10 พ.ค. 2023 เวลา 10:00 • ธุรกิจ

4 แบรนด์กีฬาสัญชาติไทย FBT-Grand Sport-Ari-Warrix ชิงตลาดหมื่นล้าน

บรรยากาศกีฬา “ซีเกมส์” ครั้งที่ 32 อาจดูกร่อย ไม่คึกคัก จากแฟนๆเหมือนในอดีต แต่นี่คือนาทีทองของแบรนด์สินค้ากีฬาสัญชาติไทย ได้อวดศักดา สร้างการรับรู้ เจาะใจผู้บริโภค แล้วบนสังเวียนตลาดหมื่นล้าน "FBT-Grand Sport-Ari-Warrix" ใครเป็นใคร ใหญ่แค่ไหน เจาะเส้นทางธุรกิจบิ๊ก 4
ซีเกมส์ครั้งที่ 32 เริ่มต้นแล้วอย่างเป็นทางการ โดยมี “กัมพูชา” เป็นเจ้าภาพ พิธีเปิดเริ่มขึ้นเมื่อ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงวันนี้มีการแข่งขันกีฬาหลายประเภท นักกีฬาทุ่มเทกันสุดชีวิตเพื่อคว้าเหรียญทองมาครองให้ได้
บรรยากาศโดยรวมของกีฬาระดับภูมิภาคอย่าง “ซีเกมส์” ไม่ได้คึกคัก หรือได้รับความสนใจจากแฟนๆเหมือนในอดีต เพราะในโลกยุคปัจจุบันมี “คอนเทนท์” มากมายที่ “ชิงเวลา” ดึงดูดคนดู
ทว่า ซีเกมส์กร่อย แต่มีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ตลาดเสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬาภายใต้ “แบรนด์ไทย” ที่ต่างพากันยึดพื้นที่บนอกเสื้อทีมชาติต่างๆ ทำหน้าที่สนับสนุนหรือเป็นสปอนเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นทีมชาติไทย กัมพูชา เมียนมา ลาว ฯ ต่างใส่เสื้อผ้าแบรนด์กีฬาสัญชาติไทยให้เห็น
กรุงเทพธุรกิจ ชวนสำรวจวิเคราะห์ตลาดแบรนด์กีฬาสัญชาติไทย ซึ่งปัจจุบันมี “บิ๊ก 4” ที่โดดเด่น และทำเงินระดับ “พันล้านบาท” กันเกือบถ้วนหน้า
เอฟบีทียืนหนึ่งกว่า 70 ปี
“เอฟบีที”(FBT) ถือว่ายืนหนึ่งและเป็นตำนานของแบรนด์สินค้า เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬาของไทย ที่มีต้นกำเนิดจาก “กมล โชคไพบูลย์กิจ” ที่เดินทางจากเมืองจีน มาตั้งรกรากในประเทศไทย และเริ่มทำธุรกิจซ่อมรองเท้า กระทั่งปี 2493 มีโอกาสได้ซ่อมลูกฟุตบอลของชาวต่างชาติ นำไปสู่การเรียนรู้เย็บลูกฟุตบอล
1
2 ปีหลังจากนั้น กิจการเริ่มขยับขยายสู่การตั้งบริษัท โรงงานฟุตบอลล์ไทย สปอร์ตติ้งกู๊ดส์ จำกัด หรือ FBT ขึ้น ปัจจุบันสร้างอาณาจักรสินค้ากีฬาจนเติบใหญ่ยั่งยืนกว่า 70 ปีแล้ว ถือเป็นองค์กรธุรกิจที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของประเทศไทยด้วย
กลยุทธ์การทำตลาดสำคัญของ “เอฟบีที” คือปี 2509 ที่เข้าเป็นผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์การแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ครั้งที่ 5 เพราะถือเป็นการประกาศศักดาแบรนด์ไทยให้ผู้บริโภคและตลาดระดับ “ภูมิภาคเอเชีย” ได้เห็นในวงกว้าง
