16 พ.ค. 2023 เวลา 12:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เมื่อจีนอาจไม่สามารถเป็น "พี่ใหญ่" ผู้กอบกู้เศรษฐกิจโลกได้อีกต่อไป

เมื่อครั้งปี 2008 นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของปักกิ่งด้วยเม็ดเงินมหาศาล ได้เคยช่วยกอบกู้เศรษฐกิจฝั่งตะวันตกให้ฟื้นจากวิกฤติการณ์การเงินโลกมาแล้ว แต่ในครั้งนี้อาจไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อจีนกลับฟื้นตัวหลังวิกฤติโควิด-19 ได้เป็นหย่อมๆ ไหนจะยังมีปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์อีกด้วย
ซึ่งนั่นหมายถึงว่าจีนอาจจะไม่ได้อยู่ในฐานะ “พี่ใหญ่” ที่ช่วยหยุดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกได้อีกต่อไป…
📌 เกิดอะไรขึ้นกับจีน “พี่ใหญ่” ของเศรษฐกิจโลก
เวลาที่ประเทศอื่นๆ ในโลกกำลังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายทางฝั่งตะวันตกไม่อยากให้เกิดขึ้นที่สุดคือการที่จีนฟื้นตัวแบบไม่ครบทุกภาคส่วน ฟื้นแค่บางจุด แต่ก็ดูเหมือนว่าความกังวลนั้นกำลังเกิดขึ้นมาแล้วจริงๆ เพราะจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนล่าสุดที่พึ่งออกมา ทางภาคบริการดูเหมือนจะเป็นจุดสว่างไสวของเศรษฐกิจ ในขณะที่ในภาคส่วนโรงงานอุตสาหกรรม กลับหดตัวลง
จีนถือได้ว่าเป็นประเทศที่ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2008 ที่เกิดวิกฤติการเงิน จนกระทั่งในช่วงวิกฤติโควิดที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนถึงได้เจอกับแรงกระแทกครั้งใหญ่ และถึงแม้ว่าจะจีนจะยกเลิกมาตรการ zero-COVID ไปตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปี 2022 แต่มาถึงตอนนี้ก็ดูเหมือนว่าเศรษฐกิจจีน จะไม่ได้ขับเคลื่อนได้เต็มกำลังทุกเครื่องยนต์เหมือนเคย
ถ้าเราดูในด้านของการค้าระหว่างประเทศ การนำเข้าในเดือนเมษายน ลดลง 7.9% ในขณะที่การส่งออกก็เติบโตในอัตราที่ช้าลงเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นตัวบ่งชี้เงินเฟ้อก็เพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าที่สุดในรอบเกือบ 2 ปี ในขณะที่ดัชนีราคาทางฝั่งอุตสาหกรรมค้าส่งรายใหญ่ ก็ลดลงเช่นกัน
สิ่งเหล่านี้เป็นนัยยะที่สะท้อนให้เราเห็นว่า ในวิกฤติครั้งนี้ จีนอาจจะไม่ได้เป็นพี่ใหญ่ที่จะพาทุกคนออกจากวิกฤติได้อีกเหมือนในอดีต
📌 ยุคทองของจีนจบลงแล้วหรือ?
แน่นอนว่าเศรษฐกิจจีนคงไม่ได้จะถึงคราวล่มสลายหรืออะไรแบบนั้น แต่เศรษฐกิจก็คงจะไม่ได้กลับไปยังยุครุ่งโรจน์เหมือนในช่วงทศวรรษ 2010 อีกต่อไปแล้ว ที่เศรษฐกิจนั้นเติบโตได้ปีละ 2 หลัก
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างแข็งแกร่งในตอนนั้น ได้เข้าไปช่วยชดเชยกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการเงินอย่างเข้มงวดของธนาคารกลางหลายๆ แห่งในช่วง 12 - 18 เดือนก่อนหน้า
หลังจากช่วงวิกฤติการเงินปี 2008-2009 จีนได้ออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนขึ้นมา ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจโลกฟื้นกลับมาได้ ส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการความต้องการนำเข้าวัสดุพื้นฐานสำหรับการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐานเป็นจำนวนมากจากทางฝั่งเอเชีย
แต่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในอดีตของจีน ก็ได้ทำให้จีนติดหล่มหนี้มหาศาลเช่นกัน จนทาง IMF เองก็ได้ออกมาเตือนจีนเมื่อเดือนมีนาคมว่า หนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นจีนเพียงอย่างเดียวตอนนี้สูงขึ้นไปถึง 66 ล้านล้านหยวนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งคิดเป็นกว่าครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศจีนทั้งหมด ดังนั้นหลายประเทศทางฝั่งตะวันตกจึงมองว่าหากจีนต้องการหาทางฟื้นฟูเศรษฐกิจ ก็อาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองทางเศรษฐกิจและการเมืองในมุมใหม่ๆ ไม่ใช่ผ่านเลนส์ในอดีตอีก
📌 การเติบโตอย่างมีคุณภาพ…ทางใหม่ที่ปักกิ่งเลือกเดิน
แผนยุทธศาสตร์ของกรุงปักกิ่ง จึงพยายามที่จะผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ใน Value chain ที่สูงๆ ขึ้น มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีคุณภาพ มากกว่าโฟกัสตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจเยอะๆ อย่างในอดีต
เปลี่ยนจากการเป็นประเทศผู้ผลิตในอุตสาหกรรมที่มีความซับซ้อนน้อย ใช้แรงงานเป็นหลัก อุตสาหกรรมหนัก ไปสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่เกี่ยวข้องนวัตกรรมและการบริโภคภาคเอกชน เช่น AI, robotics และเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งทางเลือกนี้แม้อาจจะทำให้เศรษฐกิจจีนในตอนนี้ยังเติบโตได้แบบไม่หวือหวา แต่ก็คงจะเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมั่นคงในอนาคตได้อย่างแน่นอน…
1
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References :
โฆษณา