7 พ.ค. 2023 เวลา 00:38 • ความคิดเห็น

เมื่อหกโมงเย็นร้อนเหมือนบ่ายสาม และการใช้ถุงผ้าไม่น่าจะช่วยอะไร

เมื่อวานนี้ผมไปงานแต่งงานญาติที่จัดที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตตรงบางกรวย
2
ระหว่างที่เดินไปอาคารนันทนาการ ผมก็เปรยกับแฟนว่าช่วงนี้อากาศร้อนจริงๆ นี่ขนาดหกโมงเย็นแล้ว ไม่มีแดดแต่ก็ยังอบอ้าวเหมือนตอนบ่ายสามไม่มีผิด
2
ผมกับแฟนคุยกันว่า เมื่อก่อนไม่ได้ร้อนขนาดนี้จริงๆ ใช่มั้ย นี่มันร้อนผิดปกติมาก ถ้ามันร้อนขึ้นอย่างนี้เรื่อยๆ ลูกเราจะอยู่กันยังไง
1
กลับถึงบ้านเห็นแม่ส่งไลน์เรื่อง Monster Asian Heatwave พอลองกูเกิ้ลคำนี้ก็เจอบทความที่ลงทุนศาสตร์เขียนไว้เมื่อ 21 เมษายน 2023
2
“อากาศในช่วงเดือนเมษายนของไทยนั้นร้อนที่สุดในทุกปี แต่ปีนี้ดูเหมือนว่าความร้อนจะพุ่งทะยานไปถึงจุดที่เกินกว่าจะรับได้ ค่าไฟพุ่งสูง ผู้คนเจ็บป่วยจากความร้อนเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อากาศที่ร้อนเสียจนแทบจะใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้นั้นไม่ใช่เรื่องที่คนไทยคิดหรือรู้สึกไปเองแต่อย่างใด อากาศในประเทศไทยสูงสุดถึง 44.6 องศาเซลเซียสที่จังหวัดตาก นับเป็นอุณหภูมิที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ของประเทศ”
9
“อากาศที่ร้อนขึ้นในหลายพื้นที่เป็นผลมาจากลิ่มความกดอากาศสูงจำนวนมากที่มาจากอ่าวเบงกอลถึงทะเลฟิลิปปินส์ ความกดอากาศสูงทำให้เมฆเกิดขึ้นได้น้อย ท้องฟ้าจึงแจ่มใส ไร้เมฆบังแดด ความกดอากาศสูงที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากภาวะโลกร้อนที่มีแต่จะเลวร้ายมากขึ้นทุกที ปีศาจคลื่นความร้อนเอเชียครั้งนี้นับเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change)”
4
ประเทศไทยรณรงค์ให้ใช้ถุงผ้า ลดการใช้ถุงพลาสติกกันอย่างจริงจัง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่ในฐานะประชาชนคนธรรมดา ผมก็อดถามตัวเองไม่ได้ว่า เรื่องนี้มันจะช่วยลดภาวะโลกร้อนได้จริงๆ หรือ เรากำลังทำอะไรที่มันไร้เดียงสา (naive) เพียงเพื่อจะได้รู้สึกดีว่าอย่างน้อยเราก็มีส่วนช่วยแล้วรึเปล่า
13
ไม่ได้หมายความว่าจะให้กลับไปใช้ถุงพลาสติกนะครับ แค่อยากชวนคุยว่านอกจากใช้ถุงผ้าแล้ว เรายังทำอะไรกันได้อีก
1
ในหนังสือ Climate Change: How We Can Get to Carbon Zero ที่จัดทำโดย WIRED Guides (เจ้าของเดียวกับ WIRED Magazine อันโด่งดัง) พูดถึงเรื่องสำคัญหลายเรื่อง ทั้งการใช้พลังงาน การขนส่ง (transport) อาหาร การลดความสิ้นเปลือง (tackling waste) ตลาดคาร์บอน (carbon markets) และ การดักจับคาร์บอน (carbon capture)
3
เรื่อง carbon capture นี้น่าสนใจ ผมเคยก็อปข่าวหนึ่งของ BBC เก็บเอาไว้ พาดหัวข่าวคือ Climate change: New idea for sucking up CO2 from air shows promise ซึ่งตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2023
2
ไอเดียหลักก็คือ การลดการปล่อยคาร์บอนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างเดียวนั้นไม่ทันการ เราต้องกำจัดคาร์บอนที่มีอยู่แล้วในอากาศด้วย (carbon dioxide removal – CDR) และหนึ่งในวิธีที่น่าสนใจคือ Direct Air Capture (DAC)