ปัจจุบันเอฟบีที ขยายตลาดจำหน่ายสินค้าไปกว่า 40 ประเทศทั่วโลก และในการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ณ ประเทศกัมพูชา ชาวอาเซียนได้เห็นแบรนด์ดังกล่าวอยู่บนเสื้อนักกีฬาหลายประเทศ และหลายชาติด้วย
นอกจากอิง “กีฬา” เพื่อทำตลาด แต่เอฟบีทีมุ่งสู่ความเป็นไลฟ์สไตล์ ด้วยการนำลิขสิทธิ์หรือไลเซ่นส์ภาพยนตร์ดัง ซึ่งล่าสุดคือ การ Collaboration หรือ X กับ Guardians of the Galaxy สร้างสรรค์เสื้อผ้าคอลเล็กชั่นใหม่ๆ เอาใจสาวกแบรนด์และคอหนัง เป็นการขยายฐานลูกค้าให้เติบโตขึ้น
การเป็นองค์กรเก่าแก่ของ “เอฟบีที” สร้างแบรนด์ให้โด่งดัง อีกด้านคือ “รายได้” ที่ขยายตัว และเผชิญความท้าทายแตกต่างกันไป แต่ภาพรวมที่เคยมั่งคั่ง สามารถโกยเงินมากกว่า “พันล้านบาท” ต่อปี
แกรนด์สปอร์ต ในมือทายาทรุ่น 2
อีกแบรนด์สัญชาติไทย ยกให้ “แกรนด์สปอร์ต”(Grand Sport) ของตระกูล “พฤกษ์ชะอุ่ม” โดย “กิจ พฤกษ์ชะอุ่ม” อดีตนักบาสเกตบอล ที่ผันตัวเข้าสู่วงการธุรกิจ และปลุกปั้นแบรนด์ขึ้นมา
แม้บาสเกตบอล จะเป็นกีฬาที่ “กิจ” คร่ำหวอด แต่เมื่อสร้างสรรค์แบรนด์สินค้ากีฬา จุดเปลี่ยนสำคัญหนึ่งของบริษัทคือการเป็นผู้สนับสนุน สมาคมวอลเลย์บอล และผลักดันจนผลงานของนักกีฬาทีมชาติไทยก้าวขึ้นสู่แถวหน้าของโลก
ปัจจุบัน “ทายาทรุ่น 2” ของตระกูลพฤกษ์ชะอุ่ม เข้ามาสืบทอดกิจการครอบครัว หลังจากสิ้น “กิจ” ไปเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา
กลยุทธ์การตลาดของแกรนด์สปอร์ต ที่โดดเด่น หนีไม่พ้นการเป็นผู้สนับสนุนทีมชาติไทย ในกีฬาประเภทต่างๆ รวมถึงการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ครั้งที่ 32 ด้วย ซึ่งมีการออกคอลเล็กชั่นสุดสวยให้กับนักกีฬาได้สวมใส่ พร้อมสร้างการรับรู้แบรนด์ไปในตัวด้วย
ปัจจุบัน “แกรนด์สปอร์ต” ถือเป็นอีกแบรนด์สินค้ากีฬาสัญชาติไทยที่อายุเก่าแก่เกินครึ่งศตวรรษ(62 ปี) และการทำรายได้ของบริษัทอยู่ระดับ “พันล้านบาท” เช่นกัน อย่างปี 2562 ทำเงินกว่า 1,113 ล้านบาท นอกจากฝั่งผลิต ยังมีการตั้งบริษัทเพื่อทำการตลาดอย่าง “แกรนด์ มาร์เก็ตติ้ง” ทำเงินไม่ต่ำกว่า 300-400 ล้านบาทต่อปีด้วย
นอกจากแบรนด์ระดับตำนาน ที่อยู่คู่กับผู้บริโภคชาวไทยมาตั้งแต่เด็ก ทั้ง “เอฟบีที” และ “แกรนด์สปอร์ต” ที่เชื่อว่าทุกคนเคยสวมใส่มาแล้ว ยังมีแบรนด์ไทย “น้องใหม่” ที่แจ้งเกิด และทำผลงานอย่างโดดเด่นด้วย
โฆษณา