Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คุณากร คำมุข
•
ติดตาม
15 พ.ค. 2023 เวลา 00:05 • การเมือง
เปิดประวัติ“พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ” นายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของประเทศไทย
พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ มีชื่อเล่นว่า ตึ๋ง แต่คนส่วนใหญ่นิยมเรียกว่า บิ๊กจิ๋ว เกิดวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของร้อยเอก ชั้น ยงใจยุทธ และนางสุรีย์ศรี(นามเดิม ละมุน) ยงใจยุทธ มีพี่สาวต่างบิดาชื่อ สุมน สมสาร และน้องชายต่างมารดาชื่อธรรมนูญ ยงใจยุทธ
มีศักดิ์เป็นพระภาดา(ลูกพี่ลูกน้อง) ในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช อดีตนักแข่งรถชาวไทย พระโอรสในสมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช กับหม่อมเล็ก ภาณุพันธุ์ ณ อยุธยา ซึ่งเป็นพี่สาวของบิดาตนเอง
พลเอก ชวลิตสำเร็จการศึกษาระดับชั้นมัธยมตอนปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา จากนั้นเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2496(รุ่นที่ 1 รุ่นเดียวกับพลเอก สุนทร คงสมพงษ์) และ โรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่อ พ.ศ. 2507
หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2518 ด้วยชัยชนะของฝ่ายเวียดนามเหนือ และกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังออกจากภูมิภาคอินโดจีน กองทัพเวียดนามจึงเริ่มรุกรานประเทศกัมพูชา จนเกิดเป็นสงครามกัมพูชา-เวียดนามขึ้น ทำให้รัฐบาลเขมรแดงซึ่งมีจีนคอมมิวนิสต์หนุนหลังอยู่หมดอำนาจลง
แต่กองกำลังของเขมรแดงได้ถอยร่นมาอยู่บริเวณภาคตะวันตกของกัมพูชา นอกจากนี้กองทัพเวียดนามยังมีการประกาศว่ามีศักยภาพที่จะยึดกรุงเทพฯได้ภายใน 2 ชั่วโมง ทำให้ไทยต้องตรึงกำลังทหารตลอดชายแดนไทย-กัมพูชา จนกระทั่งปี พ.ศ. 2528 กองทัพเวียดนามได้ส่งทหารเข้าโจมตีกองกำลังเขมรแดงจนลึกเข้ามาถึงในอาณาเขตของไทย ทำให้เกิดการปะทะกับทหารไทยเป็นระยะๆ ประกอบกับกองทัพสหรัฐอเมริกาได้ถอนกำลังไปแล้ว รัฐบาลไทยจึงมีความวิตกกังวลในเรื่องการรับมือเวียดนามเป็นอันมาก
ระหว่างนั้นรัฐบาลไทยได้ส่งคณะนายทหารจำนวน 3 นายปฏิบัติราชการลับ ซึ่งประกอบด้วย พลโทผิน เกสร, พันเอกชวลิต ยงใจยุทธ และ พันเอกพัฒน์ อัคนิบุตร เดินทางไปเจรจาความกับเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ประเทศจีน โดยจีนได้ตกลงที่จะเลิกให้ที่พักพิงกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย(พคท.) และยังได้สนันสนุนยุทโธปกรณ์จำนวนหนึ่งให้แก่กองทัพไทย
นำไปสู่การก่อสงครามกับเวียดนาม พันเอกชวลิต ยศในขณะนั้น ได้รับเกียรติจากกองทัพจีนให้ยิงปืนใหญ่นัดแรกจากกว่างซีเข้าสู่ดินแดนเวียดนาม ทำให้เวียดนามต้องถอนกำลังจากกัมพูชาเพื่อไปต้านการรุกรานจากจีน ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้รับฉายาว่า“ขงเบ้งแห่งกองทัพบก”
พลเอก ชวลิตเข้าสู่แวดวงทางการเมือง จากการก่อตั้งพรรคความหวังใหม่(ควม.) ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี พ.ศ. 2535 โดยเป็น 1 ในผู้ที่ปราศรัยขับไล่ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ที่สนามหลวงเป็นคนแรกด้วย ต่อมาในภายหลัง พรรคความหวังใหม่กลายเป็นพรรคที่มีผู้สนับสนุนมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 พรรคความหวังใหม่ชนะในการเลือกตั้ง พลเอก ชวลิต ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 22 ของประเทศไทย แต่ต่อมาได้ลาออก เนื่องจากเกิดวิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเขาเป็นผู้รับผิดชอบในการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้ประเทศไทยประสบภาวะล้มละลาย และลุกลามไปทั่วโลก ก่อนที่จะย้ายไปสังกัดพรรคไทยรักไทย ในปี พ.ศ. 2544 โดยได้รับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร สมัยแรก
หลังเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พลเอก ชวลิต พยายามจะเป็นผู้เสนอตัวไกล่เกลี่ยทำความเข้าใจระหว่างกลุ่มผู้ที่ขับไล่และสนับสนุนนายทักษิณให้สมานฉันท์ โดยเรียกบทบาทตัวเองว่า"โซ่ข้อกลาง" รวมทั้งมีการข่าวว่าอาจจะเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าพรรคพลังประชาชน(พปช.) แต่ที่สุดตำแหน่งนี้ก็ตกเป็นของนายสมัคร สุนทรเวช
ต่อมาในรัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้เข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่เจรจากับฝ่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) โดยเฉพาะ แต่หลังจากรับตำแหน่งเพียงไม่กี่วัน ก็เกิดเหตุการณ์นองเลือดที่หน้าอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2551 เขาจึงตัดสินใจประกาศลาออก
ในกลางปี พ.ศ. 2552 หลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในกรณีเหตุการณ์นองเลือดหน้ารัฐสภา
พลเอก ชวลิตก็ได้สมัครเข้าสู่พรรคเพื่อไทย(พท.) ด้วยเหตุผลที่ว่า ต้องการสร้างความสามัคคีให้กับคนในชาติ โดยไม่ต้องการเป็นคู่ขัดแย้งกับใคร ซึ่งต่อมาเขาได้ดำรงตำแหน่งประธานพรรค
จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553 พลเอก ชวลิต ปรากฏตัวในเวทีของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) โดยประกาศตอนหนึ่งว่า นายวีระ มุสิกพงศ์ 1 ในแกนนำแน่มาก และไม่เคยเห็นมหาชนที่ประกอบภารกิจที่ศักดิ์สิทธิ์ของแผ่นดิน และทำสำเร็จแล้ววันนี้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จะทำอะไรอย่าไปสนใจ ต่อมาวันที่ 19 เมษายน ปีเดียวกัน พลเอก ชวลิต และนายสมชายได้ออกแถลงการณ์ขอร้องให้พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงหยุดวิกฤตการเมือง
วันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2554 พลเอก ชวลิตประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคเพื่อไทย ทั้งนี้คนใกล้ชิดของท่านระบุว่า เกิดจากความไม่พอใจที่มีสมาชิกพรรคบางคนเข้าร่วมกิจกรรมกับทางกลุ่มนปช. หรือ กลุ่มคนเสื้อแดง และมีพฤติกรรมจาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ก่อนหน้านั้นไม่นาน
ภายหลังรัฐประหารในประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 เขากล่าวเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม ปีเดียวกันว่า ให้พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชาระวังจะเกิดการปฏิวัติซ้ำ ต่อมาในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ได้กล่าวตอนนึงว่า การบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ทำให้เศรษฐกิจดีหรือไม่นั้นต้องไปถามประชาชนว่ากินอิ่ม นอนหลับหรือไม่ ถ้าประชาชนยังไม่มีกินก็ต้องไปแก้ปัญหาตรงนี้ ซึ่งนับเป็นปัญหาของทุกรัฐบาล ในขณะที่ คุณหญิง พันธุ์เครือ ยงใจยุทธ แสดงความเห็นว่า พลเอก ประยุทธ์ไม่มีความเคารพผู้เป็นสามี
ด้านชีวิตครอบครัว สมรสครั้งแรกกับนางวิภา ยงใจยุทธครั้งที่ 2 กับนางพิมพ์นิภา มนตรีอาภรณ์(นามเดิม ประเสริฐศรี จันทน์อาภรณ์) สมรสครั้งที่ 3 กับคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ(สกุลเดิม ลิมปภมร) และสมรสครั้งที่ 4 นางกับอรทัย ยงใจยุทธ เขามีบุตร 3 คนกับภรรยาคนแรก คือ นายคฤกพล ยงใจยุทธ นางอรพิณ นพวงศ์(ถึงแก่กรรม) และพันตำรวจตรีหญิง ศรีสุภางค์ โสมกุล
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย