16 พ.ค. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ภาวะอาหารแพงในประเทศหลักทั่วโลก เริ่มมีแนวโน้มคลี่คลาย

ราคาอาหารในประเทศหลักทั่วโลกนั้นสูงมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะในยุโรปที่อัตราเงินเฟ้อด้านราคาอาหาร (food inflation) เพิ่งจะแตะระดับสูงสุดที่เคยมีมาไปในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา (แผนภูมิ 1) จากการคำนวณของศูนย์วิจัย Capital Economics ราคาอาหารที่สูงขึ้นใน 18 เดือนที่ผ่านมานั้น ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศพัฒนาแล้วสูงขึ้นประมาณ 1%
หนึ่งในเหตุผลหลักที่ทำให้ราคาอาหารพุ่งสูงและไม่ยอมลงมาง่ายๆ ก็มาจากราคาต้นทุนที่สูงขึ้น อย่างการที่ตลาดแรงงานใน สหรัฐฯ หรือ ยุโรป ค่อนข้างตึงตัว ก็ไปกดดันให้ค่าจ้างแรงงานในอุตสาหกรรมอาหารแพงขึ้น ดูจากสหรัฐฯ ที่ค่าแรงของพนักงานในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาหารโตเกิน 10% ไปแล้วในปีที่ผ่านมา
ราคาพลังงานก็เป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่สำคัญ เนื่องจากกระบวนการผลิตอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการขนส่ง การลงปุ๋ย หรือการแปรรูปอาหารด้วยเครื่องจักร
ต่างก็ใช้พลังงานทั้งนั้น เพราะเหตุนี้ อัตราเงินเฟ้อด้านราคาพลังงาน (energy inflation) ในยุโรปและอังกฤษที่พุ่งขึ้นเกิน 40% และ 50% ตามลำดับ
ก็ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมราคาอาหารในพื้นที่เหล่านี้ถึงแพงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังพอมีเหตุผลให้เชื่อว่าราคาอาหารในประเทศหลักทั่วโลกจะเริ่มลดลงในอีกไม่ช้า อย่างแรกเป็นเพราะราคาพลังงานทั่วโลกได้เริ่มลดลงมาอย่างต่อเนื่องแล้วในไม่กี่เดือนที่ผ่านมา (แผนภูมิ 2) ที่ผ่านมาในสหรัฐฯ
เมื่อราคาพลังงานเริ่มลดลง ราคาอาหารก็ค่อย ๆ ลดลงตามในไม่กี่เดือนต่อมา ซึ่งยุโรปและประเทศอื่น ๆ ก็น่าจะได้เห็นปรากฏการณ์ลักษณะนี้เช่นกันเมื่อราคาพลังงานลดลง
อย่างที่สอง ราคาสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร ก็ลดลงมาเรื่อย ๆ แล้วเช่นกัน จากรายงานของสหประชาชาติ (United Nations) ดัชนีราคาอาหารของ FAO (Food and Agriculture Organization)
ซึ่งเป็นดัชนีที่คำนวณมาจากราคาอาหารที่ถูกซื้อขายในตลาดมากที่สุด ได้ลดลงติดต่อกันมาเป็นเวลา 12 เดือน นับตั้งแต่ระดับสูงสุดในเดือนมีนาคมปีที่แล้วที่เกิดความขัดแย้งระหว่างรัสเซียละยูเครน
ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ก็มาจากมีสินค้าเหลือพอ ความต้องการซื้อจากประเทศอื่นที่ลดลง และข้อตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ทำให้การส่งออกธัญพืชผ่านทะเลดำ (Black Sea) เป็นไปได้อย่างปลอดภัย
แม้นักวิชาการหลายคนจะมองว่ามีแค่ราคาอาหารโลกโดยรวมที่ลดลง ไม่ใช่ราคาอาหารในแต่ละประเทศ
แต่ผลจากราคาอาหารโลกที่ถูกลงก็น่าจะถูกส่งต่อมายังแต่ละประเทศในอีกไม่ช้า เนื่องจากมันมีระยะเวลาก่อนที่ราคาขายส่งที่เปลี่ยนไปจะส่งต่อมาถึงราคาที่ผู้บริโภคซื้อ ทั้งนี้ สมาคมผู้ประกอบธุรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (BRC) ได้กล่าวไว้ว่า มันใช้เวลาอย่างมากถึง 9 เดือน กว่าที่ราคาขายส่งที่ถูกลงจะทำให้ราคาขายปลีกถูกลงตาม
โดยสรุปแล้ว ทั้งราคาพลังงานและราคาสินค้าเกษตรโลกที่ลดลง ก็น่าจะช่วยให้ภาวะราคาอาหารเฟ้อในประเทศหลักทั่วโลกคลี่คลายได้ไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจกระทบห่วงโซ่อุปทานอาหารอีกครั้ง หรือ ตลาดแรงงานในประเทศหลักที่ยังคงตึงตัว
ผู้เขียน : บูชิตา ปิตะกาศ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Sources :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา