13 พ.ค. 2023 เวลา 04:10 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ศึกรถยนต์ไฟฟ้ากับไฮโดรเจน

ท่ามกระแสความนิยมของเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า เชื้อเพลิงทางเลือกที่มีราคาถูกกว่าน้ำมัน ที่นับวันจะมีแต่ราคาสูงขึ้น และที่สำคัญรถยนต์ไฟฟ้าจะไม่ปล่อยมลพิษสารคาร์บอนมอนอกไซด์ที่ก่อให้เกิดสภาวะเรือนกระจก นำไปสู่ปัญหาโลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมของโลกโดยรวม
รถยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นตัวเลือกที่กำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน นับตั้งแต่ Tesla ได้เปิดตัวรถไฟฟ้าโมเดลแรก อุตสาหกรรมยานยนต์โลกก็เริ่มตื่นตัวกับการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในค่ายของตนเอง ซึ่งในช่วงนี้ก็มีบริษัทรถยนต์หลายค่ายได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้าโมเดลใหม่กันอย่างต่อเนื่อง
Tesla Roadster 1st Gen.
ย้อนไปเมื่อ 10 ปีก่อน รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเข้ามาในอุตสาหกรรมยานยนต์ในลักษณะของรถยนต์ไฮบริด ที่ใช้ทั้งน้ำมันและไฟฟ้าทำงานประสานกัน ซึ่งสามารถลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันลงได้ประมาณ 50% รถยนต์ไฮบริดจึงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องตลอดมา จนมาถึงวันที่อีลอนมัสก์ได้เปิดตัวรถยนต์ Tesla Roadster ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% ในปี 2008 รถสปอร์ตหรู 2 ที่นั่งที่ทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
Tesla model S
จนมาถึงในปี 2012 รถยนต์ไฟฟ้า Tesla model S รูปแบบของรถยนต์ซีดานที่สามารถใช้งานในชีวิตประจำวันเหมือนรถยนต์ทั่วไป ที่สามารถทำระยะได้มากกว่า 400 กิโลเมตรต่อชาร์จ สามารถทำความเร็ว 0-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในเวลาเพียง 4 วินาที ทำให้บริษัทรถยนต์ทั่วโลกจับตามอง ทำให้บริษัท Tesla Motors จะทำการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในรุ่นต่อมาอีกหลายรุ่น เพื่อเป็นการตอกย้ำความชัดเจนของทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในอนาคต
กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ก็เริ่มพัฒนาแล้วออกรถยนต์ไฟฟ้าโมเดลใหม่ๆ จากค่ายของตัวเอง รวมถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนก็เร่งการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน แต่ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นยังคงมองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเพียงแค่โปรเจคทดลองในห้องปฏิบัติการ และเดินหน้าพัฒนารถยนต์ไฮบริดในเชิงพาณิชย์ต่อไป
แต่การที่อุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นดูเหมือนจะไม่ค่อยสนใจเทคโนโลยีรถยนต์ไฟฟ้า 100% เท่าไหร่นัก มีเพียงรถยนต์ Nissan Leaf ผลิตออกมาแข่งขันในตลาดตั้งแต่ปี 2011 จนถึงปัจจุบัน แต่ก็เป็นการจำหน่ายอยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปและอเมริกาเหนือเป็นส่วนใหญ่ ประเทศไทยก็มีการนำเข้ามาจำหน่ายเหมือนกันแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จทางด้านการตลาดเท่าไรนักอาจจะด้วยอุปสรรคคู่แข่งรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา กระแสความต้องการของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อุตสาหกรรมยานยนต์ของญี่ปุ่นน่าจะมองว่าตลาดมีความคุ้มค่าที่จะลงทุน จึงทำให้ในปีที่ผ่านมา บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นหลายค่ายเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% โดยเฉพาะบริษัทโตโยต้าได้เปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า 100% ใครภายใต้แบรนด์ Lexus มากถึง 30 รุ่นในคราวเดียว ซึ่งคาดว่าจะทยอยออกมาส่งมอบถึงมือลูกค้าไปจนกระทั่งปี 2030
เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ ซีอีโอของบริษัท Toyota ประเทศญี่ปุ่น นายโคจิซะโต ได้ประกาศอย่างชัดเจนถึงการสนับสนุนการพัฒนารถยนต์ในกลุ่ม FCV (Fuel Cell Vehicles) โดยเฉพาะพลังงานไฮโดรเจนมากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า (EV - Electric Vehicles) เพราะไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาดที่ไม่ปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อม และเชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็ยังมีความปลอดภัยในการบรรจุเข้าสู่รถยนต์เต็มถังด้วยเวลาเพียง 5 นาที และหาได้ง่าย ไม่เหมือนรถยนต์ไฟฟ้าที่ยังคงต้องแก้ปัญหาเกี่ยวกับความมีจำกัดของวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตและการรีไซเคิลแบตเตอรี่
Toyota Marai (Hydrogen)
Honda CR-V (Hydrogen)
Hyundai Nexo (Hydrogen)
รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนจัดอยู่ในกลุ่ม FCV ที่ใช้พลังงานเชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่เป็นพลังงานสะอาดไม่ก่อให้เกิดมลพิษเพราะสิ่งที่ถูกขับออกมาจากเครื่องยนต์ไฮโดรเจนคือน้ำ ซึ่งแตกต่างจากเชื้อเพลิงน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ปัจจุบันการผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนในเชิงพาณิชย์มีอยู่ด้วยกัน 3 ค่ายได้แก่ Toyota Honda และ Hyundai ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วในปัจจุบันน่าจะมีรถยนต์พลังงานไฮโดรเจนวิ่งอยู่ในท้องถนนทั่วโลกเกือบ 1 ล้านคัน
ในปัจจุบันค่ายยุโรปมีเพียง BMW และ Renault ยังคงมีวิสัยทัศน์และเดินหน้าพัฒนารถยนต์ไฮโดรเจน ในขณะที่ค่ายรถยนต์ Audi และ Mercedes มุ่งหน้าสู่อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว
Renault Hydrogen concept car
BMW iX5 (Hydrogen)
ถ้าจะเปรียบการแข่งขันทางการตลาดระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ไฮโดรเจน ก็ยังพูดได้ไม่เต็มปากว่าเทคโนโลยีของใครจะยั่งยืนกว่ากัน รถยนต์ไฟฟ้าก็เพิ่งจะได้เทคโนโลยีที่สามารถทำให้รถวิ่งได้นานและชาร์จไฟฟ้าได้เร็วเมื่อไม่ถึง 5 ปีที่ผ่านมา ในขณะที่รถยนต์ไฮโดรเจนแม้จะมีการพัฒนาในห้องทดลองมานานแล้ว แต่ก็เพิ่งจะมาจริงจังเมื่อไม่กี่ปีมานี้เช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันสถานีเติมเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับสถานีชาร์จไฟฟ้า ต้นทุนของการสร้างสถานีไฮโดรเจนก็ยังแพงกว่าสถานีไฟฟ้า
ในระยะ 3-5 ปีจากนี้ไป น่าจะเป็นปีทองของรถยนต์ไฟฟ้า ยอดการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าในทั่วโลกคงจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รถยนต์ไฮโดรเจนคงพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะไม่เร็วนักแต่ก็จะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของรถยนต์ในอนาคตอย่างแน่นอน จนกว่าจำนวนการผลิตรถยนต์ไฮโดรเจนจะถึงจุดได้เปรียบของต้นทุนการผลิต (Economy of scale) และมีสถานีเติมไฮโดรเจนมากเพียงพอ
ข้อดีของรถยนต์ไฮโดรเจนก็มีมาก สิ่งที่ได้จากการเดินเครื่องยนต์ไฮโดรเจนก็คือ "น้ำ" ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษ
แต่ข้อดีของรถยนต์ไฮโดรเจนก็มีมาก สิ่งที่ได้จากการเดินเครื่องยนต์ไฮโดรเจนก็คือ "น้ำ" ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลพิษอย่างแน่นอน การเติมก๊าซไฮโดรเจนก็ทำได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียง 5 นาทีก็เต็มถัง เทคโนโลยีปัจจุบันสามารถทำให้วิ่งได้ระยะทาง 750 - 850 กิโลเมตรต่อการเติมก๊าซเต็มถัง นับว่ามีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย มาเทียบกับรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อชาร์จเต็มที่ก็วิ่งได้ระยะทางน้อยกว่านี้อย่างแน่นอนและใช้เวลาชาร์จไฟฟ้านานกว่า
การแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้ากับรถยนต์ไฮโดรเจน ยังคงต้องดูกันไปในระยะยาว เพื่อเปรียบเทียบข้อดีและข้อด้อยของแต่ละเทคโนโลยีที่จะพัฒนาต่อไปในอนาคต บทความนี้คงพอที่จะทำให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภาพเปรียบเทียบกันพอสังเขป ในประเทศไทยยังไม่มีรถยนต์ไฮโดรเจนจำหน่ายอย่างเป็นทางการ ในอนาคตก็มีความเป็นไปได้
โฆษณา