30 พ.ค. 2023 เวลา 00:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
สิงคโปร์

“ถ้าไม่ชอบมาก ก็เกลียดมาก”

เมื่อผมไปทำงานในสำนักงานสถาปนิกแห่งหนึ่งที่สิงคโปร์ในปี 1980 บริษัทนั้นมีหุ้นส่วนสี่คน หนึ่งในนั้นเป็นสถาปนิกมือดี ศึกษางานออกแบบทั่วโลก ได้รับอิทธิพลงานสถาปัตยกรรมญี่ปุ่นมามาก และสอนผมหลายอย่าง
วันหนึ่งเขาบอกผมว่า เมืองไทยมีสถาปนิกเก่งมากคนหนึ่ง "คือสุเมธ"
1
ว่าแล้วก็ยกนิ้วให้
4
'สุเมธ' ที่เขาว่าก็คือ ดร. สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา งานที่โดดเด่นในตอนนั้น เช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ) เอกมัย รูปทรงแปลกตา ต่างจากอาคารทั้งหลายในเมืองไทย แม้แต่อาจารย์คณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ เอง ก็ไม่รู้จะคอมเมนต์อาคารหลังนี้อย่างไร เพราะมันหลุดโลกมาก
นานปีต่อมา ดร. สุเมธมีผลงานมากขึ้น แต่ละตึกดูแปลกตา กลายเป็นลายเซ็นของสถาปนิกท่านนี้ไป
ตึกหุ่นยนต์ก็เป็นหนึ่งในนั้น ก็คืออาคารสำนักงานของธนาคารเอเซีย ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเจ้าของเป็นธนาคารยูโอบี (ประเทศไทย)
1
ตึกสูง 20 ชั้นนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบโพสต์โมเดิร์นยุคแรกๆ ของไทย
1
สมัยนั้นอาคารแนวนี้ที่โด่งดังในโลกตะวันตกก็คือศูนย์ศิลปะวัฒนธรรมแห่งชาติ The Centre Pompidou กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส สมัยผมเรียนสถาปัตย์ฯ บรรดานิสิตก็งงๆ เพราะไม่เคยเรียนอะไรที่หลุดจากกรอบของเสากับคาน สถาปัตยกรรมฝรั่งเศสชิ้นนี้โชว์โครงสร้างแบบเปลือย (inside-out) เป็นการออกแบบที่กล้าหาญ ประเภท "ถ้าไม่ชอบมาก ก็เกลียดมาก"
ตึกหุ่นยนต์ก็เช่นกัน
มองตึกนี้ในมุมของศิลปะล้วนๆ โดยไม่คำนึงถึงคำว่า 'หุ่นยนต์' มันก็มีสัดส่วน เส้นสายจังหวะที่แปลกตา น่าสนใจ คล้ายดนตรีซิมโฟนีที่มีท่วงทำนองหลายชั้น ทบซ้อนกัน อาจต้องฟังหลายรอบ จึงจะเห็นความงามของมัน
อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเราจะมองมันในมุมของสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ตึกหุ่นยนต์ก็เป็นหมุดหมายหนึ่งของวงการสถาปัตยกรรมไทยที่น่าสนใจและน่าจดจำ มันพิสูจน์ว่า บ้านเราก็มีคนเก่งที่คนต่างชาติยกนิ้วให้
1
ส่วนเราจะยกนิ้วให้หรือไม่ หรือยกนิ้วให้สูงพอที่จะอนุรักษ์มันไว้ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
โฆษณา