10 พ.ค. 2023 เวลา 22:01 • สุขภาพ

"ท้องเพราะกินยาฆ่าเชื้อ?" เจาะ List ยาฆ่าเชื้อที่ลดประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด

Case นี้เกิดขึ้นในคลินิกโรคเฉพาะทางที่ผมดูแลอยู่ โดยที่น้องเขามียาของโรคเฉพาะที่กินเป็นประจำอยู่แล้ว แล้วไปซื้อยาจากร้านยามากินเอง(น่าเขกกะบาลคนจ่ายให้ ไม่รู้จักซักประวัติให้ดี) เลยเอากรณีอุทาหรห์มาชวนคุยในวันนี้ครับ
โดยทั่วไปยาเม็ดคุมกำเนิด โดยเฉพาะยาเม็ดคุมกำเนิดแบบ ethinyl estradiol ซึ่งเป็นที่นิยมใช้กัน มีสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งของปริมาณยาในกระแสเลือด คือ "enterohepatic recirculation"
กล่าวคือเมื่อรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ตัวยาฮอร์โมนจะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ยาแสดงฤทธิ์หลายอย่างในการป้องกันการตั้งครรภ์ และหลังจากออกฤทธิ์แล้ว สารประกอบในรูปที่ไม่ออกฤทธิ์ (ethinylestradiol sulfate) จะถูกขับออกทางน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เล็ก จากนั้นเอนไซม์จากแบคทีเรียในลำไส้จะย่อยสารประกอบเหล่านั้นได้เป็นสารประกอบในรูปออกฤทธิ์ (ethinyl estradiol) รูปเดิม สารรูปเดิมนี้จะถูกดูดซึมที่ลำใส้เล็กส่วนล่างกลับเข้าสู่กระแสเลือดอีกครั้งหนึ่ง ทำให้มีปริมาณยาอยู่ในกระแสเลือดได้นานขึ้น
ดังนั้น หากยาฆ่าเชื้อ โดยเฉพาะยาที่ไวต่อเชื้อแกรมลบ (gram negative bacteria)
ซึ่งเป็นประชาชนแบคทีเรียส่วนใหญ่ในกระเพาะ หากพวกมันถูกฆ่าตายไป ก็จะไม่มีใครคอยป้อนยาคุมในรูปเดิมกลับสู่กระแสเลือด ทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดลดลงไปด้วย
โดยชนิดของยาฆ่าเชื้อที่มีผลต่อประสิทธิภาพการคุมกำเนิดจำแนกตามความหนักแน่นของการศึกษา แบ่งได้ 2 พวกดังนี้
1.กลุ่มที่มีการศึกษายืนยันมาก(ต้องระวัง!)-ยาในกลุ่ม ไรฟาไมซิน (rifamycins) เช่นยา ไรแฟมพิซิน (rifampicin) หรืออีกชื่อคือไรแฟมพิน (rifampin) มีข้อบ่งใช้ในการรักษาวัณโรค
2. ยากลุ่มที่มีหลักฐานยืนยันไม่ชัดเจน- ยากลุ่มเพนนิซิลลิน (penicillins)- ยากลุ่มเตตราไซคลีน (tetracyclines)- กลุ่มฟลูออโรควิโนโลน (fluoroquinolones)
นอกจากกลไกการฆ่าเชื้อในกระเพาะแล้ว ยาฆ่าเชื้อยังอาจลดปริมาณยาคุมในเลือดได้จากอีกหลายกลไก เช่น เพิ่มการสร้างเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยาฮอร์โมน(โดยเฉพาะในยา rifampicin) เพิ่มการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้และอาเจียน เป็นต้น
ดังนั้น ในฐานะผู้บริโภค หากไม่ต้องการให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นกับเรา จำเป็นต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้
1.แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนจะรับบริการทางการแพทย์หรือซื้อยาว่ากินยาอะไรอยู่บ้าง(ยาคุมถึงจะกินอยู่ทุกวันก็ต้องบอก)
2. เพิ่มการป้องกันด้วยถุงยางอนามัยหากมีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อที่มีความเสี่ยงต่อการคุมกำเนิด
3.หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อ ให้ทานยาให้ตรงตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่งอย่างเคร่งครัด(การรับประทานยาที่เวลาคลาดเคลื่อนกันจะยิ่งเพิ่มโอกาสต่อการเกิดผลกระทบระหว่างยาทั้งสองชนิด)
ด้วยความห่วงใย
เพจหมอยาเดินไพร
อ้างอิง
1. Simmons, K., Haddad, L., Nanda, K., & Curtis, K. (2017). Drug interactions between rifamycin antibiotics and hormonal contraception: a systematic review. BJOG: An International Journal of Obstetrics & Gynaecology, 125(7), 804–811. doi:10.1111/1471-0528.15027
2. DICKINSON, B. (2001). Drug interactions between oral contraceptives and antibiotics. Obstetrics & Gynecology, 98(5), 853–860. doi:10.1016/s0029-7844(01)01532-0
โฆษณา