11 พ.ค. 2023 เวลา 12:30 • ประวัติศาสตร์

เซโกะ (Seiko) ค.ศ.1890

ถ้าพูดถึงนาฬิกาหลายคนรวมถึงคนทั่วไปคงจะนึกถึงนาฬิกาแบรนด์สัญชาติสวิสเซอร์แลนด์ มองข้ามนาฬิกาคุณภาพดีจากฝั่งเอเชียอย่าง “Seiko” เพราะเมื่อไหร่ที่คนได้ยินชื่อนาฬิกาแบรนด์นี้ ก็มักจะคิดถึงเพียงแต่นาฬิการาคาถูก ในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกกันว่าประโยคตอนต้นเป็นจริงหรือไม่
ย้อนกลับไปในสังคมญี่ปุ่นยุคเมจิ ปี ค.ศ. 1868-1912 ในช่วงนั้นประเทศญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมครั้งใหญ่ในประเทศ หรือที่เรียกกันว่า Meji Restoration ที่รับเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ จากฝั่งตะวันตกเข้ามาใช้แทนของเดิม
เรื่องราวของแบรนด์นี้เริ่มต้นในปี ค.ศ. 1881 เมื่อคินทาโร่ ฮัตโตริ (Kintaro Hattori) ชายหนุ่มวัยเพียง 22 ปี ตัดสินใจก่อตั้งบริษัท K.Hattori & Co. ขึ้นในกรุงโตเกียวเพื่อนำเข้านาฬิกาจากฝั่งตะวันตกมาขายในประเทศญี่ปุ่น กิจการนำเข้าเป็นไปได้ด้วยดี
อาคารของฮัตโตริ ในย่านกินซ่าในปี ค.ศ.1895
จนกระทั่ง 9 ปีต่อมา เขาตัดสินใจผลิตนาฬิกาออกขายเอง โดยเริ่มต้นจากการตั้งโรงงานผลิตนาฬิกาใช้ในบ้านขึ้นที่กรุงโตเกียว ในชื่อ “Seikosha” ซึ่งคำว่า Seiko แปลว่า ความสำเร็จ, ความงดงาม ส่วนคำว่า Sha แปลว่า บริษัท, ธุรกิจ
บททดสอบแรกเกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1923 เมื่อประเทศญี่ปุ่นเผชิญกับแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ภัยธรรมชาติครั้งนี้ส่งผลให้โรงงานและสำนักงานของ Seikosha พังราบ ก่อนจะตั้งโรงงานแห่งที่สองและใช้ชื่อว่า “Daini Seiko” จากนั้นไม่นาน
ฝันร้ายก็ตามมาหลอกหลอน Seiko อีกครั้ง เมื่อสงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นครั้งที่ 2 ได้ปะทุขึ้นและบานปลายกลายเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ 2 ท้ายที่สุด Seiko ก็ถูกปิดลง ตัวโรงงานถูกนำมาใช้เป็นโรงงานผลิตกระสุนและอาวุธเพื่อใช้ต่อสู้ในสงครามแทน
ทางเข้าโรงงาน Seikosha ในปี ค.ศ.1897
หลังจากที่บริษัท Seiko เผชิญมรสุมทั้งภัยพิบัติธรรมชาติและสงคราม ก็ถึงเวลาที่ Seiko จะกลับมายืนขึ้นอีกครั้ง ทางบริษัท Seiko ได้รื้อฟื้นโรงงาน “ไดนิเซย์โกะ” ขึ้นมาในปี ค.ศ. 1959 และให้ไดนิเซย์โกะแยกตัวออกจากซูวะเซย์โกะ
ทำให้ในช่วงนี้ Seiko แบ่งออกเป็น 2 บริษัท คือ 1. Grand Seiko ที่มีฐานการผลิตมาจากโรงงาน Suwa Seiko และ 2. King Seiko จากโรงงาน Daini Seiko ซึ่งจุดประสงค์ในการฟื้นโรงงานและแยกทั้งสองแบรนด์ออกจากกันในครั้งนี้
ก็เพื่อต้องการให้เกิดการแข่งขันในแวดวงนาฬิกาภายใต้แบรนด์เดียวกัน รวมถึงต้องการสร้างศักยภาพให้กับแบรนด์เพื่อเอาชนะนาฬิกาแบรนด์อื่นๆ จากฝั่งสวิสเซอร์แลนด์
นาฬิกาพกเรือนแรกของแบรนด์ Seiko
ในปี ค.ศ. 1959 แบรนด์ Seiko ลงทุนจ้างนักออกแบบชาวญี่ปุ่นชื่อดัง “ทาโร่ ทานากะ” (Taro Tanaka) ให้เข้าร่วมออกแบบนาฬิกา ซึ่งเขาสร้างกฎแห่งการออกแบบนาฬิกาสำหรับ Seiko
โดยเฉพาะ ทานากะตระหนักว่าถ้าจะเอานาฬิกา Seiko ลงสนามแข่งกับนาฬิกาจากฝั่งสวิสฯ ให้ได้ผลจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะในด้านดีไซน์
ในปี ค.ศ. 1964 แบรนด์ซูวะเซย์โกะ เปิดตัวนาฬิกาอีกหนึ่งรุ่นคือ The Grand Seiko 57GS และในปีเดียวกันนั้นเอง แบรนด์ไดนิเซย์โกะก็เปิดตัว The King Seiko 44KS ของตัวเองและเป็นนาฬิกาเรือนแรกของไดนิเซย์โกะที่คุณภาพสูสีตามทัน Grand Seiko
เครื่องรุ่น 6139 ค.ศ.1969 ซึ่งเป็นเครื่องนาฬิกาโครโนกราฟแบบออโต้รุ่นแรกของโลกที่มีทั้งกลไกเวอร์ติคอลคลัทช์และกลไกคอลัมน์วีล
เนื่องจาก Grand Seiko ป่าวประกาศออกไปว่านาฬิกา Chronograph ของตนมีความแม่นยำสูงมาก (จากการทดสอบของแบรนด์ตัวเอง) แต่ไม่ได้ส่งนาฬิกาไปทดสอบจากสถาบันที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกอย่าง The European Chronometer Official Association (สถาบันนาฬิกาของยุโรป)
ทำให้เกิดความไม่พอใจจากแวดวงนาฬิกายุโรปเป็นอย่างมาก แบรนด์ Seiko จึงต้องหยุดการสถาปนาความแม่นยำของนาฬิกาตัวเองลงในที่สุด
ทำให้ Seiko ต้องส่งนาฬิกาไปทดสอบกับทาง Geneva Observatory และผลที่ได้ก็คือนาฬิกาของ Seiko ได้ลำดับที่ 4-10 ส่วนลำดับที่ 1-3 นั้นตกเป็นของนาฬิการะบบควอตซ์ นั่นหมายความว่านาฬิกาของ Seiko ถือเป็นนาฬิการะบบ Mechanical ที่แม่นยำที่สุดในโลกตอนนั้น
Credor Eichi II GBLT997 มูลค่าปัจจุบันสูงกว่า 15 ล้านบาท
ในช่วงระหว่างที่ทั้ง Grand Seiko และ King Seiko กำลังพิสูจน์ความเก๋าของตัวเองให้ฝั่งยุโรปได้เห็น บริษัทแม่อย่าง Seiko ก็ไม่ได้หยุดพัฒนาตัวเองในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีนาฬิการะบบ Quartz จนในที่สุดช่วงคริสมาสต์ปี ค.ศ. 1969
แบรนด์ Seiko ก็สั่นสะเทือนวงการนาฬิกาโลกด้วยการเปิดตัวนาฬิการุ่น Astron 35SQ ซึ่งเป็นนาฬิการะบบ Quartz เรือนแรกที่ถูกผลิตออกจำหน่าย และ Astron 35SQ ก็เป็นนาฬิกาน้ำดีที่มีความแม่นยำสูง แถมราคาก็ไม่แพง
ทำให้แฟนคลับเรือนเวลาสามารถหาซื้อมาไว้ครอบครองได้ และด้วยความแปลกใหม่บวกกับคุณภาพและราคาที่ย่อมเยา ทำให้ Astron 35SQ ส่งผลกระทบครั้งใหญ่กับอุตสาหกรรมนาฬิกาทั่วโลก รู้จักกันดีในชื่อ “The Quartz Crisis”
เปิดตัว ค.ศ.2016 Fugaku นาฬิการุ่นแรกของ Seiko จากแบรนด์ Credor
ถึงแม้ว่านาฬิการะบบ Quartz จาก Seiko จะสั่นสะเทือนวงการนาฬิกาโลกและชนะแบรนด์สวิสฯ อย่างถล่มทลาย แต่การแข่งขันไม่ได้จบลงแค่นั้น วงการนาฬิกาแบรนด์สวิสฯ พยายามหาทางแก้เกมอีกรอบ
ซึ่งครั้งนี้แบรนด์นาฬิกาฝั่งสวิสฯ หลายแบรนด์เปลี่ยนแผนกลับมาเล่นความนิยมของ Luxury Watch ที่ยังคงความคลาสสิคของการเป็นนาฬิกาแบบ Machanical เมื่อเทรนด์นาฬิกา Luxury กำลังเป็นที่นิยมในตลาด
Grand Seiko จึงหันกลับมาผลิตนาฬิกา Mechanical อีกครั้งและเปิดตัวนาฬิกา The 9SGS ออกสู่ตลาดนาฬิกาในปี ค.ศ. 1998 และถือเป็นนาฬิกาเรือนแรกที่ใช้ Movement แบบ 9S Calibre
เปิดตัว ค.ศ.2016  Grand Seiko The Black Ceramic
ในปีต่อมาก็เปิดตัวเทคโนโลยีใหม่ของโลก Spring Drive ที่มาจากการพัฒนาระบบภายใน ผสมผสานระหว่างความคลาสสิกของเครื่องกลกับความแม่นยำของระบบไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้ Grand Seiko ขึ้นไปยืนอยู่ในจุดที่เหนือกว่าแบรนด์นาฬิกาเรือนอีกๆ บนโลก
ฝากกดถูกใจ กดแชร์ เพื่อเป็นกำลังใจให้ผมด้วยนะครับ
Reference เซโกะ (Seiko) :
โฆษณา