Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
INVENTLY ประวัติศาสตร์ของสิ่งประดิษฐ์
•
ติดตาม
9 พ.ค. 2023 เวลา 03:08 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี
Connecticut Air & Space Center
80 ปี สิทธิบัตรเฮลิคอปเตอร์ของ อิกอร์ ซิกอร์สกี ตอนที่ 2
(ต่อจากตอนที่ 1)
https://www.blockdit.com/posts/6453baef8de35c578ea6bc0c
แม้ว่าเฮลิคอปเตอร์ลำแรกของเขาจะไม่ได้ผล แต่ซิกอร์สกีก็ได้เรียนรู้อย่างมาก ความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนักประดิษฐ์อากาศยานอิสระให้จงได้ และด้วยการสนับสนุนจากทางบ้านที่ฐานะดี อิกอร์ ซิกอร์สกี จึงไม่ต้องทำงานอื่น หันมาทุ่มให้กับการสร้างเครื่องบินที่ออกแบบเองอย่างเดียว ค่อยๆเพิ่มความชำนาญไปทีละขั้น
เลื่อนหิมะติดใบพัดเครื่องบินของซิกอร์สกี หน้าคฤหาสน์ของครอบครัวในเคียฟ ฤดูหนาวปี 1909
ระยะแรกเขาทำกับเพื่อนอีก 2 คน ต่อมาเพื่อนถอนตัวหมดเหลือเขาคนเดียว เริ่มจากสร้างเลื่อนหิมะขับด้วยใบพัดเครื่องบิน ต่อด้วยเครื่องบินปีกสองชั้น S-1 เครื่องบินลำแรกของซิกอร์สกี เป็นแบบใบพัดอยู่ด้านหลัง (pusher) บินไม่ขึ้นเพราะเครื่องยนต์เล็กเกินไป เขาได้ถอดชิ้นส่วนออกมาสร้างลำใหม่ เพิ่มขนาดเครื่องยนต์ที่นำมาจากฝรั่งเศส และเปลี่ยนมาเป็นใบพัดอยู่ด้านหน้าทั้งหมด
S-1 เครื่องบินลำแรกที่ซิกอร์สกีในวัย 21 ปีออกแบบ และบินเองที่เคียฟ
ลำต่อมา S-2 บินขึ้นได้ไกล 600 เมตรในปี 1910 แต่ยังเลี้ยวไม่ได้ นับเป็นเครื่องบินพลเรือนลำที่ 3 ของรัสเซีย เมื่อพบปัญหาเขาก็นำมาปรับปรุงสร้างลำใหม่อีก 3 ลำ บินได้บ้างไม่ได้บ้าง จนกระทั่ง S-6 เครื่องบินปีกสองชั้นใช้เครื่องยนต์ 100 แรงม้า ที่ซิกอร์สกีออกแบบ สร้าง และเป็นนักบินเอง ไม่เพียงบินได้คล่อง ยังทำความเร็วทุบสถิติโลกเกินกว่า 111 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ได้รางวัลชนะเลิศจากนิทรรศการเครื่องบินของกองทัพรัสเซียในปี 1912
S-6 เครื่องบินลำแรกที่ซิกอร์สกีขายได้
ซิกอร์สกีขายเครื่องบิน S-6 ไปได้ 5 ลำ นอกจากหายเหนื่อยกับการลงทุนตลอด 3 ปีแล้ว เขายังได้รับเชิญให้ไปเป็นหัวหน้าวิศวกรออกแบบเครื่องบินขนส่งในบริษัทเครื่องบิน ที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เขาได้เสนอโครงการเครื่องบินขนาดใหญ่หลายเครื่องยนต์เป็นครั้งแรก จากประสบการณ์ที่เคยเจอเครื่องยนต์ดับกลางอากาศเนื่องจากมียุงเข้าไปติดในท่อน้ำมันของคาร์บูเรเตอร์ ถ้ามีหลายเครื่องยนต์ก็จะช่วยกันพยุงได้
