10 พ.ค. 2023 เวลา 21:47 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ส่งออกอาหารไตรมาสแรกปี’66 ทำรายได้เข้าประเทศ 3.46 แสนล้านบาท โต 10.0%

สภาหอการค้าฯ-สภาอุตสาหกรรม-สถาบันอาหาร เผยส่งออกอาหารไตรมาสแรกปี’66 ทำรายได้เข้าประเทศ 3.46 แสนล้านบาท โต 10.0% คาดปีนี้ไทยส่งออกทะลุ 1.50 ล้านล้านบาท โต 2.1% ลุ้นฝ่าวิกฤตปี 66
สถาบันอาหาร หน่วยงานเครือข่ายกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ในไตรมาสแรกของปี 2566 มีอัตราขยายตัวส่งออกเพิ่มขึ้น 10% ซึ่งมีมูลค่า 346,379 ล้านบาท เทียบกับปี 2565 ที่มูลค่าอยู่ที่ 315,296 ล้านบาท โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าและอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นในตลาดประเทศกำลังพัฒนาหลังฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ประกอบกับ ความกังวลเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ภัยสงคราม ประกอบกับความแปรปรวนของสภาพอากาศอย่างปรากฏการณ์เอลนีโญ่ที่เกิดขึ้น รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศและยกเลิกมาตรการโควิด-19 ยังส่งผลให้อัตราการส่งออกเพิ่มสูงขึ้น
สินค้าส่งออกหลักที่มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำตาทราย ข้าว ไก่ และผลไม้สด โดยการส่งออกน้ำตาลทรายมีมูลค่า 40,310 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2565 อยู่ 37.3% เนื่องจากหลายประเทศกังวลปัญหาขาดแคลนอาหารประกอบกับประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลทรายใหญ่อย่างอินเดียจำกัดการส่งออกน้ำตาล
การส่งออกข้าวมีมูลค่า 38,066 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 29.2% เนื่องจากผลผลิตข้าวที่มีจำกัดในประเทศผู้ผลิตและส่งออกสำคัญ รวมถึงความกังวลขาดแคลนอาหาร ทำให้ประเทศผู้บริโภคเสริมสต็อกข้าวเพิ่มขึ้น
การส่งออกไก่มีมูลค่า 36,215 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7 โดยเป็นไก่สดแช่แข็งที่ส่งออกไปจีนเป็นหลัก ส่วนไก่แปรรูปขยายตัวดีในสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป ด้านการส่งออกผลไม้สด มีมูลค่า 27,477 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 59.4 จากการส่งออกไปตลาดจีนเป็นหลัก หลังจีนยกเลิกมาตรการโควิดเป็นศูนย์ ทำให้ระยะเวลาขนส่งสินค้าสั้นลงและปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้น
สินค้าส่งออกที่ขยายตัวลดลงเนื่องจากปัญหาเรื่องวัตถุดิบมีปริมาณลดลง ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น เช่น แป้งมันสำปะหลัง กุ้ง สับปะรด และปัญหาจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในกลุ่มประเทศพัฒนาอย่างสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องปรุงรส เป็นต้น
ปัญหาค่าเงินเยนอ่อนตัวต่อเนื่องที่ส่งผลต่อการนำเข้าของญี่ปุ่น และกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทยหลายรายการ ทำให้สินค้าอาหารส่งออกของไทยไปยังประเทศญี่ปุ่นหลายรายการหดตัวลงค่อนข้างมาก อาทิ ไก่ (-6%), กุ้ง (-20%), สับปะรด (-40%), เครื่องปรุงรส (-40%)
การส่งออกสินค้าอาหารไทยในตลาดรองหรือตลาดใหม่ เช่น เอเชียใต้ กลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย (GCC) ละตินอเมริกา และกลุ่มประเทศประชาคมรัฐเอกราช (CIS) ขยายตัวในระดับสูง ที่รอการรุกตลาดและเพิ่มพูนปริมาณการค้าอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต
ปัจจัยที่จะทำให้การส่งออกไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ได้แก่ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาพลังงาน อาทิ ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน ค่าแก๊ส เป็นต้น และความกังวลของเศรษฐกิจไทยอันเนื่องมาจากความผันผวนของค่าเงิน รวมถึงความกังวลภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภาคธนาคารของสหรัฐ กระทบกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค-ประชาชาติ
โฆษณา