11 พ.ค. 2023 เวลา 12:42 • หุ้น & เศรษฐกิจ

การลงทุนธุรกิจสีเขียวของอเมริกาพุ่ง จนแรงงานขาดแคลน

มีข้อถกเถียงมากมายว่า การทำนโยบายโดยพุ่งเป้าไปที่อุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งเป็นพิเศษ (Industrial Policy) เป็นเรื่องที่ดีหรือไม่?
หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่จะฝ่ายกังวลใจยกมาพูดเสมอคือ “การคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมใดกำลังจะกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตได้ดีในอนาคตเป็นเรื่องที่แทบจะคาดการณ์ไม่ได้”
อย่างไรก็ดี ในยุคของรัฐบาลไบเดนก็ยังตัดสินใจออกนโยบายที่สนับสนุนอุตสาหกรรมหนึ่งๆ เป็นพิเศษออกมา นั่นก็คือ “อุตสาหกรรมที่เน้นการลงทุนในธุรกิจสีเขียวและเซมิคอนดักเตอร์”
ซึ่งมีชื่อเต็มๆ ว่า “The Inflation Reduction Act and Chips and Science Act for clean energy and semiconductor manufacturing”
โดยจนถึงตอนนี้ นโยบายที่เน้นธุรกิจสีเขียวของไบเดน นี้เริ่มแสดงให้เห็นผลลัพธ์เป็นรูปเป็นร่างเบื้องต้นแล้ว จากการที่มีธุรกิจมาร่วมลงทุนกันจำนวนมาก มากถึงขนาดที่มีการคาดการณ์ว่างบประมาณที่มีการตั้งไว้สำหรับสนับสนุนธุรกิจกลุ่มนี้จะไม่พอแล้ว
📌 การลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นตามมาด้วยความต้องการแรงงานที่พุ่งขึ้นตาม
ตั้งแต่มีการออกนโยบายช่วยเหลือธุรกิจสีเขียวและเซมิคอนดักเตอร์มาตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีก่อน ตัวเลขการประกาศรับสมัครงานในกลุ่มดังกล่าวก็สูงถึง 82,000 ตำแหน่ง
ซึ่งตัวเลขที่สูงขนาดนี้ ก็เป็นตัวกดดันให้ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ตึงตัวอยู่ในปัจจุบันยิ่งตึงตัวมากขึ้นไปอีก
ไม่เพียงแต่การจ้างงานในกลุ่มธุรกิจสีเขียวโดยตรงที่พุ่งสูงขึ้น แต่ตัวเลขจ้างงานในภาคการก่อสร้าง (สำหรับการสร้างโรงงาน) ก็พุ่งขึ้นขึ้นอย่างก้าวกระโดด
โดยมีการคาดการณ์กันว่า ทางสหรัฐฯ จะต้องการคนงานภาคก่อสร้างอีกถึง 546,000 ตำแหน่งทีเดียวทำให้เริ่มมีความกังวลจากผู้ลงทุนหลายคนแล้วว่า จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะมีคนงานเพียงพอ
แต่ถ้ามองในแง่ดี ความกังวลแบบนี้ก็เป็นความกังวลที่ทางรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะพึงพอใจเพราะมันหมายถึงว่านโยบายของพวกเขาเริ่มส่งสัญญาณของความสำเร็จ
📌 การแข่งขันกับทางยุโรป
การเคลื่อนไหวในอุตสาหกรรมสีเขียวของสหรัฐฯ ยังสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงอีกหนึ่งยักษ์ใหญ่อย่างทวีปยุโรปด้วย
ตอนแรกเริ่มนั้น ยุโรปไม่ค่อยพอใจสหรัฐฯ ด้วยซ้ำ ที่มาออกนโยบายที่ปกป้องธุรกิจในประเทศตนเองเกินควรแบบนี้
แต่ในตอนนี้ เมื่อทางสหรัฐฯ ยอมลดนโยบายบางอย่างลง เช่น การลดจำนวนเงินสนับสนุนธุรกิจ EV และทางยุโรปเองก็ออกแผนสนับสนุนธุรกิจสีเขียวของตนเองชื่อว่า “Green Deak Industrial Plan”
จึงทำให้สถานการณ์ความตึงเครียดด้านเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐฯ และยุโรปลดลง
อย่างไรก็ดี ในตอนนี้สหรัฐฯ ก็ยังเป็นตัวเลือกการลงทุนที่อยู่เหนือกว่ายุโรป ที่แผนการสนับสนุนของพวกเขายังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและไม่เป็นสมบูรณ์
การที่ต่างฝ่ายต่างออกนโยบายสนับสนุนธุรกิจในดินแดนของตนแบบนี้ ยังสร้างความกังวลใจว่ามันจะเป็นการปิดกั้นการค้าเสรี และทำให้ต้นทุนการผลิตโลกสูงขึ้นด้วย
ซึ่งก็มีความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง “พอล ครุกแมน” ที่ตอบคำถามต่อความกังวลใจในเรื่องนี้
โดยตัวเขาเองผู้มีชื่อเสียงในงานด้านการค้าระหว่างประเทศ ก็ยอมรับว่า “นโยบายที่ออกมาอาจจะทำให้ต้นทุนการค้าระหว่างประเทศสูงขึ้นจริงๆ”แต่ประโยชน์ที่ได้กลับมาจะมากกว่านั้น
ประโยชน์ที่ครุกแมนกล่าวถึง ไม่ใช่ทั้งการสร้างงานในประเทศหรือขนาดผลิตภัณฑ์มวลรวมที่สูงขึ้น
แต่เขาหมายถึง “การลดผลกระทบจากวิกฤติอากาศแปรปรวน (Climate Change Crisis)”
จากการสร้างเทคโนโลยีสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ
ซึ่งเป็นมุมมองที่น่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะเขามองว่า การเกิดภัยพิบัติจากสภาวะอากาศที่แปรปรวน จะสร้างต้นทุนให้กับทุกคนมากกว่ามาก ที่แม้จะต้องแลกมาด้วยต้นทุนจากนโยบายที่ต่างฝ่ายต่างปกป้องธุรกิจภายในของตนเองก็เป็นสิ่งที่ควรต้องแลก…
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา