29 พ.ค. 2023 เวลา 00:00 • หนังสือ

ใช้หลักสัมพัทธภาพอธิบายการใช้ชีวิต

ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์เป็นที่รู้จักกันทั่วโลก แต่หลัก 'สัมพัทธ์' นั้นไม่ใช่ของใหม่ ปรัชญาพุทธพูดมานานแล้วว่า ชีวิตคือค่าสัมพัทธ์ ไม่ใช่ค่าสัมบูรณ์
พูดแบบง่าย ๆ สัมบูรณ์คือค่าที่แน่นอนตายตัว สัมพัทธ์หมายถึงค่าที่เกิดจากการเปรียบเทียบกัน
มองแบบสัมบูรณ์ : วันนี้อุณหภูมิอยู่ที่ 40 องศาเซลเซียส
มองแบบสัมพัทธ์ : นาย ก. รู้สึกว่าวันนี้อากาศร้อนมาก ๆ ขณะที่นาย ข. บอกว่าอากาศวันนี้ร้อนแบบทนได้
โลกเราเต็มไปด้วย 'ความสัมบูรณ์' ที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อใครคนหนึ่งบอกว่า จะขึ้นเหนือไปเชียงใหม่ เราก็มองเห็นภาพส่วนบนของแผนที่ทันที เมื่อบอกว่าจะไปตะวันตก ก็นึกถึงโลกฝั่งยุโรปหรืออเมริกา
1
แต่ความจริง เหนือ-ใต้-ออก-ตก เป็นเพียง 'ภาษาแผนที่' ที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่อให้เราสื่อสารเข้าใจตรงกัน เป็นสิ่งสมมุติอย่างหนึ่ง เพราะขณะที่ชาวกรุงเทพฯมองว่า เชียงใหม่ อยู่ทาง 'เหนือ' ชาวจีนและรัสเซียกลับมองว่ามันอยู่ทาง 'ใต้'
1
เชื่อหรือไม่ว่า ในโลกเดียวกันของเรานี่เอง ออกซิเจนที่มนุษย์สูดหายใจและเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิตของเรานั้น กลับเป็นพิษร้ายแรงต่อสิ่งมีชีวิตหลาย ๆ สายพันธุ์
สิ่งที่คนคนหนึ่งมองว่าเป็น 'ทุกข์' อีกคนหนึ่งอาจมองว่า 'พอไหว' หรือ 'ไม่เท่าไร'
บางคนแผลเล็กร้องครวญคราง บางคนแผลใหญ่บอกว่า "ยังไกลหัวใจว่ะ"
คนที่กินแต่อาหารดีมาตลอดชีวิตอาจมองอาหารริมถนนเป็นขยะ ขณะที่คนหิวโหยเห็นอาหารริมถนนเหมือนอาหารสวรรค์
การมองโลกแบบสัมบูรณ์เป็นการมองแบบสุดโต่งหรือทวินิยม แบ่งโลกออกเป็นขาวกับดำชัดเจน ทำอย่างนี้คือเลว ทำอย่างนั้นคือดี
การยึดติดกับความสัมบูรณ์ก็คือการยึดถือ 'ตัวกู-ของกู' นั่นเอง
เมื่อไรที่คิดว่าอะไรเป็นสัมบูรณ์ก็เกิดทุกข์
1
รักใครคนหนึ่งแล้วก็คิดว่าเขาหรือเธอเป็นของเราไปตลอดก็เกิดทุกข์ เพราะเขาหรือเธออยู่กับเราด้วยข้อแม้ปัจจัยที่ลงตัวในช่วงเวลาหนึ่ง แต่อาจไม่ตลอดไป
2
หากโลกคือความสัมบูรณ์จริง ป่านนี้เราก็คงไม่มีปัญหาสามีไปหาหญิงใหม่ หญิงเปลี่ยนใจเลิกกับคนรักเพราะพบคนใหม่ที่ลงตัวกว่า
ปรัชญาพุทธ (รวมทั้งสายที่สืบต่อมาเช่น เซน) เห็นว่าโลกนี้ไม่ใช่โลกสุดโต่งหรือทวินิยมของขาวกับดำ ดี-ชั่ว ฯลฯ
เมื่อใดที่คิดสุดโต่งก็เป็นทุกข์ ไปจับต้องโลกแล้วทึกทักเอาว่ามันต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เมื่อไร ก็ทุกข์เมื่อนั้น
ทุกข์ทั้งหลายในโลกมาจากการยึดติดทั้งนั้น
1
สามารถละทิ้งทวินิยมได้เมื่อไร ก็พ้นทุกข์ ง่าย ๆ เช่นนั้น
(จากหนังสือ สองปีกของความฝัน / วินทร์ เลียววาริณ)
โฆษณา