9 พ.ค. 2023 เวลา 05:05 • สิ่งแวดล้อม

Carbon Tax เมื่อโลกไม่ยุติธรรม

ในขณะที่ปัญหาภาวะโลกร้อนกำลังเป็นประเด็นร้อน ส่วนประเทศไทย คนก็บ่นเรื่องอากาศร้อนจนแทบตับแตก น้ำก็ร้อนจนแทบต้มมาม่าได้นั้น โลกจึงหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาก๊าซเรือนกระจก และเห็นว่าเราควรตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจก โดยเริ่มมาตั้งแต่ข้อตกลงโตเกียวมาตั้งแต่ปี 2005 ที่มุ่งเน้นให้ชาติที่พัฒนาแล้วลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ไม่เป็นผลมากนัก
ส่วนข้อตกลงปารีสในปี 2015 ที่ตั้งใจควบคุมอุณหภูมิของโลกไม่ให้สูงเพิ่มขึ้นเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยรวมเอาประเทศกำลังพัฒนาเข้ามาด้วย แต่ประเทศต่าง ๆ กลับไม่ได้ทำอะไรจริงจังมากนัก โดยเฉพาะประเทศสหรัฐอเมริกา ผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งกลับถอนตัวในปี 2017 เสียด้วยซ้ำ
จนในการประชุม COP25/26/27 ในปี 2019/2021/2022 จึงเริ่มมีความเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น แต่กลับกลายเป็นว่า มาตรการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนั้นกลับขาดความยุติธรรม
ตั้งแต่ยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรม ประเทศที่ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่คือประเทศที่พัฒนาแล้วในปัจจุบัน ซึ่งปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นจำนวนมากในอดีต และในปัจจุบันก็มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อประชากรอยู่ในระดับที่สูงกว่าประเทศกำลังพัฒนามาก
แทนที่จะกำหนดเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นหน้าที่หลักของชาติที่พัฒนาแล้ว หรืออย่างน้อยก็ควรกำหนดโควต้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นไปตามสัดส่วนของประชากร ข้อตกลงหลัก ๆ กลับเป็นการลดการปล่อยให้ได้ 45% จากระดับที่ปล่อยในปี 2010 ให้ได้ภายในปี 2030 ฟังดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนยุติธรรม แต่กลายเป็นว่าผู้ปล่อยมากอย่างชาติที่พัฒนาแล้วกลับสบายกว่ามาก เพราะเริ่มต้นจากฐานที่สูง
ยิ่งไปกว่านั้น ชาติที่พัฒนาแล้วอย่างกลุ่มประเทศยุโรปที่เอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาโลกร้อน ยังพยายามนำเรื่องของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอยู่ในกฎ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เพื่อเป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าอีกด้วย
1
จริงอยู่ถึงแม้ใน COP27 จะได้มีการพูดคุยกันถึงมาตรการการชดเชยประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน และมีการก่อตั้งกองทุน Global Shield และมาตรการการช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้มีความมั่นคงทางพลังงาน และหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ก็ยังห่างไกลกับความจำเป็นไปมาก
ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาที่มีการใช้พลังงานมาก อีกทั้งยังเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับต้น ๆ ของโลก จึงหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านี้ได้ลำบาก ในช่วงต้นนี้ ถึงแม้รู้ดีว่ากฎมันไม่ได้ยุติธรรม บริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ของไทยก็คงมีการบ้านที่ต้องทำอย่างหนัก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม มิเช่นนั้น การส่งออกของไทยคงมีปัญหาเป็นแน่
โฆษณา