ได้แก่แผนกอักษรศาสตร์  ซึ่งเมื่อเรียนจบแล้วจะไปต่อในชั้นอุดมศึกษาได้ในแผนกนิติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  อักษรศาสตร์ ฯลฯ
แผนกนี้ต้องเรียนภาษาอย่างน้อย 2 ภาษา  ภาษาที่ 1 เริ่มแต่ชั้นมัธยมปีที่ 1  ส่วนภาษาที่ 2 เริ่มแต่ชั้นมัธยมปีที่ 5  และในการเรียนภาษาต่างประเทศนี้มีระบุไว้ด้วยว่า  ถ้าผู้ใดมีอัตภาพเพียงเรียนจบชั้นวิสามัญศึกษาแห่งมัธยมต้น(มีมัธยมวิสามัญอุตสาหกรรม  กสิกรรม  พาณิชยการ  และมัธยมวิชาสามัญอื่นๆ  ดังปรากฏในศึกษาพฤกษ์) ควรเรียนภาษาจีน  แต่ถ้าเรียนในชั้นอุดมศึกษา ควรจะเลือกเรียนภาษาปัจจุบัน  มีอังกฤษ  จีน  ฝรั่งเศส  เยอรมัน ฯลฯ  หรือภาษาโบราณ  มีภาษาบาลีสันสกฤต ฯลฯ  อย่างน้อย 2 ภาษา
อีกแผนกหนึ่งคือ แผนกวิทยาศาสตร์  ซึ่งเมื่อจบชั้นมัธยมปีที่ 8 แล้วจะไปต่อชั้นอุดมศึกษาในแผนกแพทยศาสตร์  วิทยาศาสตร์  วิศวกรรมศาสตร์  นักเรียนนายร้อย  นักเรียนนายเรือ  ฯลฯ  ส่วนแผนกกลางที่มีแบ่งไว้เดิม เป็นอันยกเลิกไปสำหรับ 2 แผนกหลัง เป็นสายวิสามัญด้านวิชาชีพ  มีแผนกกสิกรรม  พาณิชยกรรม  อุตสาหกรรม ให้นักเรียนเลือกเรียนได้  และอีกแผนกหนึ่งเป็นแผนกวิชาช่างฝีมือ
ความจริงมัธยมศึกษา  ชั้นมัธยมปลายที่เขียนไว้ในแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 เป็นการรวมสามัญศึกษาเข้ามาเรียนรวมกันเท่านั้นเอง เรียกเสียว่ามัธยมปลาย  หากแต่แยกออกไปเป็นแผนก ตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 5 เท่านั้น และยุบแผนกกลางในชั้นมัธยมตอนปลายเดิม(มัธยมปีที่  7-8)  เสีย
ในแผนการศึกษาชาติฉบับนี้  ได้มีการกล่าวถึงเรื่องการแบ่งภาระในการจัดการศึกษาไว้ด้วย  คือนอกจากรัฐจะเป็นผู้จัดตั้งโรงเรียนโดยตรงแล้ว ยังยอมให้บุคคลหรือคณะบุคคลจัดขึ้นตามความประสงค์อีกด้วย
ฉะนั้น นอกจากรัฐจะรับอุปถัมภ์โรงเรียนประชาบาลด้วยการให้เงินบำรุงแต่ประเภทเดียวแล้ว  รัฐยังอาจอุปถัมภ์โรงเรียนราษฎร์เช่นเดียวกันก็ได้  เป็นการช่วยเหลือให้โรงเรียนราษฎร์เป็นปึกแผ่นมั่นคงแทนที่จะปล่อยปละละเลยให้ดำรงอยู่ได้เฉพาะโดยทุนของโรงเรียนเอง  และในขณะเดียวกันโรงเรียนราษฎร์ก็จะแบ่งเบาภาระของรัฐบาลไปด้วยในตัว
สำหรับเรื่องการศึกษาภาคบังคับตามแผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 นั้นมีบัญญัติไว้ว่า
“10 การศึกษาบังคับได้แก่การศึกษาที่รัฐบังคับให้เด็กทุกคนไม่เลือกเพศ ชาติหรือศาสนา เรียนจนสำเร็จดังที่ท่านบังคับไว้ด้วยพระราชบัญญัติประถมศึกษาพ.ศ.2464
การศึกษาบังคับได้แก่การเรียนเพียงจบประโยคประถม  ซึ่งมีส่วนสามัญศึกษา  4  ปี  กับส่วนวิสามัญศึกษา คือประถมวิสามัญอีก  2  ปี
การศึกษาบังคับย่อมให้เปล่า  คือไม่ต้องเสียค่าเล่าเรียน”
ทั้งนี้หมายความว่านักเรียนที่อยู่ในเกณฑ์บังคับ จะต้องเรียนให้จบชั้นประถมปีที่ 6 หรือจนกว่าจะมีอายุครบ 14 ปี จึงจะพ้นเกณฑ์  เมื่อเทียบดูกับโครงการศึกษา  พ.ศ. 2464 จะเห็นว่าผิดกันอยู่บ้าง
โครงการ พ.ศ. 2464 แยกชายหญิงตรงชั้นประถมปีที่ 3 คือพอจบชั้นประถมปีที่ 3  ถือว่าเป็นการจบชั้นประถมสำหรับหญิง แล้วขึ้นไปเรียนมัธยมวิสามัญชั้นต่ำได้เลย  ส่วนเด็กชายต้องเรียนจนจบชั้นประถมปีที่ 5 จึงจะไปเรียนมัธยมวิชาสามัญชั้นต่ำได้  แต่แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2475 หญิงและชายเรียนเท่ากันจนถึงประถมปีที่ 6 เป็นอันพ้นเกณฑ์บังคับ
แผนการศึกษาฉบับนี้  ประกาศให้ใช้อยู่ได้เพียง 4 ปี  หมายความว่ามีเวลาปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนเพียง 2 ปีเท่านั้น  ก็มีการประกาศให้ใช้แผนการศึกษาชาติ พ.ศ. 2479 ขึ้นใหม่  ผลจึงไม่ปรากฏออกมาให้เห็นว่าดีหรือไม่อย่างไร
ประมวล/สรุปจาก..พงศ์อินทร์ ศุขขจร(ประวัติการศึกษาไทย, 2512)
Cr. เจ้าของภาพ
โฆษณา