12 พ.ค. 2023 เวลา 05:30 • บันเทิง

ตราปศุปติ(Pashupati seal)

ตอนที่ 4 พระแม่ (The Mother Goddess)
ตราปศุปติ(Pashupati seal) ตราประทับโบราณจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ สิ่งที่ทำให้ตราประทับนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือรูปสลักของมนุษย์และเหล่าสัตว์ที่อยู่บนตราประทับน ลวดลายดังกล่าวถูกนำไปตีความว่าเป็นรูปสลักของพระปศุปติซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะกับเหล่าสัตว์ผู้เป็นบริวารของพระองค์
การตีความนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตีความทางด้านศาสนาของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ รวมถึงความเชื่อเกี่ยวกับพระศิวะ ซึ่งมีนักวิชาการบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการตีความนี้ ในบทความตอนนี้จะนำเสนอการตีความตราประทับนี้จากแนวคิดที่เชื่อว่ารูปสลักบนตราประทับนี้คือรูปสลักของสตรี หรือเทพผู้เป็นสตรี
พระแม่ (The Mother Goddess)
แนวคิดเรื่องการบูชาเทพมารดา เทพธิดา หรือการนับถือผู้หญิงเป็นใหญ่เชื่อว่ามีมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ โดยการนับถือสตรีหรือเทพที่เป็นสตรีนี้เชื่อกันว่าเชื่อมโยงกับเรื่องของความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน ความเจริญงอกงามของพืชผลทางการเกษตร การก่อกำเนิดของชีวิต รวมถึงการเป็นมารดาของเหล่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายด้วย
หลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อมถูกมำมาเชื่อมโยงกับแนวความคิดนี้มีมากมาย เช่น กลุ่มหินในทะเลทรายเนเกฟประเทศอิสราเอลที่มีอายุราว 8,000 ปีก่อนคริสตศักราช กลุ่มหินดังกล่าวถูกสลักและจัดวางให้มีลักษณะคล้ายกับอวัยวะเพศชาย และอวัยวะเพศหญิง
ในขณะที่ดินแดนในแถบตอนใต้ของอนาโตเลีย(บริเวณประเทศตุรกีหรือทูร์เคียในปัจจุบัน)มีการค้นพบเทวรูปสตรีแห่งชาตัลฮูก(the Seated Woman of Çatalhöyük) ในแหล่งโบราณคดียุคหินใหม่ชาตัลฮูก(Çatalhöyük)ประเทศตุรกี เทวรูปนี้อายุราว 6,000 ปีก่อนคริสตศักราช เทวรูปดินเผาปั้นเป็นรูปสตรีรูปร่างอ้วนท้วนหน้าอกใหญ่ หน้าท้องยื่นนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่ประดับด้วยหัวของสัตว์คล้ายเสือหรือสิงโต
รูปปั้นนี้ถูกตีความเชื่อมโยงกับตัวแทนของเทพธิดาแห่งการเจริญพันธุ์ ตัวแทนบรรพบุรุ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวของชีวิตและความตาย รวมถึงการเป็นนายหญิงแห่งเหล่าสัตว์
ตัวอย่างข้างต้นแสดงให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องการนับถือสตรีในสมัยยุคโบราณ เชื่อกันว่าความเชื่อเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายแห่งทั่วโลก ในส่วนของตราปศุปติที่พบในอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นก็มีนักวิชาการบางส่วนเชื่อว่าเป็นรูปสลักของสตรี เหตุผลที่ทำให้คิดไปได้ว่ารูปสลักมนุษย์ที่อยู่บนตราปศุปตินั้นเป็นรูปสลักของสตรี หรือเทพที่เป็นสตรีนั้นเป็นการตีความโดยใช้สัดส่วนของรูปร่างมนุษย์ที่ปรากฏอยู่บนตราประทับ
การพิจารณาลักษณะของเครื่องแต่งกาย และการใส่เครื่องประดับ โดยอ้างอิงเชื่อมโยงกับตราประทับหมายเลข DK12050 ซึ่งมีการสลักรูปมนุษย์อยู่ในท่านั่งสมาธิคล้ายคลึงกับตราปศุปติเช่นกัน แต่ตราประทับนี้ไม่มีการสลักรูปสัตว์ไว้ด้านหลัง และสวมหมวกรูปทรงที่แตกต่างจากตราปศุปติเล็กน้อย นอกจากนั้นยังมีการตรวจสอบโดยอ้างอิงกับและรูปปั้นดินเผาทั้งบุรุษและสตรี โดยทั้งตราประทับและรูปปั้นที่นำมาเปรียบเทียบนี้ล้วนมาจากแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุด้วยกันทั้งสิ้น
รูปร่างของมนุษย์บนตราประทับปศุปติและตราประทับ DK12050 นั้นมีสัดส่วนของช่วงเอวที่แคบกว่าบริเวณช่วงอก ทำให้ตราประทับนี้ดูคล้ายมนุษย์ที่มีหน้าอกหรือมนุษย์เพศหญิงมากกว่าเพศชาย ส่วนเรื่องการแต่งนั้นหากพิจารณาเทียบกับรูปปั้นต่างๆที่ขุดพบ ตรงบริเวณลายเส้นที่ลากจากบริเวณเอวลงมาด้านล่างดูคล้ายชายผ้าคาดเอวของผู้หญิงมากกว่าจะมองเป็นองคชาตของผู้ชาย
อีกทั้งในเรื่องของการใช้ผ้าโพกศีรษะ การสวมใส่เครื่องประดับทั้งกำไรแขนและสร้อยคอนั้นล้วนเป็นเครื่องประดับที่สตรีนิยมนำมาสวมใส่มากกว่า ส่วนการแต่งกายของบุรุษนั้นน่าจะนิยมไว้หนวดเครา ห่มผ้าปกคลุมตัว และสวมเครื่องประดับรัดบริเวณหน้าผาก
นอกจากนั้นยังมีการพยายามถอดความหมายของอักษรสินธุบนตราปศุปตินี้ การทดลองในครั้งนั้นเป็นการความพยายามตีความเทียบเคียงกับคำในภาษาสันสกฤตแล้วตรงกับคำว่า มหิชิ ซึ่งไม่สามารถนำมาตีความต่อได้ แต่หากแยกคำว่า มหิชิ ออกก็จะได้คำว่า มะห์ + อิชา ซึ่งจะหมายถึงเจ้าแม่ หรือเทพธิดาผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งถูกตีความต่อไปว่าเทพธิดา หรือพระแม่องค์นี้อาจเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ การเพาะปลูก และการตีความด้วยการเทียบเคียงกับคำในภาษาสันสกฤตนี้ก็นำมาซึ่งคำถามสำคัญถึงความเป็นไปได้
เนื่องจากเชื่อกันว่าภาษาสันสกฤตมาพร้อมกับการอพยพเข้ามาของชาวอารยันเมื่อ 1,500 ปีก่อนคริสตศักราช และหากสัญลักษณ์บนตราปศุปตินี้สามารถถอดความได้ด้วยการเทียบเคียงกับคำในภาษาสันสกฤตได้จริง นั่นก็หมายความว่ามีการใช้ภาษาสันสกฤตมาตั้งแต่เมื่อ 2,350 -2,000 ปีก่อนคริสตศักราช
แนวคิดของการถอดความดูภาษาสันสกฤตดูจะเป็นสิ่งที่คลุมเครือ ในขณะที่ความเชื่อเรื่องการบูชาพระแม่หรือการบูชาเทพธิดาผู้เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ซึ่งเป็นความเชื่อที่พบเห็นกันได้ในหลากหลายอารยธรรมในโลกยุคโบราณดูจะมีความเป็นไปได้มากกว่า ซึ่งความเชื่อเรื่องการบูชาเทพธิดาหรือพระแม่ต่างๆเพื่อขอความอุดมสมบูรณ์ให้กับพืชผลที่เพาะปลูกยังสามารถพบเห็นกันได้ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
นอกจากนั้นแล้วยังมีการเชื่อมโยงแนวคิดการบูชาเทพธิดาผู้บันดาลความอุดมสมบูรณ์นี้เข้ากับแนวคิดการอพยพผู้คนจากแถบเทือกเขาซากรอสที่มาตั้งรกรากเป็นชุมชนเกษตรกรรมบริเวณตอนบนของลุ่มแม่น้ำสินธุเมื่อราว 7,000 ปีก่อนคริสตศักราชอีกด้วยการเชื่อมโยงนี้ทำให้ได้เห็นชุดเชื่อมโยงของผู้คนในแถบเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์ (Fertile Crescent)กับผู้คนในแถบลุ่มแม่น้ำสินธุ
หาผู้คนในแถบเขตพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์กับผู้คนในแถบเทือกเขาซากรอสมีจุดร่วมบางอย่างทางความเชื่อร่วมกัน และลูกหลานของชาวนาแห่งเทือกเขาซากรอสผู้มาสร้างชุมชนในบริเวณต้นแม่น้ำสินธุเหล่านี้ยังคงรักษาขนมธรรมเนียมและวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเองเอาไว้ได้
ก็เป็นไปได้ที่ความเชื่อเรื่องพระแม่ หรือเทพมารดาผู้เป็นบ่อเกิดแห่งสรรพชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์ ผู้บรรดารความอุดมสมบูรณ์ให้กับผืนแผ่นดิน และความเจริญงอกงามให้กับพืชผลทางการเกษตร จะกลายมาเป็นเทพที่ถูกสลักอยู่บนตราประทับ ในท่านั่งขัดสมาธิอยู่บนบัลลังก์สวมกำไรเต็มแขนทั้งสองแขน สวมสร้อยคอ และโพกศีรษะ ตามแบบของสตรีในสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุในช่วงเวลานั้น
ซึ่งแน่นอนว่าเทพมารดาหรือพระแม่องค์นี้อาจจะมีพระนาม รูปลักษณ์ รวมถึงตำนาน การปฏิบัติบูชาแตกต่างไปจากพระแม่องค์ดั้งเดิมเมื่อครั้นอดีด ซึ่งเป็นเรื่องของพัฒนาการทางความเชื่อ อย่างไรก็ดีการตีความเหล่านี้ไม่ได้หลักฐานทางโบราณคดีมาเชื่อมโยงมากมายนักอีกทั้งยังไม่ใช่แนวคิดกระแสหลักเป็นแต่เพียงแนวคิดที่ชวนให้ขบคิดตามถึงความเป็นไปได้เท่านั้น
โฆษณา