9 พ.ค. 2023 เวลา 12:51 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์

ทำไมเราถึงดูหนังเรื่องเดิมซ้ำๆ ?

5 รอบสำหรับ The Lord of the Rings ทั้งสามภาค
3 รอบสำหรับ Harry Potter ทั้งแปดภาค
และ 10 รอบสำหรับหนังเรื่อง 2012
จำนวนรอบทั้งหมด หมายถึงจำนวนครั้งที่ผมดูหนังพวกนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แม้จะรู้ว่าทุกอย่างในเรื่องก็ยังคงเหมือนเดิมและตอนจบก็ไม่เคยเปลี่ยนไป
แต่ผมก็เลือกที่จะดูมันซ้ำไปซ้ำมาเหมือนเดิม
ก็ไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายหรือมีกฏหมายข้อไหนที่ห้ามเราดูหนังเรื่องเดิมซ้ำอีกสักสี่ห้ารอบ เพราะหากเทียบกับมันก็ไม่ได้ต่างอะไรกับการกินข้าวมันไก่อย่างเดียวเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ด้วยสาเหตุที่ว่า “ก็เพราะมันอร่อย” และแน่นอนเราก็สามารถอธิบายการดูหนังเรื่องเดิมซ้ำๆได้เช่นกันว่า “ก็เพราะเราชอบ”
ซึ่ง..ถ้าหากว่าทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของมนุษย์คือ “เวลา” ก็น่าสนใจที่ว่าแค่ความชอบอย่างเดียวมันอาจจะไม่เพียงพอ ? ที่ทำให้เราต้องเจียดเวลาอันมีค่าถึงสองชั่วโมง เพื่อใช้ในการดูหนังเรื่องเดิมซ้ำๆ ทั้งๆที่รู้เนื้อเรื่องและตอนจบของมันอยู่แล้ว ?
แล้วทำไมเราถึงดูหนังเรื่องเดิมซ้ำๆ?
ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า “การทำอะไรซ้ำๆเดิมๆ” ก่อนในที่นี้คือการทำสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วให้เกิดขึ้นอีกครั้งนึงโดยต้องไม่เป็นการทำให้เกิดสิ่งใหม่ๆขึ้นด้วย โดยนักจิตวิทยาแบ่งลักษณะของ “การทำอะไรซ้ำๆ” ออกเป็น 4 ประเภท
1.นิสัย-เป็นการทำซ้ำๆแบบอัตโนมัติที่เกิดจากทำเป็นประจำต่อเนื่องจนเกิดเป็นนิสัย เช่น การวิ่งออกกำลังกาย การรดน้ำต้นไม้ การเก็บที่นอน
2.การเสพติด-เป็นการทำซ้ำๆที่ที่เกิดจากสิ่งเร้าภายนอกมาควบคุมเราให้เกิดการทำซ้ำ อย่างเช่น การสูบบุหรี่ การเล่นเกมส์
3.พิธีกรรม-เป็นการทำซ้ำๆที่เกิดจากวัฒนธรรมหรือศาสนา ออกแนวเป็นการแสดงสัญลักษณ์อะไรบางอย่างมากกว่า เช่น การสวดมนต์ก่อนนอน การเข้าโบสถ์ของคริสต์ในวันอาทิตย์เป็นประจำ
4.ความรู้สึก-ข้อนี้เป็นการทำซ้ำๆที่เกิดจากความรู้สึกภายในจิตใจ เพราะรู้สึกว่านี่คือพื้นที่ทางจิตใจที่ “ปลอดภัยแล้ว” ถึงแม้มันจะแย่ แต่เราก็ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงอะไรอีก เพราะกลัวที่จะสูญเสียความ “ปลอดภัย” จึงเกิดการทำซ้ำๆที่จะช่วยรักษาความรู้สึกนี้ เช่น บางคนที่ใช้ของยี่ห้อเดิมๆแม้จะมียี่ห้อใหม่ๆที่พิสูจน์แล้วว่าดีกว่ามาทดแทนก็ตาม
การดูหนังซ้ำๆนี่คงจะเข้าข่ายในเรื่องของ “ความรู้สึก” มากที่สุด
แม้ว่าเนื้อเรื่องและฉากจบที่คุ้นเคยอาจจะทำให้ความตื่นเต้นของคุณลดลงเมื่อรับชมหนังรอบที่สอง แต่นั่นจะทำให้คุณไม่ต้องใช้พลังงานหนักไปกับการคาดเดาเนื้อเรื่อง และเปลี่ยนมาเป็นใช้ความรู้สึกมากขึ้นในการรับชม ซึ่งหนังบางเรื่องมันจะมอบความรู้สึกที่แปลกประหลาดอย่างบอกไม่ถูก อย่างเช่น ฟอร์เรสกั้ม ,เดอะ กรีนไมล์ ความรู้สึกชื่มชม อิ่มเอม ดีใจ เสียใจ ที่เกิดขึ้นในหนังมันจะเกิดขึ้นซ้ำกับคุณได้อีกครั้งครับ แม้ว่าจะเป็นการดูหนังรอบที่สองก็เถอะ
การดูหนังซ้ำๆยังส่งผลต่อความทรงจำในอดีต
ไม่เพียงแต่ความรู้สึกในหนังเท่านั้น บางครั้งการย้อนกลับไปดูหนังเรื่องเดิม กลับทำให้คุณนึกถึงความทรงจำเก่าๆ อย่างเช่น คุณอาจจะเคยดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกกับครอบครัวที่บ้าน หรือตอนดูหนังเรื่องนี้ครั้งแรกคุณอาจจะกำลังอยู่ในช่วงที่แย่สุดของชีวิต ดังนั้นการดูหนังซ้ำๆบางทีอาจจะเหมือนการนั่งไทม์แมชชีนพาคุณย้อนกลับไปต่อจิ๊กซอว์แห่งกาลเวลาช่วยปะติดปะต่อความทรงจำที่คุณอาจจะหลงลืมไปแล้วก็เป็นได้
ดังนั้นการดูหนังซ้ำๆก็คงเหมือนการเชื่อม ปัจจุบัน สู่ อดีต
ที่ช่วยระลึกประสบการณ์ต่างๆที่เคยผ่านมาในช่วงชีวิตของเราผ่านการดูหนังเก่าๆเพียงเรื่องเดียว แน่นอนว่าไม่เกี่ยวว่าเนื้อเรื่องของหนังมันจะต้องดีเลิศได้ออสการ์อะไรแบบนั้น ไม่เลยครับ หนังบางเรื่องเราอาจจะดูเป็นสิบครั้ง ทั้งๆที่ตัวหนังไม่มีอะไรเลย เพียงแต่มันแอบซ่อนความทรงจำที่มีเพียงเราคนเดียวเท่านั้นที่จะเปิดดูได้
จึงไม่น่าแปลกใจหาก “การดูหนังซ้ำๆ” จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ผู้โหยหาอดีตอย่างเราๆในที่สุด
ทิ้งท้ายอีกนิด
มีหนังไทยหนึ่งเรื่องที่จะให้มุมมองที่แตกต่างออกไปเมื่อคุณดูมันในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตที่คุณเติบโต "Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์" หนังไม่ได้ตามติดเด็กชงเหล้านะครับ แต่เด็กเอ็น ในที่นี้คือชื่อเรียกของเด็ก ม.6 ที่จะเข้ามหาวิทยาลัยในยุคนั้นที่ใช้ระบบ เอ็นทรานซ์ ในการเข้ามหาลัย
แม้ระบบการเข้ามหาวิทยาลัยของไทยจะปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ใจความสำคัญของหนังยังคงสื่อได้เช่นเดิมนั่นคือ เรื่อง “ความกดดันของเด็กที่กำลังจะต้องเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย” หากเราดูตอน อายุ 12 เราก็จะเห็นอีกมุมมอง เมื่อ อายุ 20 ก็จะเห็นอีกมุมมอง และเมื่อเราอายุ 30 ขึ้นไปเราก็อาจจะเห็นในอีกมุมมองได้เช่นกัน ดังนั้นเราจะเห็นว่าพวกหนังต่างๆมันเล่นกับ “ความรู้สึก” ของผู้ชมอย่างเราๆ มากจริงๆครับ
Ref:
On Repeat: Why People Watch Movies and Shows Over and Over
โฆษณา