ซาร์นิโคลัสที่ 2 กับอิกอร์ ซิกอร์สกี บนเครื่องบิน S-21 "อัศวินแห่งรัสเซีย” ในปี 1913
ซิกอร์สกีใช้เวลาเพียงปีเดียว ก็สร้างผลงานการออกแบบเครื่องบินสี่เครื่องยนต์ S-21 (หรือ C-21 เขียนแบบรัสเซีย) เป็นเครื่องบินที่ทำลายสถิติบรรทุกน้ำหนักมากที่สุดในโลกคือ 4,000 กิโลกรัม ทิ้งห่างสถิติเดิมของเครื่องบินฝรั่งเศสที่ 600 กิโลกรัมอย่างขาดลอย หลังจากเครื่องบินลำแรกของพี่น้องไรท์เพียง 10 ปีเท่านั้น
S-21 "อัศวินแห่งรัสเซีย” ลำนี้สร้างชื่อเสียงให้เขามาก จักรพรรดิรัสเซียมาตรวจดูด้วยตัวเอง และมอบนาฬิกาทองคำ ตรานกสองหัว ให้เป็นรางวัล แต่เครื่องบินใช้งานอยู่ได้เพียงเดือนเดียวก็ถูกทำลายจากอุบัติเหตุ ชิ้นส่วนของเครื่องบินเล็กลำอื่นตกใส่ขณะที่ S-21 จอดอยู่บนรันเวย์
S-22 อิลยา มูโรเมทส์ เครื่องบินทิ้งระเบิดรัสเซียลำแรก
http://www.aircraftinvestigation.info/airplanes/Sikorsky_Ilya_Murometz.html
แค่นั้นไม่เป็นปัญหา ซิกอร์สกีสร้างลำต่อมาคือ Ilya Muromets (S-22) ให้ใหญ่กว่าเดิมอีก แผนการเดิมจะให้เป็นเครื่องบินโดยสารลำแรกของโลก ใช้เครื่องยนต์ 8 สูบ 150 แรงม้า 4 ตัว แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ขึ้นก่อน จึงเปลี่ยนภาระกิจเป็นเครื่องบินทิ้งระเบิดแทน S-22 ถูกผลิตออกมาเกือบร้อยลำ ออกปฏิบัติการที่แนวรบเยอรมันกว่า 400 ครั้งโดนยิงตกไปเพียงลำเดียว
กองกำลังปฏิวัติบุกเข้ายึดวังเครมลิน 1917 (ผลงานของ Konstantin Ivanovich Maximov)
อย่างไรก็ตาม บอลลูนของมงต์โกลฟิเอช่วยลุยส์ที่ 16 ไม่ได้ฉันใด S-22 ก็ช่วยอะไรซาร์นิโคลัสไม่ได้ฉันนั้น
ปลายสงครามโลกในปี 1917 เกิดการปฏิวัติบอลเชวิคขึ้นในรัสเซีย ระบอบซาร์ถูกโค่นล้ม อาชีพที่กำลังรุ่งโรจน์ของซิกอร์สกีต้องสะดุดหยุดลงไปด้วยโดยพลัน ครอบครัวของเขาที่เข้ากับฝ่ายราชวงศ์โรมานอฟมาโดยตลอด ถูกตราหน้าว่าเป็นพวกปฏิกิริยา ต้องแตกแยกไปคนละทิศทาง
ซิกอร์สกี วัย 30 ปีในนิวยอร์ค ปี 1919
แม้ซิกอร์สกีนั้น การเมืองไม่ยุ่ง มุ่งแต่การบิน แต่การเป็นคนโปรดของซาร์ทำให้เข้าไปอยู่ในบัญชีดำ ตกเป็นเป้าถูกเล่นงานอย่างเลี่ยงไม่ได้ เขาหย่ากับภรรยา แล้วหนีออกรัสเซียทางมูร์มันสค์ขึ้นเรืออ้อมทะเลเหนือมาตั้งหลักที่ฝรั่งเศส
ช่วงแรกเขาได้งานออกแบบเครื่องบินรบให้ฝรั่งเศส 1 ลำ แต่เยอรมันยอมแพ้เสียก่อน สงครามยุติลง งบประมาณทางทหารถูกยกเลิก โอกาสในฝรั่งเศสที่บอบช้ำจากสงครามดูไม่สดใสเลย ต้องอพยพอีกครั้งข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปยังอเมริกา
อิกอร์ ซิกอร์สกี กับทีมงาน S-29A ยุคก่อตั้ง ส่วนใหญ่ลี้ภัยมาจากรัสเซียด้วยกัน
ในปี 1919 ซิกอร์สกีมาถึงอเมริกาทางเรือ เข้าเมืองที่นิวยอร์ค ช่วงแรกเขารับงานเป็นครูสอนคณิตศาสตร์ในชุมชนชาวรัสเซียอพยพ เมื่อรวบรวมเงินทุนจากผู้ลี้ภัยรัสเซียด้วยกัน โดยเฉพาะเงินก้อนใหญ่จาก เซอร์เก รัคมานินอฟ วาทยากรชื่อดัง (ภายใน 6 ปีเขาคืนให้ครบหมดทั้งต้นทั้งดอก) ก็ได้เปิดบริษัท Sikorsky Aero-engineering สร้างเครื่องบินขึ้น เมื่อปี 1923 บนพื้นที่ฟาร์มเลี้ยงไก่เดิมในลอง ไอแลนด์ ซึ่งครบรอบ 1 ศตวรรษไปแล้วในปีนี้
S-29A กับฉากสงครามโลกครั้งที่ 1 ในภาพยนตร์ปี 1930
เขานำผลงานเดิมที่เคยสร้างชื่อมาทำต่อ คือออกแบบเครื่องบินขนาดใหญ่ รุ่นแรกคือ S-29A เครื่องบินยักษ์สองเครื่องยนต์ ใช้ระบบสร้างเสร็จก่อนขาย แต่ยังไม่มีคนมาซื้อ บริษัทต้องนำมาหารายได้จากการขนส่งสินค้าข้ามประเทศอยู่หลายปี จนมีลูกค้าเป็นนักธุรกิจวงการบันเทิงและถูกใช้ในฉากภาพยนตร์ “นางฟ้าซาตาน” (Hell’s Angels 1930) ของโฮเวิร์ด ฮิวจ์สด้วย
เรือบิน Sikorsky S-42 "Pan American Clipper" ผ่านสะพานโกลเดนเกทที่กำลังก่อสร้าง
ธุรกิจของซิกอร์สกีเริ่มมั่นคง ผลงานเด่นของเขาในยุคนั้นคือเครื่องบินทะเล ที่มีทุ่นลอยสำหรับลงจอดบนผิวน้ำ เนื่องจากในเวลานั้นยังมีสนามบินไม่กี่แห่ง ทำให้สามารถเข้าถึงตลาดการบินได้กว้างขวางขึ้น คนสมัยก่อนถึงได้เรียกเครื่องบินว่า “เรือบิน”
ภายในห้องโดยสารของแพนแอม S-40 “Flying Clipper” (panam.org)
ซิกอร์สกีขายเรือบิน ให้ลูกค้ารายใหญ่คือสายการบินแพนแอม ไปได้มากกว่า 100 ลำ เช่นรุ่น S-38 จนถึงรุ่น S-43 เมื่อเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจตกต่ำในปี 1929 ซิกอร์สกีรับข้อเสนอซื้อกิจการ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท United Aircraft ในเครือโบอิง โดยที่เขายังรับหน้าที่หัวหน้าทีมวิศวกรรม
เรือบินซิกอร์สกี Clipper ที่สนามบินน้ำในไมอามี ปี 1930-1945
ซิกอร์สกีไม่ต้องกังวลเรื่องธุรกิจ ใช้เวลากับการออกแบบเครื่องบินได้เต็มที่ เขามิได้ละทิ้งความมุ่งหมายเดิมที่จะทำให้การบินเฮลิคอปเตอร์เป็นผลสำเร็จให้ได้จริง เขายังเฝ้าติดตามความก้าวหน้าของนักประดิษฐ์อื่นๆ และวิทยาการที่เกี่ยวข้องก็เริ่มจะพร้อมแล้วสำหรับสิ่งประดิษฐ์ในจินตนาการของเขา
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลสหรัฐอเมริกาเองก็เริ่มสนใจนวัตกรรมการบินสำหรับใช้งานทางทหารมากขึ้น และได้ให้ทุนพัฒนา “เฮลิคอปเตอร์” มาตั้งแต่ปี 1922 ผู้ที่ได้รับทุนนั้นก็มิใช่ใครอื่น กลับเป็นชาวรัสเซียอพยพอดีตผู้ร่วมงานของซิกอร์สกี สมัยออกแบบเครื่องบินทิ้งระเบิดให้กับระบอบซาร์นั่นเอง
“หมึกยักษ์บิน” หรือควอดคอปเตอร์ 4 โรเตอร์ในปี 1922
จอร์จี โบเทซัท (1882–1940) จบปริญญาเอกทางวิศวกรรมการบินจากมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ เคยเรียนที่คาร์คีฟในยูเครนเหมือนซิกอร์สกีด้วย เมื่อลี้ภัยมาอเมริกาก็ได้งานเป็นอาจารย์ที่เอ็มไอที และโคลัมเบีย มีผลงานตีพิมพ์จำนวนมาก สนิทสนมกับโทมัส เอดิสันและคนดังๆหลายคน
ซิกอร์สกีเองก็เคยปรึกษาตัังแต่ตอนอยู่รัสเซีย และนับถือว่าเก่งทางทฤษฎีพอๆกับนิโคไล จูโคฟสกี
แต่ผลงานเฮลิคอปเตอร์ของ ศ.ดร.โบเทซัท ไม่เหมือนการตีพิมพ์ การออกแบบ ฮ. ขนาดยาว 20 เมตร ที่ดูเหมือนควอดคอปเตอร์โดรนสมัยนี้มากกว่า คือใช้โรเตอร์ขนาด 8 เมตร ถึง 4 แกนวางเป็นรูปกากบาท น้ำหนักรวมกว่า 1600 กิโลกรัม จนได้ฉายาว่า “หมึกยักษ์บิน” (flying octopus)
ในการทดสอบที่โอไฮโอ ปี 1922 ฮ. หมึกยักษ์ ลอยตัวขึ้นได้ไม่เกินความสูง 2 เมตรเพียง 1 นาที ไม่เป็นไปตามที่คุย แม้จะใช้เครื่องยนต์เบนท์ลีย์ขนาดมหึมาถึง 250 แรงม้าก็ตาม (แต่เอดิสัน ชื่นชมว่าเป็นความสำเร็จแล้ว) กองทัพยกเลิกการพัฒนาและเข็ดไปอีกนาน ปัญหาสำคัญคือการควบคุมที่ยุ่งยาก
ฮ.ของโบเทซัทได้รับสิทธิบัตรด้วย ในปี 1930
https://patents.google.com/patent/US1749471A/
สิทธิบัตรเฮลิคอปเตอร์ฉบับแรกของซิกอร์สกี ได้รับปี 1935
สิ่งที่อิกอร์ ซิกอร์สกี ได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของผู้อื่นคือ เฮลิคอปเตอร์ควรจะมีโครงสร้างน้อยชิ้นที่สุด การออกแบบที่ซับซ้อนจะทำให้ควบคุมยาก และเกิดปัญหาอื่นตามมาอีก เช่นการสั่นสะเทือน
แนวคิดหลักของการออกแบบ ฮ. ของเขา คือมีโรเตอร์หลักเพียงชุดเดียว ที่รวมศูนย์การควบคุมเอาไว้ โดยมีโรเตอร์หาง (tail rotor) ขนาดเล็กติดตั้งที่ระยะเกินกว่าความยาวใบพัดหลักเล็กน้อย ทำหน้าที่สร้างแรงบิดมาหักล้าง (Anti-torque) แรงบิดปฏิกิริยาจากโรเตอร์หลัก เขาเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้การควบคุม ฮ. ได้ง่ายกว่าแบบโรเตอร์หลักหลายแกน หมุนสวนทางกันมาก
(ฮ. แบบ coaxial rotor ที่ผลิตจำนวนมากรุ่นแรก กลับเป็น Kamov 15 จากสหภาพโซเวียต ในปี 1952 รวมทั้งยาน Ingenuity สำรวจดาวอังคารของนาซา ก็เป็นเฮลิคอปเตอร์แบบ coaxial rotor)
โรเตอร์หางทำหน้าที่สร้างสมดุลการหมุนรอบแกนตั้งของตัว ฮ.
จากตัวอย่างในรูปซึ่งมองจากด้านบน ใบพัดหลักของ ฮ. เป็นแบบ single rotor หมุนตามเข็มนาฬิกา (สีแดง) จะเกิดแรงบิดปฏิกิริยา (reactional torque) พยายามทำให้ตัว ฮ. หมุนรอบตัวเองไปในทิศตรงข้าม (สีเขียว) คือทวนเข็ม
จึงต้องสร้างสมดุลโดยการให้โรเตอร์ท้ายเป่าอากาศไปทางขวา เพื่อให้เกิดแรงขับข้างที่โรเตอร์ท้าย (side thrust สีเหลือง) ดันหางไปทางซ้าย หรือเกิดแรงบิดหักล้าง (anti-torque) จากโรเตอร์ท้ายตามเข็มนาฬิกา ขึ้นมาต้านกับแรงบิดปฏิกิริยาจากโรเตอร์หลัก ทำให้เกิดสมดุลหยุดการหมุนได้
โรเตอร์หาง ยังทำหน้าที่ควบคุมการเลี้ยวในแนวราบ (yaw control) ได้อีกด้วย
ซิกอร์สกีได้ยื่นจดสิทธิบัตรเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้แนวคิดนี้ รวมทั้งกลไกการควบคุมอื่นๆ ไว้ตั้งแต่ปี 1931 และได้รับสิทธิบัตรเมื่อปี 1935 แต่ยังไม่ได้สร้างขึ้นมา เขาได้ซุ่มพัฒนาการออกแบบ ฮ. อยู่หลายปี เมื่อว่างจากการสร้างเรือบินที่เป็นงานหลัก แนวคิดการออกแบบหลายอย่างของ ฮ. ลำแรกของเขาที่ทดสอบบินในปี 1939 ก็มีกล่าวถึงไว้แล้วในสิทธิบัตรปี 1935 ฉบับนี้ เพียงแต่มีรายละเอียดชิ้นส่วนแตกต่างกัน
แม้โครงสร้าง ฮ. รูปแบบนี้กลายเป็นมาตรฐานไปแล้วในปัจจุบัน แต่ในยุค 1930 นั้นยังไม่ปรากฏเฮลิคอปเตอร์ ที่ใช้โรเตอร์หลักตัวเดียว และมีโรเตอร์หางสร้างแรงบิดหักล้างแบบนี้ ทำการบินมาก่อน
มีแต่เพียงภาพสเกตช์เฮลิคอปเตอร์พลังไอน้ำ ที่ฟริทซ์ และวิลเฮล์ม ฟอน อาเคนบาค ออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 1874 แต่ไม่เคยสร้างขึ้นจริง รูป ฮ. ของอาเคนบาคนี้ยังแสดงถึงโรเตอร์หางแบบมีเปลือกหุ้ม (Fenestron) ซึ่งเพิ่งจะมีการผลิตจริงในปี 1968 อีกด้วย
แบบจำลองเฮลิคอปเตอร์ที่มีโรเตอร์หาง ถูกออกแบบไว้ตั้งแต่ปี 1874
(
https://www.christies.com/en/lot/lot-5480158
)
ในภายหลังได้พบหลักฐานว่า เคยมีการสร้างเฮลิคอปเตอร์ที่ใช้โรเตอร์หางสร้างสมดุล ขึ้นแล้วในเวลาใกล้เคียงกับสิทธิบัตรฉบับแรกของซิกอร์สกี คือ ฮ. ทดลองของสหภาพโซเวียต รุ่น TsAGI-1EA ผลงานของ บอริส ยูเรียฟ และอเลกเซ เคเรมูคิน ทำการทดสอบบินในปี 1932
ยูเรียฟนั้นเป็นทหารผ่านศึกเกิดปีเดียวกับซิกอร์สกี และได้ศึกษาวิศวกรรมการบินจาก นิโคไล จูโคฟสกี ปรมาจารย์ทางอากาศพลศาสตร์ที่มอสโก
ต้นแบบเฮลิคอปเตอร์โซเวียตของยูเรียฟ-เคเรมูคิน (1930-1934)
TsAGI-1EA นั้นไม่เพียงมีโรเตอร์หาง 1 คู่ ยังมีโรเตอร์หัวอีก 1 คู่เพื่อหักล้างแรงบิดระหว่างกัน โดยมีโรเตอร์หลักตัวเดียวเหมือนของซิกอร์สกี สามารถบินได้นานกว่า 10 นาทีที่ระดับความสูง 600 เมตร
แต่ในการบินทดสอบครั้งต่อมา เครื่องเกิดสูญเสียการควบคุมและตกสู่พื้นจนพังยับเยิน เคเรมูคิน ที่เป็นนักบินเองนั้นปลอดภัย ทำให้การพัฒนาต้องหยุดชะงักไปหลายปี ทั้งทางโซเวียตและซิกอร์สกีน่าจะต่างคนต่างพัฒนาโดยไม่รู้ข้อมูลของกันและกันมาก่อน โดยเฉพาะในโซเวียตยังไม่มีระบบสิทธิบัตรเลยด้วยซ้ำ
อีกรายหนึ่งที่มีโรเตอร์ระนาบตั้งเพื่อสร้างสมดุลด้านข้าง คือ ฮ. “หมายเลข 2” ของ เอเตียน โอมิเชน ชาวฝรั่งเศส ในรูปแบบควอดคอปเตอร์มีโรเตอร์หลักถึง 4 แกนคล้ายกับของโบเทซัท ทดสอบในฝรั่งเศส ตั้งแต่ปี 1924 ทำลายสถิติบินไกลขณะนั้น แต่ด้วยขนาดที่ใหญ่โตเทอะทะจึงไม่อาจนำมาใช้งานจริงได้
เฮลิคอปเตอร์หมายเลข 2 ของ เอเตียน โอมิเชน ติดโรเตอร์ด้านข้างด้วย
ในปี 1938 ผู้บริหาร United Aircraft แจ้งแก่ซิกอร์สกีว่า ตลาดเรือบินเริ่มชะงัก เมืองใหญ่ๆล้วนสร้างสนามบินกันหมดแล้ว สายการบินต่างๆ หันไปซื้อเครื่องบินที่มีระบบลงจอดที่ดีกว่าจากคู่แข่งแทน Sikorsky Aircraft จะต้องถูกปิดตัวลง และหันไปเน้นผลิตเครื่องยนต์ Pratt and Whitney ที่ทำรายได้หลักแทน ซึ่งมีลูกค้าเครื่องยนต์รายใหญ่ เป็นคู่แข่งกับเรือบินของเขาอยู่ด้วย
ซิกอร์สกีไม่ขัดข้อง แต่ขอเสนอแผนพัฒนาเฮลิคอปเตอร์แทน United เห็นด้วยและให้งบมา 30,000 ดอลลาร์ เทียบเป็นมูลค่าปัจจุบันราวห้าแสนดอลลาร์เท่านั้น บริษัท Sikorsky ถูกควบรวมเข้ากับ Vought Aircraft จัดตั้งเป็น Vought-Sikorsky Aircraft ตั้งอยู่ที่รัฐคอนเนคติคัท
ขณะนั้น Fw-61 ผลงาน ฮ. แบบโรเตอร์คู่ของไฮน์ริช ฟอคเกอ (1936) ในเยอรมันเริ่มเป็นที่รู้จัก เครื่องยนต์ลูกสูบสำหรับอากาศยานรุุ่นใหม่แบบซุเปอร์ชาร์จ ก็มีอัตรากำลังเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า น่าจะได้เวลาแล้วที่จะสะสางงานค้างเก่าเมื่อ 30 ปีก่อนให้สำเร็จ
VS-300 ระหว่างการสร้าง ในโรงเก็บเครื่องบิน ก่อนวันทดสอบ 1 สัปดาห์
ขณะเดียวกัน ความสำเร็จของเฮลิคอปเตอร์เยอรมันกระตุ้นให้อเมริกาต้องพัฒนายานบินปีกหมุนอย่างเร่งด่วน ในปี 1938 นั้น สภาผู้แทนสหรัฐได้ผ่านกฎหมาย “ดอร์ซีย์-โลแกน” จัดสรรทุนวิจัย 3 ล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนนักประดิษฐ์เฮลิคอปเตอร์อย่างจริงจัง เพื่อเตรียมพร้อมไว้สำหรับภารกิจทางทหาร รวมทั้ง ฮ. แบบใหม่ของซิกอร์สกีก็เข้าข่ายด้วย แต่ต้องแสดงศักยภาพให้เห็นก่อน
