14 พ.ค. 2023 เวลา 12:15 • ธุรกิจ

Hideo Kojima ฮิเดะโอะ โคจิมะ อัจฉริยะแห่งวงการเกม

เกม นับว่าเป็นอีกสื่อที่ไม่เคยเลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมา อาจเพราะว่าเกมเป็นสื่อเพื่อความบันเทิงที่ทำไว้ให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าถึงได้ จึงเกิดธุรกิจในการสร้างสรรค์เกมเพื่อตอบสนองตลาดผู้เล่น จนในวันนี้มีประเภทของเกมมากมายวางขายให้เลือกซื้อในร้านค้า
แต่กว่าจะเป็นเกมแบบทุกวันนี้ได้ มีบุคคลคนมากมายที่สร้างคุณูปการ สร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาล แต่ในวงการนี้มีเพียงชายคนเดียวเท่านั้นที่ถูกขนานนามว่า “เทพเจ้าแห่งการสร้างเกม”
กว่าจะมาถึงจุดที่ทุกคนยอมรับในระดับอัจฉริยะแห่งวงการ ชีวิตของชายคนนี้ได้ผ่านจุดพลิกผันมามากมาย Bnomics Blockdit Originals วันนี้พบกับชีวิตของ Game Designer มือทอง ฮิเดโอะ โคจิมะ (Hideo Kojima) ผู้เคยเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างยุครุ่งโรจน์ให้แก่ค่ายเกมยักษ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
📌 วัยเยาว์และภาพยนตร์
“เจ็ดสิบเปอร์เซ็นในร่างกายของผม คือ ภาพยนตร์”
ประโยคนี้ เป็นคำนิยามตัวเองของ ฮิเดะโอะ โคจิมะ ที่แสดงให้เห็นถึงความหลงใหลต่อภาพยนตร์อย่างแท้จริงของเขา
เป็นเรื่องแปลกหากจะกล่าวว่าความฝันแรกของผู้สร้างเกมอัจฉริยะคนนี้แท้จริงแล้ว คือ การเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ หนึ่งในสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจของโคจิมะในการสร้างเกม บ่อยครั้งมาจากภาพยนตร์ที่ชื่นชอบ โคจิมะเคยเล่าว่าในวัยเด็ก
ในครอบครัวจะมีกิจกรรมดูหนังด้วยกันทุกคืนก่อนนอน หนังที่พ่อแม่คัดสรรมาให้มีหลากหลายประเภท หลายภาษา ซึ่งเป็นตัวจุดประกายให้โคจิมะเริ่มสนใจในการเล่าเรื่องผ่านเลนส์ของคนหลากหลายวัฒนธรรม ว่าพวกเขาเหล่านั้นมองเห็นโลกอย่างไร
ในสมัยที่ข้อจำกัดทางเทคโนโลยียังมีมาก โคจิมะมองภาพที่แสดงบนจอแบบแตกๆ เหลี่ยมๆ ขยับไปมา แล้วก็ปิ๊งไอเดียในการใช้เกมเป็นสื่อเล่าเรื่อง เพราะนอกจากความสนุกแล้ว เกมเองก็มีในส่วนของเนื้อเรื่องที่ควรจะต้องดีควบคู่ไปกับรูปแบบการเล่นที่สร้างสรรค์
แต่ความฝันก็ถูกตีตกไป เมื่อพ่อได้จากไปก่อนวัยอันควร ทิ้งให้คนทั้งบ้านต้องหาเงินกันวุ่น รวมถึงตัวโคจิมาเองที่ก็ต้องเลือกเข้าเรียนเศรษฐศาสตร์ เพื่อหาอาชีพมั่นคงจุนเจือครอบครัว
📌 เดินหน้าล่าฝัน
