9 พ.ค. 2023 เวลา 09:31 • ประวัติศาสตร์

รู้จัก โด๋ยเม้ย (Đổi Mới) นโยบาย ที่พลิกเศรษฐกิจเวียดนามสู่ดาวรุ่ง

รู้จัก โด๋ยเม้ย (Đổi Mới) นโยบาย ที่พลิกเศรษฐกิจเวียดนาม สู่ดาวรุ่ง
หนึ่งในอาเซียนที่เป็นดาวรุ่งพุ่งแรงในขณะนี้ คือ เวียดนาม
ซึ่ง ในปี 2022 เวียดนาม มีเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วที่สุดในภูมิภาคถึงกว่า 8%
โดยเวียดนามตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่า จะเป็นประเทศที่มีรายได้กลางสูง (GDP Per Capita) ภายในปี 2030 และมีรายได้ต่อหัวสูงเป็นระดับสูง ภายในปี 2045
ทั้งที่ถ้ามองย้อนกลับไปในปี 1975 ปีที่ไซง่อนแตก
รายได้ประชาชาติของเวียดนามอยู่ที่ 200-300 ดอลลาร์
ขนาดเศรษฐกิจทั้งประเทศอยู่ที่หลัก 10,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น
อะไร คือ จุดพลิกผันจากประเทศ War Torn Country หรือถูกฉีกขาดด้วยสงคราม ที่ยืดเยื้อกว่า 20 ปี พลิกฟื้นมาเป็นดาวรุ่งในวันนี้
กุญแจดอกสำคัญ คือ โด๋ยเม้ย (Đổi Mới)
 
ก่อนจะเฉลยว่า โด๋ยเม้ย (Đổi Mới) คือ อะไร
ย้อนไปในยุคที่เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส มายาวนาน
ก่อนที่เวียดนามจะเริ่มมีความหวัง ฝรั่งเศสจะปลดปล่อยพวกเขาเป็นประเทศอิสระตอนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
 
แต่กลายเป็นว่าฝรั่งเศสให้เอกราชแค่กับกัมพูชา และ สปป.ลาว ยกเว้นเวียดนาม
ทำให้กองกำลังปลดแอกเวียดนาม ภายใต้การนำชื่อ “เวียดมินห์” นำโดยโฮจิมินท์ และผู้บัญชาการทหารอีกคน ต้องเปิดศึกไล่เจ้าอาณานิคมออกไป
ในที่สุด​สามารถผนึกศึกเอาชนะฝรั่งเศสได้เด็ดขาดในปี 1954 ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู ซึ่งอยู่ตรงตะเข็บชายแดนระหว่างสปป.ลาวและเวียดนาม
ในเวลานั้น แทนที่เวียดนามจะได้เอกราช และพัฒนาประเทศตัวเอง
กลายเป็นว่าฝรั่งเศสเดินเกมในประชาคมนานาชาติ นำเรื่องของเวียดนามเข้าสู่การประชุม Conference Of Geneva
โดยที่ประชุม มีมติให้เวียดนามเป็นเอกราช แต่ต้องถูกแบ่งออกเป็นเวียดนามเหนือและใต้ ภายใต้เส้นขนานหมายเลข 17
เวียดนามใต้ปกครองด้วย 2 ตระกูล คือ ตระกูลเหงียน และ ตระกูลโง
โง อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหรัฐ
ขณะที่เวียดนามเหนือ เลือกอุดมการณ์สังคมนิยมคอมมิวนิสต์
ท่ามกลางบรรยากาสสงครามเย็นเวลานั้น ทำให้ประเทศเวียดนามต้องอยู่ภายใต้สงครามเวียดนามที่ยืดเยื้อถึง 19 ปี ผ่านมาถึง 5 รัฐบาลของสหรัฐ
จนสุดท้าย สหรัฐต้องยอมแพ้ เมื่อเวียดกงยึดไซง่อน ของเวียดนามได้ในปี 1975
 
ในปี 1976 เวียดนามกลายมาเป็นรัฐเอกราชหนึ่งเดียว
การกลับมาของประเทศที่ถูกทำลายโดยสงครามมาร่วม 20 ปีไม่ง่ายเลย
บอกกับนโยบายสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ ทุกอย่างเป็นการวางแผนจากส่วนกลาง
เอกชนประกอบธุรกิจไม่ได้ เพราะไม่อนุญาตให้ถือครองทรัพย์สินส่วนบุคคล
นอกจากนี้ การปฏิบัติการทางการทหาร ซึ่งเวียดนามส่งกำลังพลไปบุกยึดกัมพูชา ทำให้เศรษฐกิจเวียดนามขับเคลื่อนไม่ได้
ในแง่การค้าระหว่างประเทศ ช่วงปี 1978-1991 เวียดนามได้เข้าร่วมเครือข่ายเศรษฐกิจ The Council for Mutual Economic Assistance
ซึ่งเป็นการรวมตัวของรัฐบริวารของโซเวียต ด้แก่ สหภาพโซเวียต เยอรมันตะวันออก โปแลนด์ บัลแกเรีย โรมาเนีย เช็กโกสโลวาเกีย อัลบาเนีย คิวบา ฮังการี มองโกเลีย​ และ เวียดนาม
ซึ่งรวมกันแล้วถือว่าเป็นเค้กก้อนที่เล็กมากของเศรษฐกิจโลก
ซ้ำร้าย เวียดนามยังถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐฯและเวทีโลก ในฐานะผู้รุกรานกัมพูชา
ทำให้เวียดนามไม่มีทางออกในการพัฒนาเศรษฐกิจ
หลังเวียดนามเปิดประเทศได้ 8 ปี
ในปี 1984 เศรษฐกิจมีขนาดเล็กมาก ประมาณ 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบกับปัจจุบัน ประมาณ 250,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
รายได้ประชากรอยู่ที่ 200-300 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ด้วยลักษณะภูมิประเทศที่มีชายฝั่งยาว 3,000 กิโลเมตร ทำให้เวียดนามเจอภัยธรรมชาติต่อเนื่อง ผลผลิตทางการเกษตรที่แทบจะเป็นที่พึ่ง 1 เดียวก็มีจำกัด
แถมยังเจอวิกฤตเงินเฟ้อ 700% ในปี1984
มาถึงปี 1986 เล สวน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ ถึงแก่อสัญกรรม
และเปลี่ยนผู้นำใหม่เป็น เจื่อง จิญ พร้อมตั้งเลขาธิการพรรคคนใหม่ คือ เหงียน วัน ลิญเป็นผู้นำสายปฏิรูป
โดยมีการพลิกนโยบายครั้งสำคัญ และมีการเปิดแผนปฏิรูปในเชิงเศรษฐกิจที่มีชื่อว่า โด๋ยเม้ย (Đổi Mới) แปลตรงตัวว่า สร้างสรรค์สิ่งใหม่
เปลี่ยนเศรษฐกิจจากสังคมนิยมไปสู่แบบตลาด
ใจความสำคัญของโด๋ยเม้ย คือ ยกเลิกการวางแผนเศรษฐกิจจากส่วนกลาง อนุญาตให้ภาคการเกษตรสามารถค้าขายกับเอกชนได้ แทนที่จะต้องผ่านรัฐอย่างเดียว
อนุญาตให้เอกชนประกอบกิจการของตัวเองได้ ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กของเวียดนามเริ่มต้นตั้งธุรกิจ
1 ปีถัดมา รัฐบาลเวียดนามได้มีการตรากฎหมายการลงทุนต่างประเทศในเวียดนาม เพื่อดึง FDI หรือการลงทุนจากต่างประเทศโดยตรงเข้าเวียดนาม
ปี 1990 ตรากฎหมายธุรกิจเอกชน รวมถึงกฎหมายระดมทุน เพื่อปูพื้นฐานสู่การตั้งตลาดทุนของเวียดนาม และให้ธนาคารโลกเข้าไปจับระบบการปฏิรูปการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจของประเทศ
ปี 1992 ความตึงเครียดจากสงครามเย็นผ่อนคลาย เวียดนามยกระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน เข้าสู่ระดับปกติหลังจากมึนตรึงกันมาเป็นทศวรรษ
ปี 1996 เวียดนามมีการจดทะเบียนบริษัททั้งหมด 8,900 แห่ง บทบาทของเอกชนในภาคบริการ ปรับตัวจาก 41% เป็น 76%
และมีระบบให้เมืองต่างๆ บริหารเศรษฐกิจในเมืองของตัวเองได้มากขึ้น เพื่อให้เมืองต่างๆ แข่งขันกันดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ถือเป็นการวางรากฐานระบบเศรษฐกิจของแต่ละเมือง ซึ่งเติบโตได้จากการลงทุน
เช่น เมืองหวิญฟุก (Vĩnh Phúc) เมืองบนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำแดง ทางภาคเหนือของประเทศเวียดนาม และ เมืองบิ่ญถ่วน (Bình Thuận) อยู่ไม่ไกลจากนครโฮจิมินห์
จากวันนั้นสู่วันนี้ ผู้ประกอบการเวียดนามเติบโตอย่างรวดเร็ว
40% ของเศรษฐกิจขับเคลื่อนด้วย SMEs ส่วนบริษัทที่ใหญ่ที่สุดอย่าง Vingroup เติบโตอย่างรวดเร็วไปไกลระดับโลก ปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 5% ของ GDP เวียดนามทั้งประเทศ
จุดที่น่าสนใจคือ แม้ในเชิงการเมือง เวียดนามยังเป็นสังคมนิยม แต่ในเชิงเศรษฐกิจต้องยอมรับว่าโด๋ยเม้ย คือ จุดเริ่มต้นสำคัญที่พาเศรษฐกิจเวียดนามมาถึงวันนี้
ที่มา : | WEALTH HISTORY EP 23
โฆษณา