ทีมงานของเขาเตรียมตัวไว้ล่วงหน้าอยู่แล้วหลายปี จึงสร้างเฮลิคอปเตอร์ต้นแบบลำแรก VS-300 (Vought-Sikorsky) ได้ภายในไม่ถึงครึ่งปี มีชื่อรหัสส่วนตัวว่า S-46 หรือผลงานลำดับที่ 46 ของซิกอร์สกี
ในวันที่ 14 กันยายน 1939 อิกอร์ ซิกอร์สกี ในหมวกสักหลาดประจำตัว ทำการทดสอบ ฮ. รุ่น VS-300 ของ Vought-Sikorsky เป็นครั้งแรก ที่โรงงานของบริษัท เมืองสแตรทฟอร์ด รัฐคอนเนคติคัท โรเตอร์หลักเป็นแบบแกนเดี่ยว สามใบพัด และมีโรเตอร์หางหนึ่งใบพัด ทั้งสองโรเตอร์ขับด้วยเครื่องยนต์ตัวเดียวกันขนาด 75 แรงม้า
ก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ กองทัพนาซีบุกเข้ายึดโปแลนด์แบบสายฟ้าแลบ สงครามใหญ่ระเบิดขึ้นในยุโรปแล้วอีกครั้ง คู่ขนานไปกับการแข่งขันกันพัฒนาเครื่องบินปีกหมุนในอเมริกา
อิกอร์ ซิกอร์สกี บินทดสอบ VS-300 เวอร์ชันแรก ยังต้องผูกเชือกไว้กับพื้น
เฮลิคอปเตอร์ของซิกอร์สกีไม่ได้มีลักษณะเด่นที่โรเตอร์หางอย่างเดียว ยังมีคุณสมบัติพิเศษอื่นๆ ที่ทำให้เป็น ฮ. ที่ควบคุมการบินได้จริงอีกด้วย เช่นการควบคุม collective และ cyclic pitch ซึ่งซิกอร์สกีได้เลือกนำมาผสมผสานกันอย่างลงตัว จนนำไปสู่เฮลิคอปเตอร์รุ่นแรกที่มีการผลิตจำนวนมาก และวิวัฒนาการมาเป็นมาตรฐานการออกแบบสำหรับเครื่องบินปีกหมุนที่ทั่วโลกรู้จักกันดีในปัจจุบัน
(มีต่อตอนที่ 3 ตอนจบ)
https://www.blockdit.com/posts/64639337fb0c81030954aff5
แหล่งอ้างอิง
James Chiles, “The God Machine: From Boomerangs to Black Hawks: The Story of the Helicopter”, Bantam, September 30, 2008
https://sikorskyarchives.com
ชีวประวัติของอิกอร์ ซิกอร์สกี
เยี่ยมชม
youtube.com
Igor Sikorsky - Father of the Helicopter
Igor Sikorsky, born in Kiev in 1889, was the engineer responsible for the creation of the modern helicopter, multi - engine plane, and amphibious plane. Igor...
วิดีโอการทดสอบ ฮ. ยุคแรก รวมทั้งของโซเวียต เยอรมันและ VS-300
เยี่ยมชม
youtube.com
America Beats Germany - Vought-Sikorsky VS-300
Aviation pioneer Igor Sikorsky’s decades-long dream of building a helicopter finally paid off in 1938, when he convinced the United Aircraft executives to le...
#ซิกอร์สกี
#เฮลิคอปเตอร์
#ประวัติศาสตร์อากาศยาน
เทคโนโลยี
ประวัติศาสตร์
2 บันทึก
6
1
2
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2024 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย