15 พ.ค. 2023 เวลา 04:46 • บันเทิง

ตราปศุปติ(Pashupati seal)

ตอนที่ 5 เทพมีเขา(Horned Deity)
ตราปศุปติ หรือตราประทับหมายเลข42 เป็นตราประทับโบราณในสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ตราประทับนี้เชื่อกันว่าสลักรูปของพระปศุปติซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะสื่อความหมายถึงการเป็นเจ้าแห่งสรรพชีวิตทั้งปวง การตีความนี้เป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างอีกทั้งยังมีอิทธิพลต่อแนวคิด ทางด้านความเชื่อ ศาสนาของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามยังมีนักวิชาการบางส่วนไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้และพยายามนำเสนอหลักฐานใหม่ๆเพื่อหักล้างแนวคิดเดิม
เทพมีเขา(Horned Deity)
เทพ(Deity)คือสิ่งที่มีพลังเหนือกว่ามนุษย์ มนุษย์บูชานับถือเพทมาตั้งแต่สมัยอดีตกาล เชื่อกันว่าเทพคือผลผลิตจากความพยายามอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆทางธรรมชาติของมนุษย์ในยุคโบราณ โดยในยุคเริ่มแรกเพทอยู่ในรูปของพลังงาน หรือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ และพัฒนาต่อมาเป็นเทพที่มีรูปลักษณ์ เช่นมีรูปร่างเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์สัตว์ หรือเป็นการผสมกันระหว่างมนุษย์และสัตว์เป็นต้น
การบูชาเหล่าเทพของมนุษย์ในยุคโบราณส่วนหนึ่งมาจากความกลัวเกรงในปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ หรือเกิดความต้องการในสภาวะบางอย่างเพื่อให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้
โดยผู้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเทพเป็นสิ่งที่มีตัวตนจริงๆ เทพคอยช่วยเหลือชี้นำหนทางต่างๆให้กับมนุษย์ และจะเลือกสื่อสารกับเฉพาะมนุษย์ที่มีความเหมาะสมเท่านั้น ในขณะที่บางส่วนเชื่อว่าเทพบางองค์คือบุคคลสำคัญ หรือวีรบุรุษคนสำคัญในสมัยอดีดซึ่งเรื่องราวบางส่วนของพวกเขาอาจถูกดัดแปรงไปตามกาลเวลา รวมทั้งรูปเคารพที่สร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้คนในสมัยหลังจึงทำให้บุคคลเหล่านี้ดูแตกต่างจากมนุษย์ปกติ รูปลักษณ์ของเทพแตกต่างกันไปในแต่ศาสนา ความเชื่อ และวัฒนธรรม
ในส่วนของเทพมีเขานั้นพบได้ในหลากหลายวัฒนธรรม และความเชื่อทั่วโลก มีการกล่าวถึงเทพมีเขามาตั้งแต่ในสมัยโบราณ แนวคิดเรื่องเทพมีเขาบางส่วนเชื่อกันว่ามาจากอิทธิพลของสัตว์ที่มีเขาและจินตนาการของมนุษย์ ทำให้เทพมีเขาเหล่านี้ถูกเชื่อมโยงกับแนวคิดบางอย่างมาตั้งแต่สมัยโบราณ ตัวอย่างเช่นควาย กระทิง แสดงออกถึงความดุดัน ความเข้มแข็ง ความทรงพลัง กวางแสดงออกถึงความความสวยงาม ความฉลาดปราดเปรียว ความว่องไว ความเป็นผู้รักสันโดษ เป็นต้น
มนุษย์ในสมัยโบราณนิยมใช้ขนสัตว์ เขี้ยว และเขาสัตว์เป็นเครื่องประดับ หรือเครื่องแสดงสถานทางสังคม นักล่าในสมัยโบราณนิยมพรางตัวด้วยขนสัตว์ และเขาสัตว์เพื่อให้กลมกลืนไปกับธรรมชาติ ในขณะที่เหล่าหมอผีสวมใส่หน้ากากที่มีเขาหรือหมวกที่ประดับด้วยเขาขณะทำพิธี หรือเหล่านักรบขณะออกรบก็มักสวมใส่หมวกที่ประดับด้วยเขาสัตว์ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงไม่แปลกที่เหล่าเทพเจ้าขอมมนุษย์ในยุคโบราณจะเป็นเทพเจ้าที่มีเขาคล้ายเขาของสัตว์
ในส่วนของการตีความตราประทับปศุปติจากอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุนั้นมีนักวิชาการหลายท่านให้ความเห็นที่แตกต่างกัน การตีความหนึ่งที่มีความน่าสนใจคือการตีความอักษรสินธุที่สลักอยู่ส่วนบนของตราปศุปติ โดยเทียบกลับไปเป็นคำในภาษาสันสกฤตได้คำว่า Ma + Isha ที่มีความหมายว่าเทพธิดาผู้ยิ่งใหญ่ เจ้าแม่ หรือพระแม่(Mother Goddess) ในขณะหากนำอักษรบนตราประทับไปตีความเทียบกับคำในภาษาทมิฬจะได้คำว่าEruma ซึ่งหมายถึงควาย การตีความตราประทับในแง่มุมของเทพที่เป็นสตรีได้นำเสนอไว้ในบทความก่อนหน้านี้แล้ว
ในส่วนของการตีความตราประทับในแง่มุมของเทพที่มีเขานั้นก็มีนักวิชาการหลายท่านได้ออกมาแสดความคิดเห็น
มนุษย์ควาย(Divine Buffalo-Man)
ในปี พ.ศ. 2519 ดอริส เมธ ศรีนิวาสันต์(Doris Meth Srinivasan)ศาสตราจารย์ด้าน Indological Studies ได้ตีความตราประทับนี้ โดยนำไปเปรียบเทียบกับหน้ากากมีเขา วัวดินเผา ลวดลายจากภาชนะ พร้อมตั้งข้อสังเกตที่ลวดลายบริเวณด้านข้างของศีรษะบนตราประทับมีลักษณะคล้ายกับหูของวัวหรือควายมากกว่าจะเป็นใบหน้าด้านข้างของมนุษย์ ในส่วนของใบหน้าตรงกลางก็แสดงลักษณะเด่นของวัวหรือควายด้วย
ในส่วนของท่านั่งที่มีลักษณะคล้ายกับการนั่งสมาธินั้นอาจตีความได้ว่าร่างบนตราประทับนี้อาจเป็นผู้ที่ได้รับการบูชา ดังนั้นศรีนิวาสันต์จึงตั้งสมมติฐานถึงรูปร่างบนตราประทับนี้น่าจะมนุษย์ควายมากกว่าจะเป็นร่างของพระปศุปติ
แนวคิดเรื่องมนุษย์ควายนี้มีนักวิชาการหลายท่านเห็นด้วยและมีการเชื่อโยงไปถึงมหิชาสุระ(Mahishasura) หรือที่คนไทยรู้จักกันในชื่อมหิษาสูร ปีศาจควายที่มีเรื่องเล่าปรากฏอยู่ในคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู หลายฉบับอาทิ คัมภีร์สกันทปุระ คัมภีร์วราหปุระ คัมภีร์วามนปุราณะ และคัมภีร์มารกัณเฑยปุราณะ
โดยแต่ละฉบับอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปบ้าง แต่ประเด็นสำคัญคือ มหิชาสุระหรือมหิษาสูรเป็นอสูรที่มีฤทธิ์มากเนื่องได้รับพรจากพระพรหม มหิชาสุระได้ทำสงครามกับเหล่าเทวดาและสร้างความเดือดร้อนให้กับทั้งสามโลก แต่สุดท้ายก็ถูกพระแม่ทุรคา(ปางหนึ่งของพระแม่อุมาชายาของพระศิวะ)สังหารลง
สิ่งที่น่าสนใจต่อมาของแนวคิดนี้คือหากตราประทับนี้สลักรูปต้นแบบของอสูรควายที่ในเวลาต่อมาจะกลายมาเป็นมหิชาสุระที่ถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู นั่นแสดงถึงการผสมผสานความเชื่อขึ้นระหว่างชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุหรือชาวดราวิเดียนผู้ที่อยู่ในดินแดนแถบนี้มาก่อนกับชาวชาวอารยันผู้ที่อพยพเข้ามาใหม่ การผสมผสานนี้แสดงออกถึงการควบรวมความเชื่อทางศาสนา และนัยยะทางการเมืองการปกครอง
อีกสิ่งหนึ่งที่มีความน่าสนใจไม่แพ้กันคือที่มาของความเชื่อเรื่องมนุษย์ควายนี้ชาวอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ได้รับสืบทอดมาจากที่ใด สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอารยธรรมของพวกเขา หรือพวกเขารับแนวคิดนี้มาจากดินแดนอื่น ผ่านผู้คนที่อพยพเข้ามา หรือผ่านทางการติดต่อค้าขาย แต่อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องมนุษย์ควายนี้ก็เป็นเพียงแค่แนวคิดรองที่ได้รับความนิยมน้อยกว่าแนวคิดของพระปศุปติที่เป็นปางหนึ่งของพระศิวะ
รูปhttps://commons.wikimedia.org/wiki/File:Horned_deities_on_an_Indus_Valley_seal_with_detail.jpghttps://www.harappa.com/slide/maskhttps://www.harappa.com/blog/horned-figure-copper-tablethttps://www.harappa.com/slide/molded-tablet0
โฆษณา