บริษัทสตาร์ตอัปสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ที่ชื่อว่า Climeworks ได้ใช้เทคโนโลยี DAC เพื่อลด CO2 โดยผลงานล่าสุดคือ “Orca” โรงงานดักจับคาร์บอนในไอซ์แลนด์ ที่สามารถลด CO2 ในอากาศได้ปีละ 4,000 ตัน เทียบเท่ากับต้นไม้ 400,000 ต้น
3
หลักการของ DAC คือการใช้พัดลมดูดอากาศเข้ามาในตัวเครื่อง ใช้ตัวกรองจับ CO2 เอาไว้ จากนั้นก็เพิ่มอุณหภูมิในตัวเครื่องให้สูงถึง 100 องศาเพื่อให้ CO2 บริสุทธิ์หลุดจากตัวกรอง แล้วนำไปผสมกับน้ำ จากนั้นจึงส่งน้ำ CO2 นี้ลงไปใต้ดินลึกหลายกิโลเมตร เก็บไว้ในชั้นหินบะซอลต์ แล้วมันจะค่อยๆ กลายเป็นหินภายในเวลาไม่กี่เดือน
8
การจัดเก็บ CO2 เอาไว้ใต้ดินอย่างปลอดภัยนั้นใช้เทคโนโลยีของอีกบริษัทหนึ่งชื่อว่า Carbfix ดูวีดีโอการทำงานของทั้ง Climeworks และ Carbfix ได้ที่ YouTube: World’s largest carbon dioxide sucking factory opens in Iceland – BBC News
8
แต่สิ่งที่โรงงาน Orca ทำได้นั้นถือว่าค่อนข้างเล็กน้อย – CO2 4,000 ตันที่ดักจับได้ต่อปีเท่ากับการปล่อยก๊าซ CO2 ของรถยนต์แค่ 800 คันเท่านั้น
5
เพื่อให้เห็นภาพ ปี 2022 เรามีการปล่อย CO2 ขึ้นไปในชั้นบรรยากาศประมาณ 36,800 ล้านตัน (36.8 gigatons) ถ้าจะดักจับให้หมด ต้องใช้ Orca ถึง 9.2 ล้านโรงงาน!
1
แต่ Climeworks มีแนวคิดแบบสตาร์ตอัป โรงงาน Orca เป็นการทดสอบว่าวิธีนี้ทำแล้วเวิร์ค แล้วจึงค่อยทำในสเกลที่ใหญ่ขึ้น
3
โดยในปี 2022 Climeworks ระดมทุนได้ 650 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อเตรียมสร้างโรงงานแห่งใหม่ชื่อ Mammoth ที่จะดักจับ CO2 ได้ปีละ 36,000 ตัน หรือมากกว่า Orca 9 เท่า
2
Climeworks ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่าจะสร้างโรงงานระดับ megaton (หนึ่งล้านตัน) ได้ภายในปี 2030 และระดับ gigaton (พันล้านตัน) ภายในปี 2050
3
สำหรับรายละเอียดเชิงลึก ใครที่ภาษาอังกฤษดีๆ แนะนำให้อ่านบทความนี้ของ TechCrunch: A step forward for CO2 capture Iceland’s unique volcanic geology provides an ideal environment for technology to filter air and store carbon
1
และเพื่อความสมดุลในมุมมอง ควรไปดูวีดีโอที่วิจารณ์ว่าทำไมวิธีการลด CO2 แบบ Direct Air Capture ไม่เมคเซนส์ได้ที่ YouTube: Carbon Capture Isn’t Real จัดทำโดยช่อง Adam Something ที่มีผู้ติดตามเกินหนึ่งล้านคน
9
ปัจจุบัน ปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศคือ 420 ppm (parts per million) ซึ่งสูงขึ้น 50% เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม (280 ppm) เมื่อ 200 ปีที่แล้ว
1
ครั้งสุดท้ายที่ CO2 สูงถึง 400 ppm คือยุค Pliocene Climatic Optimum เมื่อประมาณ 4 ล้านปีที่แล้ว ซึ่งระดับน้ำทะลสูงกว่าปัจจุบันประมาณ 5-25 เมตร
CO2 ที่สูงขึ้นจะก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก และทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นได้ โดยหลายสถาบันเห็นตรงกันว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้น 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม ปะการังทั่วโลกจะตาย น้ำแข็งขั้วโลกจะละลายและทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นจนเกิดน้ำท่วมเมืองที่อยู่ติดชายฝั่ง พายุจะเกิดถี่ขึ้นและรุนแรงขึ้น โดยตอนนี้โลกเราร้อนขึ้นมาประมาณ 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว
4
Yuval Harari ผู้เขียน Sapiens เคยมาพูดให้ TED Talks ว่า หากอยากให้ภาวะโลกร้อนนั้นควบคุมได้ เราต้องใช้งบประมาณ 2% ของ Global GDP เพื่อลงทุนในพลังงานสะอาด
1
2% ของ Global GDP คือ $1.7 trillion ซึ่งเป็นเงินไม่น้อย แต่ก็ไม่ได้มากจนเกินวิสัย เพราะเรา (คนทั้งโลก) จ่ายเงินค่าการทหารปีละ $2 trillion จ่ายเงินอุดหนุน fossil fuels ปีละ $0.5 trillion เราเสียรายได้จากการเลี่ยงภาษีปีละ $0.43 billion และมีอาหารที่เหลือทิ้ง (food waste) ปีละ $0.85 trillion อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บ Sapienship | 2% More: The extra step
5
Climate Change นั้นยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะบางคนก็มองว่าเป็นทฤษฎีสมคบคิด
1
ผมไม่อาจรู้ได้ว่าโลกร้อนขึ้นจริงรึเปล่า แต่ที่รู้แน่ๆ คือกรุงเทพร้อนขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยมัธยมที่ผมยังเตะบอลพลาสติกตอนพักเที่ยงได้ ตอนนี้ถ้าให้ไปเตะสงสัยคงเป็น heat stroke
4
ถ้าจะมีคนชาติไหนที่ “อิน” กับเรื่องโลกร้อนเป็นพิเศษ ก็ควรจะเป็นประเทศที่อยู่บนเส้นศูนย์สูตรอย่างเมืองไทยนี่แหละ ฝรั่งที่อยู่ในเขตหนาวเขาอาจจะเข้าใจในเชิงนามธรรมมากกว่าในเชิงรูปธรรม (แม้จะมีประชาชนในบางพื้นที่ที่เสียชีวิตเพราะ heat stroke ในช่วงหน้าร้อนก็ตาม)
1
กลับมาที่ว่าเราทำอะไรได้บ้างนอกจากใช้ถุงผ้า ไม่ใช้หลอดพลาสติก และปิดสวิทช์ไฟเมื่อไม่ใช้งาน (แต่ก็ยังต้องเปิดแอร์ ซึ่งก็น่าจะ cancel out กิจกรรมรักษ์โลกที่เราทำไปเกือบทั้งหมด)
5
สิ่งที่เราทำแล้วน่าจะมีผลที่สุด คือเรียกร้องให้ผู้บริหารประเทศให้ความสำคัญกับพลังงานสะอาด แบ่งงบประมาณแผ่นดินเพื่อเรื่องนี้ให้มากกว่าแต่ก่อน รวมถึงขอความร่วมมือจากภาคเอกชนด้วย
5
เราสามารถดูนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมของแต่ละพรรคได้ในบทความของ Urban Creature: เปิดนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคการเมือง เลือกตั้ง ปี 2566
1
อีก 7 วันเราก็เลือกตั้งกันแล้ว นโยบายสิ่งแวดล้อมคงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้เรากาพรรคใดพรรคหนึ่ง (เพราะเราคงอดคิดไม่ได้ว่าเขาอาจเขียนขึ้นมาให้ดูดีเฉยๆ)
2
แต่ไม่ว่าจะได้พรรคไหนเป็นรัฐบาลก็ตาม ถ้าเรารู้สึกว่าหกโมงเย็นร้อนเหมือนบ่ายสาม และอะไรบางอย่างลึกๆ ในตัวเราบอกว่าการใช้ถุงผ้าไม่น่าจะช่วยลดโลกร้อนได้มากพอ เราก็ควรใช้ “ทรัพยากรที่เรามี” เพื่อกระตุ้นให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้
2
ผมใช้บล็อก Anontawong’s Musings เพื่อสร้างความรับรู้เกี่ยวกับ 2% GDP และ Direct Air Capture เพื่อลด CO2 ในชั้นบรรยากาศ โดยหวังว่ามันจะกระตุ้นให้คนหันไปศึกษาเรื่องเหล่านี้มากยิ่งขึ้น เพื่อจะเกิดการพูดคุยและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง
5
มาช่วยกันคนละไม้คนละมือครับ
3
โฆษณา