ผ่านยุคสมัยมาจนเด็กชายโคจิมะในวันนั้น เติบโตขึ้นมาเป็นนักศึกษาเศรษฐศาสตร์ไฟแรง ที่ยังมีความต้องการลึกๆ ว่าอยากจะเติมเต็มความฝันในวัยเด็กให้จงได้ แต่อาชีพนักพัฒนาเกมในสมัยนั้น ไม่ใช่อาชีพที่สังคมให้การยอมรับนัก เพราะเป็นอาชีพเกิดใหม่ รายได้ไม่มั่นคง
โคจิมะซุ่มเขียนบทภาพยนตร์ส่งประกวดไล่ตามความฝันแรกในชีวิตคือ การเป็นผู้กำกับ แต่ก็ชวดเกือบทุกครั้ง จึงกลับมาทบทวนตัวเอง นึกถึงความฝันอีกอย่างที่เขาหลงลืมมันไป นั่นคือการทำเกม ในตอนนั้นเป็นช่วงที่เครื่อง นินเทนโด ฟามิคอม (Nintendo Famicom) เป็นที่นิยม ตัวเขาเองก็เสพติดการเล่นเกมเหลือเกิน จึงเจอทางใหม่ของชีวิตเพราะเจ้าเครื่องเกมนี้
เขาไม่เพียงคิดอยากทำเกม แต่ยังทุ่มสุดตัวด้วยการตรงปรี่เข้าไปสมัครงานที่บริษัทโคนามิ (Konami) เพราะเล็งเห็นว่าที่แห่งนี้จะเปิดประตูแห่งโอกาสให้เขาได้อย่างแน่นอน ณ เวลานั้น บริษัทโคนามิ เป็นบริษัทเกมเดียวที่ได้เข้าตลาดหลักทรัพย์ ด้วยสายตาของบัณฑิตเศรษฐศาสตร์หนุ่ม นับว่าเป็นการตัดสินใจที่เฉียบแหลมอย่างยิ่งในการเข้าทำงานที่นี่
📌 บริษัทคู่บุญ สู่ คู่เวรคู่กรรม
ฮิเดะโอะ โคจิมะ ภายใต้ร่มเงาของบริษัทเกมยักษ์ใหญ่อย่าง โคนามิ ได้มอบคุณูปการมากมายไว้แก่วงการเกม ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนา Fox engine ที่สามารถช่วยให้การเล่นเกมหลายแพลตฟอร์มเสถียร ที่ได้ทำมาปรับใช้กับเกมในตำนานมากมาย แต่ถ้าจะพูดถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่โคจิมะได้มอบให้ คงไม่พูดถึงเกมตระกูล เมทัล เกียร์(Metal Gear) ไม่ได้
มากกว่าการนำสไตล์การเล่าเรื่องแบบภาพยนตร์มาปรับใช้ให้เนื้อเรื่องน่าติดตาม เมทัล เกียร์ ยังนับว่าเป็นจุดกำเนิดของเกมประเภท”ลอบเร้น” ซึ่งฉีกแนวจากเกมเดินหน้ายิงในยุคนั้น ด้วยระบบที่เน้นการซุกซ่อน ลอบเร้นทำภารกิจ มากกว่าการบู๊แหลกด้วยกระสุนหลายร้อยนัด จึงทำให้เกมเมทัลเกียร์ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในเกมที่ดีที่สุด ณ เวลานั้น
ค่ายโคนามิได้มองเห็นศักยภาพที่ทรงพลังของโคจิมะ จึงอนุมัติให้สร้างภาคใหม่ๆ ออกมาโดยมีชื่อทีม โคจิมะ โปรดักชัน (Kojima productions) ประดับไว้บนปกเกมเพื่อเป็นเครื่องการันตีความสนุกแก่แฟนๆ เสมอ
แต่แล้วในปี 2015 กรณีพิพาทก็เกิดขึ้นระหว่างบริษัทโคนามิ และ โคจิมะ ด้วยข้อกล่าวหาที่ทางบริษัทบอกว่าโคจิมะทะเยอทะยานจนผลาญงบไปกับการทำเกมจนเกลี้ยง จึงทำให้โคจิมะเลือกปลีกตัวออกจากบริษัทที่อยู่มาร่วมสิบปีไปโดยที่ตัวงานยังค้างเติ่ง เพราะทีมงานก็พากันย้ายตามมายกทีม
ทำให้เมื่อ Metal Gear Solid V: The Phantom Pain ถูกพัฒนาเสร็จ ทางบริษัทไม่มีกระทั่งจะให้เครดิตทีมโคจิมะ แถมยังกีดกันไม่ให้ขึ้นไปรับรางวัลแม้ตัวเกมจะประสบความสำเร็จบนเวทีมากมาย รวมถึง Silent Hill P.T. ที่ทางโคจิมะร่วมพัฒนาก็ถูกถอดออกจากร้านค้าไปอย่างไม่ใยดี ทำให้หุ้นบริษัทKonami ตกลงเหวไปพักใหญ่ๆ เลยทีเดียว
📌 ไร้โซตรวน
ในที่สุด โคจิมะก็ตัดสินใจเปิดบริษัท โคจิมะ โปรดักชันเป็นของตัวเอง และเดินหน้าพัฒนาเกมโดยที่ไม่มีใครมาหยุดยั้งได้
บริษัท โคจิมะ โปรดักชันเคยเปรยไว้ว่า เกมที่พวกเขากำลังจะทำ มันจะต้องเป็นเกมที่แตกต่าง และมีระบบแปลกใหม่ ซึ่งก็เป็นนิมิตหมายที่แสดงถึงตัวตนของโคจิมะได้เป็นอย่างดี
ย่างเข้าปี 2019 เกมใหม่ภายใต้ร่มเงาใหม่ก็ถูกพัฒนาจนเสร็จ
📌 Death Stranding (2019)
Death Stranding ถูกปล่อยให้จับจองหลังจากการตลาดโปรโมทที่ทำให้แฟนๆ ฉงนจนแทบจะทนไม่ไหว
โคจิมะยังคงสานต่อเกมแนวที่ตนเองสร้างขึ้นมาอย่างเกมลอบเร้น บวกกับระบบการเล่นและภารกิจแปลกใหม่ที่เน้นการเดินสำรวจความงามของสถานที่ นำทัพตัวละครที่ได้เค้าโครงหน้ามาจากนักแสดงดัง และเนื้อเรื่องที่แฝงไปด้วยปรัชญาแห่งชีวิตและความตาย
จึงทำให้ Death Stranding กลับมาอยู่ในกระแสและวงสนทนาได้อย่างง่ายดาย เป็นการกลับมาของสุดยอดนักสร้างเกมล้ำยุคอย่างสมศักดิ์ศรี
📌 อัฉริยะแห่งวงการเกม
IGN เว็บไซต์สื่อเกมจัดให้โคจิมะเป็นหนึ่งในนักพัฒนาเกมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล ถ้วยรางวัลที่ได้จากหลากหลายเวทีตลอดทั้งชีวิตการทำงานของเขาก็มากเกินกว่าจะเก็บไหว จึงขอสรุปส่งท้ายว่า ตลอดหลายสิบปีที่ชายคนนี้ได้โลดแล่นอยู่เบื้องหลังภาพเกมลอบเร้น เขาเป็นผู้พัฒนาที่มีความคิดยกระดับวงการเกมให้สดใหม่อยู่เสมอ ดังนั้นไม่แปลกเลยหากทุกคนจะยกย่อง ฮิเดะโอะ โคจิมะ ให้เป็น”อัจฉริยะแห่งวงการเกม” และหลายคนถึงขั้นเรียกติดปากขำๆ ว่าเขาเป็น”เทพ”ซะด้วยซ้ำ
“วงการเกมขยายใหญ่ขึ้นทุกวัน ดั่งจักรวาลก็ไม่ปาน
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงทำเกมต่อไป
มันเหมือนกับผมเป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล”
1
ผู้เขียน : นัยนา ภูมิลำเนา Content creator Intern, Bnomics
ภาพประกอบ : พันกร อรียพิพัฒน์ Graphic Design Intern, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา