Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
ศูนย์การเรียนรู้อิลมุลนาเฟียอ์ - مركز العلم النافع
•
ติดตาม
12 พ.ค. 2023 เวลา 17:43 • การศึกษา
#ควรวางตัวอย่างไรกับการเลือกตั้ง
بسم الله والصلاة والسلام على رسول الله وعلى آله وصحبه أجميعين
เมื่อพูดถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่วันนี้ ผมก็อยากจะพูดถึงกรณีที่นักวิชาการพอจะอนุญาตให้มีส่วนร่วมในการเลือกตั้งในประเทศที่ไม่ใช่มุสลิมและในระบอบที่ไม่ใช่อิสลาม นั่นคือกรณีที่การมีส่วนร่วมนั้นทำให้ได้มาซึ่งประโยชน์ของมุสลิม และป้องกันหรือลดความเสียหายทีเกิดขึ้นให้เบาบางลง
จะขอนำเสนอกฎฟิกฮ์ القواعد الفقهية สักเล็กน้อยที่พอจะเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่งก็มีคณาจารหลายท่านได้โพสไปบ้างแล้ว แต่โพสนี้จะนำเสนอหลักฐานของกฎที่มาจากตัวบทสักเล็กน้อย และกฎดังกล่าวคือกฎที่ว่า
الضرر الأشد يزال بالضرر الأخف
“ความอันตรายที่ใหญ่หลวงกว่าจะต้องถูกขจัดไปด้วยความอันตรายที่เบากว่า”
(ความหมาย คือ กฎข้อนี้จะพิจารณาในกรณีที่เมื่อมีความเสียสองความเสียหายประดังเข้ามาโดยที่ความเสียหายหนึ่งความเสียหายใดเกิดขึ้นแล้วซึ่งมันเป็นเสียหายมากที่สุดดังนั้นให้เลือกความเสียหายที่เบาที่สุดเพื่อขจัดความเสียหายที่ร้ายแรงที่สุดออกไป)
หรืออีกกฎหนึ่งที่คล้ายคลึงกัน ก็คือ
إذا تعارض مفسدتان روعي أعظمهما ضررا بارتكاب أخفهما
“เมื่อความเสียหายสองความเสียหายประดังเข้ามาพร้อมกัน ให้พิจารณาความอันตรายที่สุดจากทั้งสองด้วยการเลือกทำสิ่งที่เบาที่สุด”
(ความหมาย คือ กฎข้อนี้จะพิจารณาในกรณีที่เมื่อมีความเสียหายสองความเสียหายประดังเข้ามาพร้อมกัน แต่ยังไม่มีความเสียหายใดเกิดขึ้น ดังนั้นก็ให้เลือกความเสียหายที่เบาที่สุดเพื่อป้องกันการเกิดความเสียหายที่ร้ายแรงที่สุด)
ซึ่งกฎเหล่านี้อยู่ภายใต้กฎหลักที่ว่า لا ضرر ولا ضرار “จะต้องไม่สร้างอันตรายต่อผู้อื่น และจะต้องไม่ตอบแทนผู้อื่นที่สร้างความเสียหายแก่ตนเกินกว่าที่ชอบธรรม” หรือ الضرر يزال “ความอันตรายจะต้องถูกขจัดทิ้งไป”
ส่วนหลักฐานของกฎทั้งสองข้อนี้จะสรุปให้พี่น้องคร่าวๆ คือ
1 – ฮะดีษของท่านอนัสบินมาลิกซึ่งรายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม ที่มีชายคนหนึ่งเข้ามาในมัสยิดและทำการปัสสาวะในมัสยิด และบรรดาศอฮาบะฮ์ กำลังจะเข้าไปห้าม แต่ท่านนะบีได้ห้ามเอาไว้ และปล่อยให้ชายคนนั้นปัสสาวะจนเสร็จ และค่อยเอานำมาทำความสะอาดทีหลัง
จากเหตุการณ์นี้ นักวิชาการได้อธิบายว่า แง่มุมที่ใช้เป็นหลักฐาน มีความอันตรายหรือความเสียหายสำหรับชายคนนี้ที่กำลังปัสสาวะ อยู่สองความเสียหายด้วยกันคือ
หนึ่ง : การปล่อยเขาให้ปัสสาวะจนเสร็จซึ่งนั่นจะทำให้เพิ่มความสกปรก
สอง : การเข้าไปห้ามเขาทันที ซึ่งในกรณีนี้จะยิ่งทำให้เพิ่มความสกปรกทั้งร่างกาย เสื้อผ้า และสถานที่อื่นๆในมัสยิดเข้าไปอีก
และจากที่ปรากฎความเสียหายที่สองย่อมมากกว่าความเสียหายแรก ด้วยเหตุนี้ท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมจึงห้ามบรรดาศอฮาบะฮ์จากการห้ามชายคนดังกล่าวเพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่ร้ายแรง โดยเลือกความเสียหายที่ร้ายแรงกว่านั่นเอง
