8 พ.ค. 2023 เวลา 12:35 • หุ้น & เศรษฐกิจ

“Washington Mutual Bank” แบงก์สหรัฐใหญ่ที่สุดที่เคยล้มละลาย

การล้มละลายของ 3 แบงก์สหรัฐฯ อย่าง Silicon Valley Bank, Signature Bank และ First Republic Bank เป็นเหตุการณ์ที่สร้างความวิตกกังวลกับตลาดไม่น้อย เพราะ แต่ละแบงก์ที่ล้มละลายลงไป มีมูลค่าทรัพย์สินตีเป็นเงินไม่น้อย
อย่างกรณีของ First Republic Bank ที่มีทรัพย์สิน(ก่อนล้มละลาย) มากที่สุดในกลุ่ม 3 แบงก์ ก็มีทรัพย์สินคิดเป็นมูลค่าถึงราว 229,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้จะมีมูลค่าสูงขนาดนี้ แต่การล้มของ First Republic Bank ก็ยังไม่ใช่การล้มของแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ
เหตุการณ์การล้มครั้งใหญ่ที่สุดนั้น ต้องย้อนกลับไปในช่วงวิกฤติการเงินโลกปี 2008 ซึ่งมันเกิดขึ้นกับแบงก์ที่มีชื่อว่า “Washington Mutual Bank” ที่มูลค่าทรัพย์สินขณะล้มละลายมากถึง 307,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งก็จะเป็นเรื่องราวที่เราจะนำมาเล่าในวันนี้กันครับ
📌 สาเหตุการล้มของ Washington Mutual Bank
Washington Mutual Bank (WaMu) ถือเป็นแบงก์ที่มีการดำเนินการกิจการในรูปแบบดั้งเดิม (Conservative Bank) หรือก็คือพวกเขาเน้นการทำหน้าที่ “เป็นคนรับฝากเงินและปล่อยเงินกู้”
โดยลูกค้าส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มบุคคลธรรมดาทั่วไป และบริษัทขนาดกลางและเล็ก
ที่น่าสนใจ คือ พอเจาะลึกลงไปในรายละเอียดแล้ว WaMu ปล่อยกู้สินเชื่อบ้าน (ซึ่งเป็นภาคที่รับผลกระทบจากวิกฤติโดยตรงในปี 2008) แค่ 14% ของสินเชื่อทั้งหมด แต่สุดท้ายมันก็นำไปสู่การล้มละลายของแบงก์ได้
โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขนาดความเสียหายมันใหญ่ขึ้นเกิดมาจาก สินเชื่อบ้านจำนวนมากของ WaMu ปล่อยออกไปในรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติมากที่สุด
ประกอบกับ “การล้มละลายของ Investment Bank ยักษ์ใหญ่อย่าง Lehman Brother” ก็ทำให้เกิดความตื่นตระหนกในตลาดการเงิน ผู้คนแห่กันไปถอนเงินจากธนาคาร โดยเฉพาะ ธนาคารที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก
Washington Mutual Bank เป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยหลังการล้มของ Lehman 10 วัน มีคนถอนเงินออกจากแบงก์รวมกันถึง 16,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคิดเป็น 11% ของเงินฝากของ WaMu ทั้งหมด
สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้พวกเขาขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจแต่ละวัน จนต้องถูกเข้ายึดโดยภาครัฐและขายต่อให้ทาง J.P. Morgan ในราคา 1,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดย Kirsten Grind ผู้แต่งหนังสือ The Lost Bank ที่เล่าเรื่องการล้มละลายของ Washington Mutual Bank เคยเขียนบทความลงใน CNBC โดยบอกว่า เบื้องลึกอีกสองเหตุผลที่ทำให้ภาครัฐไม่ยื่นมือเข้ามาอุ้ม
เป็นเพราะว่า “พวกเขาไม่ได้มีขนาดใหญ่ถึงขั้นจะถูกจัดเป็นบริษัท Too Big to Fail” เหมือนอย่างกรณี และอีกอย่างคือ พวกเขาไม่ได้มีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับผู้ออกนโยบายที่วอชิงตัน
📌 ความเหมือนและแตกต่างกับในปัจจุบัน
แม้ผ่านมา 15 ปี การล้มละลายของทั้ง 3 แบงก์ที่พึ่งเกิดขึ้น ก็ยังมีส่วนคล้ายคลึงกับกรณีของ Washington Mutual Bank อยู่
โดยส่วนนั้นก็คือ ปัญหาที่ทำให้แบงก์ที่ล้มละลายไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ในท้ายที่สุด มาจาก
“การขาดสภาพคล่อง” อันถูกเร่งจากความไม่มั่นใจของลูกค้าธนาคารที่แห่ไปถอนเงินกันออกมา
เมื่อ 15 ปีก่อน ความไม่มั่นใจเกิดมาจากปัญหาวิกฤติบ้าน แต่ในรอบนี้ความไม่มั่นใจเกิดมาจากมูลค่าของพันธบัตรที่ธนาคารถืออยู่ ที่มูลค่าทางบัญชีของมันลดลงไปจากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย
ซึ่งตัวมูลค่าทางบัญชีที่ลดลง มันจะไม่ส่งผลต่อธนาคารมากนัก หากพวกเขาไม่จำเป็นต้องขายพันธบัตรพวกนี้ออกไป เพราะพวกเขาก็จะยังได้รับผลตอบแทนเป็นเงินจำนวนเท่ากับอัตราผลตอบแทนที่พวกเขาคาดการณ์ตั้งแต่ซื้อตอนแรกอยู่
เมื่อประกอบกับเชื้อไฟจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เริ่มสูงขึ้น ข่าวการปลดคนงานในภาคเทคโนโลยี และการรับประกันเงินฝากจากภาครัฐที่มีขอบเขตจำกัด
ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกับกลุ่มคนหลายคน แต่หนึ่งกลุ่มคนที่เกิดความวิตกกังวลมากที่สุด คือ กลุ่มสตาร์ทอัพ ซึ่งพวกเขาก็เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของทั้ง 3 ธนาคารที่ล้มละลายในรอบล่าสุด
ด้วยพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจของคนกลุ่มนี้ พวกเขาไม่สามารถเสี่ยงให้เงินทุนของพวกเขาต้องถูกแช่แข็งหรือสูญหายไปกับธนาคารได้ เพราะมันหมายถึงการล้มละลายทางธุรกิจ จึงทำให้พวกเขาแห่ไปถอนเงินสดกันออกมาจากธนาคาร และเปลี่ยนไปฝากธนาคารที่มีขนาดใหญ่กว่าแทน
เมื่อสภาพคล่องธนาคารเริ่มหด พวกเขาก็ถูกบังคับให้ต้องเปลี่ยนพันธบัตรที่ถือให้กลายเป็นเงินสด แต่อย่างที่เราบอกไปว่า มูลค่าทางบัญชีของพวกมันลดลงไปเยอะมากแล้ว และเจตนาในการถือพันธบัตรเหล่านี้ก็มีเพื่อจะลงทุนในระยะยาวกว่านี้ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็เป็นอย่างที่เราเห็นกันในหน้าข่าว
แต่การล้มละลายของแบงก์ทั้ง 3 จะต้องถูกนำมาศึกษาอย่างละเอียดเพิ่มเติมแน่นอน และมันจะกลายเป็นบทเรียนทางนโยบายการเงินในอนาคต ที่เราอาจจะได้เห็นว่า บางเครื่องมือที่เราคิดกันว่าเป็นเครื่องมือที่ดีในปัจจุบัน อาจจะไม่ดีต่อไปในอนาคตก็ได้ และก็อาจจะมีเครื่องมือใหม่ๆ ที่ถูกนำมาใช้เพิ่มเติมอีกก็ได้เช่นกัน…
เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:
โฆษณา