8 พ.ค. 2023 เวลา 10:54 • ความคิดเห็น

3 ปีกับ COVID-19 ชีวิตเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

วันที่ 5 พฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศยุติภาวะฉุกเฉินสถานการณ์ COVID-19 โดยระบุว่าขณะนี้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ทั้งจากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด และจากการติดเชื้อ ดังนั้น COVID-19 จึงไม่ใช่ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกอีกต่อไป
ฉันเริ่มรับทราบข่าวสารเกี่ยวกับโควิดเมื่อปลายปี 2562 ตอนแรกก็ยังไม่ได้กังวลอะไรมากนัก คิดว่ายังเป็นเรื่องไกลตัวเพราะแพร่ระบาดอยู่ที่ประเทศจีน และจีนได้มีการปิดประเทศ แต่แล้วโรคอุบัติใหม่นี้ก็กลายเป็น Pandemic (การระบาดของโรคที่เกิดขึ้นทั่วโลก) จนได้ ซึ่งก็ไม่แปลกใจเท่าไรเพราะโลกยุคปัจจุบัน การเดินทางและการขนส่งกระจายไปทั่วทุกภูมิภาคอยู่แล้ว
ผลกระทบแรก ๆ สำหรับฉัน จากการระบาดของโรคโควิดก็คือ วิธีการทำงานที่เปลี่ยนไป ฉันเป็นมนุษย์เงินเดือนธรรมดาคนหนึ่งที่ต้องเดินทางไปทำงานที่สำนักงาน เมื่อมีโรคระบาดก็เลยได้โอกาสทำงานที่บ้าน (Work from home- WFH) ตั้งแต่ปี 2563 ช่วงแรกของการ WFH ก็รู้สึกดีกับการไม่ต้องตื่นเช้า เดินทางเข้า office แต่สักพักก็เริ่มรู้สึกแย่กับการต้องประชุม online ต่อเนื่องทั้งวัน ปกติถ้าประชุมที่ office ยังมีเวลาได้พักบ้าง เพราะห้องประชุมมีจำกัด ต้องจัดสรรแบ่งกันใช้ แต่ประชุม online จบอันหนึ่ง ก็สามารถต่ออีกอันได้เลย
การประชุมทั้งวัน แปลว่าคุณต้องใช้เวลาหลังเลิกงานมานั่งทำงานที่คุณต้องรับผิดชอบ แถมมีหลายครั้งที่ต้องประชุมหลังเลิกงานอีกด้วย นอกจากนี้ถ้าคุณไม่ได้อยู่บ้านคนเดียว มีเด็กหรือผู้สูงอายุอยู่ด้วย หรือไม่ได้มีห้องทำงานส่วนตัว คุณต้องใช้สมาธิอย่างมาก เพราะเด็กหรือผู้ใหญ่บางท่านก็ไม่เข้าใจการ WFH เห็นเรานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ก็เรียกใช้ หรือคุยด้วยตลอด ซึ่งมันก็เครียดอยู่เหมือนกันที่ต้องตั้งสมาธิกับงานตรงหน้า และต้องบริหารจัดการ พร้อมกับต้องปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกในบ้านไปด้วย
อุปกรณ์ในการทำงานก็เป็นอุปสรรคไม่น้อย เพราะเมื่อคอมพิวเตอร์มีปัญหา ประสิทธิภาพในการทำงานก็ถูกบั่นทอนไปเยอะเลย ฉันเคยนำเสนองานผู้บริหารอยู่แล้วเครื่อง Hang ค้างไปเฉย ๆ ก็มี ไมค์เสียงไม่ชัดบ้าง ซึ่งเราก็ไม่รู้ตัวจนกระทั่งไปฟังบันทึกการประชุมที่อัดไว้ ก็ต้องถือเป็นความโชคร้ายแล้วกันที่เครื่องคอมพิวเตอร์ใกล้พังในช่วงนั้นพอดี
แต่ทั้งหมดที่เล่ามายังถือว่าเบามาก เพราะปีถัดมา ความรุนแรงเริ่มไต่ระดับขึ้น หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์ราคาพุ่งสูง เพราะมีการกักตุนสินค้า ตอนนั้นยังไม่ได้มีการให้ฉีดวัคซีน แต่รัฐบาลก็มีการให้ Lockdown ญาติและเพื่อนบางคนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับการเดินทางก็ต้องออกจากงาน คนที่ค้าขายหรือทำธุรกิจก็รายได้ลดลงมาก ก็ต้องหาทางประคับประคองกิจการกันไป ตอนที่ได้ยินข่าวคนรู้จักเสียชีวิตจากโควิด ก็ตกใจและเศร้าใจไปพร้อมกัน เพราะเขาดูแข็งแรง ไม่คิดว่าจะจากไปด้วยโรคนี้
เริ่มได้ข่าวว่ามีญาติและเพื่อนติดเชื้อโควิดต้องโดนกักตัวอยู่เรื่อย ๆ ช่วงนั้นก็กลัวกันไปหมดพยายามไม่ออกไปไหน เพราะในบ้านมีผู้สูงอายุกลุ่มเสี่ยง หลังจากรัฐบาลเริ่มให้ฉีดวัคซีน ก็มีข่าวว่าผู้ได้รับวัคซีนบางรายเสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีนอีก แต่จะไม่ฉีดก็ไม่ได้ ขัดกับนโยบายของที่ทำงาน ฉีดก็เสี่ยง ไม่ฉีดก็เสี่ยง แต่ผลกระทบที่หนักสุดสำหรับฉันมันเกิดขึ้นหลังกลางปี 2565
พ่อเริ่มมีอาการเจ็บคอ หลังจากไปธุระนอกบ้าน ก็เลยตรวจ ATK ให้ ปรากฎว่าขึ้น 2 ขีด และเนื่องจากเป็นผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง จึงต้องพาพ่อไปโรงพยาบาลเพื่อรับยาต้านไวรัส ตอนนั้นผลตรวจของฉันยังไม่พบเชื้อ แต่ในใจก็คิดไว้ว่าน่าจะรอดยาก เพราะที่บ้านเราไม่ได้ social distance เลย ก่อนหน้านี้กินข้าวด้วยกันตลอด โรงพยาบาลให้พ่อกลับมา Home isolation เนื่องจากเตียงเต็ม ฉันย้ายพ่อขึ้นไปอยู่ในห้องชั้นบนเพราะกลัวแม่จะติดโรคไปด้วย
สุดท้าย ด้วยความที่พ่อและพี่ไม่เคร่งครัดในการกักตัวอยู่ในห้อง ไม่ฉีดแอลกอฮอล์ล้างมือ และไม่แยกใช้ห้องน้ำ เราก็ติดโควิดกันยกบ้านจนได้ มันก็พูดยากเพราะระดับความอนามัยของแต่ละคนไม่เท่ากัน ตอนนั้นรู้สึกแย่มากเพราะเราก็ป่วย มีไข้ ไอหนัก แต่ก็ต้องดูแลคนป่วยไปด้วย ที่แย่หนักไปอีกก็คือ แม่ซึ่งเป็นผู้ป่วยติดเตียงต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ต้องเข้าโรงพยาบาล (อยู่ตึกผู้ป่วยโควิด) โดยมีพี่คนดูแลที่ติดโควิดเหมือนกันตามไปเฝ้า แม่ไม่เคยได้ฉีดวัคซีน เพราะหมอบอกว่าเสี่ยงเกินไป หมอให้ยาต้านไวรัสและรักษาตามอาการ
โชคดีมากที่แม่ปลอดภัยได้กลับบ้านหลังรักษาตัวที่โรงพยาบาลได้ 2 สัปดาห์ แต่ก็ได้แผลกดทับกลับมา ต้องมารักษากันต่อที่บ้านจนหาย ฉันต้องขอบคุณพี่คนดูแลแม่มาก ๆ เพราะหลังจากฉันหายจากโควิด ได้ไปเฝ้าแม่เองที่โรงพยาบาล 1 วัน เนื่องจากพี่คนดูแลลากลับบ้าน ซึ่งเขาลาล่วงหน้าก่อนที่พ่อจะติดโควิดอีก ฉันพยายามหาคนมาแทนแล้ว แต่หาไม่ได้เลย การดูแลคนป่วยมันเป็นงานที่หนักมากจริง ๆ โดยเฉพาะถ้าเราเองก็ป่วยอยู่ นอนก็แทบไม่ได้นอน ที่นอนก็เป็นแค่โซฟาเล็ก ๆ ไปอยู่ในห้องเหมือนติดคุก นับถือน้ำใจเขามาก ขอขอบคุณอีกครั้งจากใจ
เหตุการณ์นี้ ฉันคิดว่าทำให้ฉันได้รู้จักโลก รู้จักคนมากขึ้น ความคิด จิตใจ ระเบียบวินัย การคิดถึงส่วนรวม นี่ขนาดแค่ในครอบครัวเล็ก ๆ เรายังควบคุมสถานการณ์ได้ยาก ถ้าระดับชุมชน ระดับโลกมันจะยิ่งยากขนาดไหน และผลกระทบก็อย่างที่เห็น ๆ กันอยู่ในข่าว เข้าใจเลยว่าทำไมบางประเทศต้องใช้มาตรการรุนแรง ก็คนมีหลายประเภท ในสถานการณ์วิกฤตถ้าคุณไม่มีระเบียบ วินัย ไม่คิดถึงส่วนรวม มันก็ยากที่จะหลีกเลี่ยงหายนะ
เมื่อเกิดวิกฤต ทุกคนก็รักตัวกลัวตายทั้งนั้นแหละ แต่การตั้งสติและช่วยกันแก้ไขปัญหามันย่อมดีกว่าการกล่าวโทษกันไปมา การหาสาเหตุไม่ใช่การกล่าวโทษ แต่เป็นเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอย ยังไงก็ตามเรื่องแย่ ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเรา ฉันถือว่ามันเป็นบททดสอบและให้บทเรียนกับเราได้เสมอ ยังไม่รู้ว่าการติดเชื้อโควิดเมื่อปีก่อนจะมีผลกระทบกับร่างกายอย่างไรบ้าง แต่เมื่อเรารอดมาแล้ว ก็ต้องเรียนรู้และใช้ชีวิตต่อไปอย่างไม่ประมาท
โควิดอาจลดระดับความรุนแรงลงแล้ว ยินดีกับผู้ที่รอดจากการติดเชื้อทุกคน แต่ก็อย่าประมาทกันนะ เพราะอนาคตจะมีโรคอะไร หรือเหตุการณ์วิกฤตอะไรเข้ามาเป็นบททดสอบอีกก็ไม่รู้ เรามีหน้าที่แค่เรียนรู้ เตรียมกาย เตรียมใจให้พร้อม รับคลื่นชีวิตระลอกใหม่ที่จะถาโถมเข้ามาอีก ก็เท่านั้น เพราะชีวิตไม่มีทางราบเรียบได้ตลอดอยู่แล้ว
โฆษณา