2.เหตุการณ์สนธิสัญญาฮุดัยบียะฮ์ ที่บรรดามุชริกีนได้วางเงื่อนไขกับท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัม ว่า “ใครก็ตามที่มาจากพวกเราเราจะไม่คืนเขาให้กับพวกท่าน ส่วนใครจากพวกเราที่ไปหาท่านพวกท่านจะต้องส่งกลับมาให้พวกเรา” จนบรรดาศอฮาบะฮ์กล่าวว่า : โอ้ท่านเราะซูลลุลลอฮ เราจะบันทึกข้อตกลงนี้หรือ ? ท่านเราะซูลกล่าวว่า : “ใช่แล้ว ใครก็ตามในหมู่พวกเราที่ไปหาเขา อัลเลาะฮ์จะส่งทำให้พวกเขาห่างไกล และใครก็ตามในหมู่พวกเขาที่มาหาเรา อัลเลาะฮ์จะทรงบรรเทาทุก และให้ทางออกแก่เขา”
แง่มุมที่นักวิชาการหยิบยกมาใช้เป็นหลักฐานคือ เงื่อนไขนี้เกิดความเสียหายกับบรรดามุสลิมก็จริงอันเนื่องจากการต่ำต้อย และการตอบแทนที่ไม่เท่าเทียมกันทั้งสองฝ่าย แต่กระนั้นท่านนะบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซัลลัมยอมรับเงื่อนไขนี้ เนื่องจากความเสียหายหรือความอันตรายที่เกิดขึ้นเบากว่าการนองเลือดบรรดามุสลิมที่มักกะฮ์ซึ่งเป็นความเสียหายที่ร้ายแรงกว่า นั่นเอง
ซึ่งหลังจากนั้นท่านอิบนุมัสอู๊ด เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ จึงได้กล่าวว่า “พวกท่านนับชัยชนะ (เหนือมุชริกีนมักกะฮ์) ในเหตุการณ์ พิชิตมักกะฮ์ แต่พวกเราถือว่าชัยชนะคือสนธิสัญญาฮุดัยบียะฮ์”
3.เรื่องราวในอัลกุรอานเกี่ยวกับนะบีคิเดรกับนะบีมูซาอลัยฮิสลาม ซึ่งหนึ่งในเหตุการณ์ของเรื่องดังกล่าวคือการที่นะบีคิเดรได้เจาะรูที่เรือเพื่อมิให้เรือถูกขโมยไปจากกษัตริย์ที่อธรรม ซึ่งในเรื่องนี้มีความเสียหายสองประการ คือ การที่เรือเกิดชกรูด และถูกขโมยซึ่งแน่นอนว่าการถูกขโมยคือความเสียหายร้ายแรงที่สุดดังนั้นท่านนะบีคิเดรจึงเลือกความเสียหายที่เบาที่สุดเพื่อป้องกันความเสียหายที่ร้ายแรงกว่า
และนี่ก็เป็นหลักฐานของกฎฟิกฮ์ข้อนี้ซึ่งผมสรุปมาจากหนังสือ الممتع في القواعد الفقهية ที่เคยใช้เรียนตอนปี 2 กับครูของผม
#และเมื่อพูดถึงการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย #สำหรับมุสลิมที่อาศัยอยู่ในประเทศที่ไม่ใช่อิสลาม สิ่งที่เราควรพิจารณาและทำความเข้าใจคือ
1.ระบอบประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ขัดกับอิสลามแต่ต้นแล้วดังนั้นนักวิชาการจึงอนุญาตให้มีส่วนร่วมได้ในบางกรณีไม่ได้เปิดกว้างในทุกกรณีแต่อย่างใด และกรณีที่พอจะอนุญาตให้เข้าร่วมได้คือกรณีที่การมีส่วนร่วมนั้นสามารถลดความเสียหายลง และได้มาซึ่งผลประโยชน์กับมุสลิม นั่นคือการชั่งผลดี และผลเสียที่ได้มานั่นเอง
ซึ่งก็จะเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ผมนำเสนอไป เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่แล้วล้วนมีนโยบายที่ขัดกับหลักการอิสลามทั้งสิ้น ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกพรรคไหน หรือแม้แต่การโหวต no เองล้วนแต่ต้องเจอกับสิ่งที่ผิดหลักการอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นสิ่งที่เราควรคำนึงคือทางเลือกไหนที่เป็นความเสียหายน้อยที่สุด และเป็นไปได้มากที่สุดที่ความเสียหายน้อยสุดนั้นมันจะเกิดขึ้น
2.ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนและเป็นประเด็นที่ต้องอาศัยการวินิจฉัย ดังนั้นคนที่ให้ความเห็นที่เหมาะสมที่สุดว่าควรจะเลือกทางเลือกใดควรมีความรู้ทางด้านศาสนา และความรู้การเมืองควบคู่กันไป เพื่อให้ได้ทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทที่เป็นอยู่ที่สุด
3.เมื่อเราได้ความเห็นที่เหมาะสมสำหรับเราจากผู้มีความรู้ที่เราเชื่อถือ แน่นอนย่อมมีคนที่ไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว ดังนั้นการที่เราจะไปบังคับใครให้มาเห็นด้วยกับความเห็นที่เรามองว่าถูกต้องที่สุดย่อมเป็นเรื่องยาก
ดังนั้นสิ่งที่เราพอทำได้คือการชี้แจงในมุมมองที่อ.ของเราแนะนำด้วยกับคำพูดที่ดี และเหมาะสมที่สุดในแต่ละบริบท และควรหลีกเลี่ยงการใช้คำพูดที่ไม่ดีที่เป็นการดูแคลนอีกฝ่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นมุสลิมด้วยกันแล้ว ยิ่งควรระวังให้มาก ถ้าหากเราใช้กฎเรื่องผลดี - ผลเสีย ในการวิเคราะห์ว่าจะเลือกใคร
ดังนั้นก็สมควรที่เราจะใช้กฎข้อนี้ในการนำเสนอกับผู้อื่นว่า หากใช้คำพูดหนึ่งคำพูดใดไปแล้วมันจะทำให้เกิดความเสียหาย หรือเกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง นี่คือสิ่งที่เราควรคำนึงถึงเช่นกัน
4.ไม่ควรนำประเด็นการเมืองเหล่านี้มาเป็นตัวสร้างความเป็นมิตร และเป็นศัตรูกัน (วะลาอ์-บะรออ์) เพราะฐานของระบอบนี้คือสิ่งที่ค้านกับอิสลามอยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ควรพิจารณาก็คือประโยชน์ และโทษที่เราจะได้รับจากระบบนี้ต่างหาก #และควรระวังการยึดติดกับพรรคการเมืองใดหรือบุคคลใดในพรรคการเมืองนั้นๆ จนนำไปสู่การเป็นศัตรูกับพี่น้องมุสลิมด้วยกัน วัลอิยาซุบิ้ลละฮ์
5.ที่สำคัญควรระวังการหมกมุ่นอยู่กับเรื่องเหล่านี้จนนำไปสู่การบกพร่องในเรื่องราวศาสนา
6.เราควรเผื่อพื้นที่ไว้สำหรับความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในบางกรณีที่เรารู้ไม่ถึงข้อเท็จจริง หรือกรณีที่เราอาจจะวิเคราะห์ผิดพลาดได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการเมืองบ้านเราที่ไม่ได้มีรากฐานมาจากบทบัญญัติอิสลามแต่ต้น ดังนั้นการวิเคราะห์สถานการณ์ในประเทศจึงต้องอาศัยการวินิจฉัยของผู้เชี่ยวชาญในด้านหลักการศาสนา และทางด้านการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้
ดังนั้นสิ่งที่ผมกำลังจะสื่อคือ การที่เราฟันธงว่าความเห็นของเราถูกต้องแบบร้อยเปอร์เซ็นความเห็นอื่นผิดหมด ย่อมเป็นสิ่งที่เราควรควรคำนึงให้ดี (ซึ่งผมยังไม่เห็นใครที่พูดแบบนั้นนะครับ แต่พูดเผื่อไว้ก่อนอาจจะมีพี่น้องท้วงติงได้)
และผมไม่ได้หมายความว่า งั้นก็ไม่มีความเห็นไหนถูกต้องเลยสิ เปล่าเลย เพราะเรื่องนี้มันก็คล้ายกับการที่เราให้น้ำหนักว่าความเห็นใดหรือทัศนะใดที่มีน้ำหนักที่สุด ซึ่งแน่นอนเราก็ต้องเลือกทัศนะหรือความเห็นที่เรามองว่ามีน้ำหนัก และถูกต้องที่สุดอยู่แล้ว ซึ่งอิมามอัชชาฟิอีย์ เราะฮิมะฮุลลอฮได้เคยกล่าวว่า :
قولي صحيح يحتمل الخطأ وقول غيري خطأ يحتمل الصواب
“คำพูดของฉันถูกต้องแต่ก็เป็นไปได้ว่าจะผิดพลาด ในขณะที่คำพูดบุคคลอื่นนอกจากฉันผิดพลาด แต่ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะถูกต้อง”
ขนาดในยุคของท่านที่ไม่ได้มีประเด็นปัญหาทางด้านฟิกฮ์ หรือปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นใหม่เหมือนในยุคนี้ท่านยังเผื่อตัวท่านเองสำหรับความผิดพลาด แล้วนับประสาอะไรกับยุคปัจจุบันที่มีประเด็นปัญหาทั้งทางเรื่องฟิกฮ์ และทางสังคมเกิดขึ้นใหม่อย่างมากมายจะไม่ยิ่งกว่าหรือ ? และเรื่องนี้ก็ไม่ได้มีหลักฐานรองรับโดนตรงจากอัลกุรอาน และฮะดีษดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องอิจติฮาด(วินิจฉัย)โดยพิจารณาที่ผลได้ ผลเสียที่จะได้รับ ฉะนั้นเราจึงต้องวางตัวให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่สุด วัลลอฮุอะอ์ลัม
وصلى الله على نبينا محمد وعلى آله وصحبه وسلم
เครดิต : อ. อักรอม ชาจิตตะ
อิสลาม
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย