16 พ.ค. 2023 เวลา 01:57 • บันเทิง

ตราปศุปติ(Pashupati seal)

ตอนที่ 7 พระรุทร(Rudra)
ตราปศุปาติ(Pashupati seal)ตราประทับโบราณอายุราว2,300-2,000 ปีก่อนก่อนคริสต์ศักราช จากแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ ตราประทับนี้ถูกตีความโดยนักโบราณคดีชาวอังกฤษจอห์น มาร์แชลว่าคือภาพต้นแบบของพระปศุปติผู้เป็นเจ้าแห่งสัตว์และเป็นปางหนึ่งของพระศิวะ
ด้วยอายุอันเก่าแก่ของตราประทับที่สร้างขึ้นก่อนช่วงเวลาของชาวอารยันจะเดินทางมาถึงดินแดนในแถบนี้ ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องตัวตนของพระศิวะว่าอาจเคยเป็นเทพของชนพื้นเมืองมาก่อนดังปรากฏหลักฐานเป็นตราประทับปศุปตินี้ แล้วภายหลังจึงถูกผนวกเข้าไปเป็นเทพในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู
บทความในตอนนี้จะนำเสนอเรื่องราวของพระศิวะที่ปรากฏในคัมภีร์ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูโดยเฉพาะอย่างยิ่งคัมภีร์พระเวทซึ่งเชื่อว่ามีความเก่าแก่ถึง3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช หากพระศิวะเป็นเทพของชนพื้นเมืองมาก่อนจริงแล้วถูกชาวอารยันผนวกเข้ามาในศาสนาของตนก็อาจจะมีร่องรอยหลักฐานบางอย่างถูกทิ้งเอาไว้ในคัมภีร์ในศาสนาศาสนาพราหมณ์-ฮินดูอยู่บ้าง
พระปศุปติ
พระปศุปติ(Pashupati )เป็นคำในภาษาสันสกฤต มาจากคำว่า ปศุ(Pashu) หมายถึง สัตว์ และยังหมายความรวมถึงสิ่งมีชีวิตใดๆทั้งหมด ปาตีหรือปติ(pati) คือ องค์พระผู้เป็นเจ้า หรือผู้คุ้มครอง นั่นหมายความว่าหากเราถอดความหมายอ้างอิงตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูแล้ว พระปศุปติก็คือพระผู้เป็นใหญ่เหนือชีวิตทั้งปวง(เหล่าสัตว์) สามารถให้คุณและให้โทษต่อชีวิตต่างๆได้ ไม่ว่าจะเป็น คน สัตว์ เทวดา หรือเหล่าอสูร
สัตว์หรือชีวิตต่างๆนี้คือสิ่งที่ติดอยู่ในบ่วงที่ยังไม่สามารถหาทาง วิธี ที่จะหลุดพ้นออกจากบ่วงที่รัดตนเองออกได้ พระศิวะในฐานะมหาโยคีผู้ยิ่งใหญ่ทรงรู้วิธีคลายบ่วงเหล่านี้ออกจากเหล่าสัตว์ และในฐานะที่เป็นพระปศุปติเจ้าแห่งปวงสัตว์ทั้งหลาย พระองค์ทรงชี้นำแนวทางปลดเปลื้องบ่วงเหล่านี้ต่อผู้ที่บูชานับถือผ่านทางเหล่าพราหมณ์ผู้ทำพิธีและเผยแพร่คำสั่งสอนของพระองค์
พระเวท
ความเชื่อในเรื่องของเทพเจ้าในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูนั้นมีพัฒนาการมาเรื่อยๆตามยุคสมัย จากการบูชา นับถือเทพเจ้าจากสภาวะที่เป็นพลังงานและปรากฏการณ์ทางธรรมชาติไปสู่การบูชา นับถือ สวดอ้อนวอน เทพเจ้าที่มีลักษณะมีรูปร่างตัวตนทำให้เรื่องราวของเพทเจ้าเป็นสิ่งที่ดูจับต้องได้มากขึ้น
คัมภีร์พระเวท คือ คัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุดในศาสนาพราหมร์-ฮินดู เวท เป็นคำในภาษาสันสกฤต มีความหมายว่าความรู้ คัมภีร์พระเวทรวบรวมความรู้เกี่ยวกับจักรวลา ทวยเทพ พิธีกรรมต่างๆ ต้นกำเนิดของพระเวทนั้นเชื่อกันว่าพระพรหมทรงถ่ายทอดความรู้เหล่านี้ให้กับพระฤาษี 10 ตน พระฤาษีได้สอนพระเวทเหล่านี้ให้แก่พราหมณ์ การถ่ายทอดพระเวทเป็นการท่องจำสืบทอดกันมาเรื่อยๆ ในหมู่ ฤาษีและพราหมณ์ เดิมทีคัมภีร์พระเวทมีอยู่คัมภีร์เดียวคือ ฤคเวท ต่อมาในสมัยหลังได้แบ่งออกเป็น 4 คัมภีร์ คือ ฤคเวท ยชุรเวท สามเวท และอาถรรพเวท
ฤคเวท (Rigveda) เป็นคัมภีร์ศาสนาที่เก่าที่สุดในโลกคาดว่าถูกแต่งขึ้นเมื่อราว 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช เหตุผลที่เชื่อกันเช่นนั้นเพราะเนื้อหาในคัมภีร์บางส่วนมีความสอดคล้องกับชาติพันธุวิทยาและภูมิศาสตร์ที่ปรากฏเมื่อประมาณ 3,000 ปีก่อนคริสตกาล
เนื้อหาในคำภีร์ฤคเวทประกอบไปด้วยบทสวดบทสรรเสริญคุณอำนาจของเทพเทวดาต่างๆที่ถูกวางท่วงทำนองในการสวดเอาไว้แบบตายตัว คาดว่าที่มาของบทสวดเหล่านี้ได้จากการรวบรวมบทสวดของชนเผ่าต่างๆเข้าด้วยกัน เพราะมีการกล่าวถึงเทพเทวดาหลายองค์ โดยที่ไม่ได้ระบุอย่างแน่ชัดว่าองค์ใดเป็นเทพสูงสุด นอกจากบทสวดบทสรรเสริญแล้วยังมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประวัติการสร้างโลกและหน้าที่ของพระพรหมด้วย
บทสวดเหล่านี้ถูกท่องจำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน โดยไม่มีการบิดเบือนหรือหลงลืมเนื่องจากความศักดิ์สิทธิ์ของพิธีกรรมเกิดจากความศักดิ์สิทธิ์ของคำสวดในทุกพยางค์ จนกระทั่งมาถึงเมื่อประมาณ 80 ปีก่อนคริสต์ศักราชจึงมีการจดบันทึกฤคเวทลงเป็นลายลักษณ์อักษร
พระรุทร(Rudra)
เนื้อความในคัมภีร์ฤคเวทที่กล่าวถึงพระศิวะได้ชัดเจนอยู่ในมัณฑละที่ 10 สูกตะที่ 92 มันตระที่ 9 ของคัมภีร์ฤคเวทกล่าวไว้ว่า “ด้วยการแสดงความเคารพอย่างอ่อนน้อมในวันนี้ เพลงสรรเสริญของเจ้าได้ถึงแล้วซึ่งพระรุทร(Rudra) พระผู้เป็นเจ้าแห่งความกล้าหาญ ผู้ซึ่งกระตือรือร้น ไปตามวิถีที่ได้ออกคำสั่ง พระองค์เสด็จมาจากสวรรค์ด้วยพระวรกายอันสว่างไสว เป็นสิริมงคล(ศิวะ) และแข็งแกร่ง”
พระรุทร คือเทพแห่งลม ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกเอ่ยนามใหม่ว่าพระศิวะ แต่ในสมัยคัมภีร์ฤคเวทนั้นคำว่าศิวะเป็นคำนามที่ใช้อธิบายลักษณะความเป็นสิริมงคล และไม่ได้ถูกใช้กับเทพองค์ใดองค์หนึ่งโดยเฉพาะ ส่วนในคัมภีร์ยชุรเวทมีการเอ่ยนามศิวะในการสรรเสริญพระรุทรบ่อยครั้งราวกับว่าศิวะคืออีกพระนามหนึ่งของพระองค์ ส่วนคัมภีร์อาถรรพเวทกล่าวว่า พระรุทรมีพระนามว่าปศุปติ ทรงเป็นผู้เป็นใหญ่แห่งปศุ(สรรพสัตว์)
ในคัมภีร์ยชุรเวท(YajurVeda, Taittariya Samhita 1.8.6)ระบุอย่างชัดเจนว่าพระรุทร(Rudra)เป็นปศุปติ(Pashupati)เจ้าแห่งการเสียสละ เป็นพระเจ้าองค์เดียวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในทุกๆห้วงเวลา
จะเห็นได้ว่าตัวตนของพระศิวะในสมัยโบราณนั้นคือพระรุทร เทพผู้สถิตอยู่บนท้องฟ้าและถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ฤคเวทกซึ่งเป็นคัมภีร์ที่มีความเก่าแก่ที่สุด เรื่องนี้ทำให้ค่อนข้างแน่ใจได้ว่าพระรุทรน่าจะเป็นเทพดั้งเดิมของชาวอารยันตั้งแต่ก่อนสมัยเดินทางมายังอินเดีย ในขณะที่นาม ศิวะ หรือปศุปติในช่วงต้นเป็นคำเรียกที่ใช้พรรณนาถึงแง่มุมต่างๆของพระรุทร จนกระทั่งมาถึงคัมภีร์ในชั้นหลังที่มีการเอ่ยถึงประวัติการกำเนิดของพระศิวะและนามต่างๆที่เคยใช้เรียกพระองค์
หากเรามองว่าคัมภีร์ทางศาสนาก็คือผลผลิตทางความคิดรูปแบบหนึ่งที่ได้รวบรวมองค์ความรู้และเจตนาบางอย่างไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่มุมของการปกครองชาวอารยันก็ไม่ได้ปฏิเสธความเชื่อและพระเจ้าของชาวพื้นเมืองดั้งเดิม แต่ใช้วิธีการสร้างเรื่องราวเพื่อเชื่อมโยงและผนวกความเชื่อดั้งเดิมเข้ากับความเชื่อของตน ซึ่งเป็นวิธีการที่ประนีประนอมจากนั้นจึงค่อยๆยัดแนวคิดและความเชื่อชุดใหม่เข้าไป ผ่านพัฒนาการทางศาสนาและตำนานปกรณัมต่างๆ
เรื่องราวของพระศิวะ พระรุทร และพระปศุปติ ต่างก็เดินทางผ่านชุดความคิดแบบนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ว่าพระศิวะจะถูกเรียกด้วยพระนามที่แตกต่างกัน เช่น ภว,ศรรวะ,ปศุปติ,รุทรเป็นต้น นามเหล่านี้อาจมีที่มาบางอย่างแอบแฝงอยู่หรืออาจจะเป็นนามของเทพที่ชนพื้นเมืองเคยนับถือ หรืออาจจะเป็นนามที่ชนเผ่าอารยันเผ่าต่างๆเคยนับถือ หรืออาจเป็นนามของเทพองค์อื่นๆที่ถูกควบรวมมาเป็นพระศิวะ แต่ที่ปลายทางสุดท้ายนามของเทพเหล่านี้ก็ถูกผนวกเข้าเป็นรูปปางหนึ่งองค์พระศิวะ
Link
ข้อมูลอ้างอิง
fhttps://vivaranastory.wordpress.com/2019/02/19/%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A8%E0%B8%B4%E0%B8%A7%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%AD/
โฆษณา