18 พ.ค. 2023 เวลา 01:35 • บันเทิง

ตราปศุปติ(Pashupati seal)

ตอนที่ 8 บทส่งท้าย(ตอนจบ)
ตราปศุปติ(Pashupati seal) ตราประทับโบราณอายุราว 2,300-2,000 ปีก่อนก่อนคริสต์ศักราช ถูกค้นพบในช่วงปี พ.ศ.2471 ที่เมืองโบราณโมเฮนโจ-ดาโร เมืองสำคัญในสมัยอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ(The Indus Valley Civilisation) ซึ่งเจริญรุ่งเรืองอยู่ในช่วงยุคสำริดเมื่อประมาณ 2,600ถึง1,900ก่อนคริสตศักราช และเป็นอารยธรรมที่มีความร่วมสมัยกับอารยธรรมลุ่มแม่น้ำไนล์ของอียิปต์โบราณ อารยธรรมเมโสโปเตเมียจากลุ่มแม่น้ำไทกริสและยูเฟรตีส และแหล่งอารยธรรมลุ่มแม่น้ำแม่น้ำฮวงโหและแม่น้ำแยงซีของจีน
สิ่งที่ทำให้ตราประทับนี้ถูกกล่าวขานมาจนถึงปัจจุบันคือการระบุตัวตนของร่างมนุษย์ที่ถูกสลักอยู่บนบนตราประทับนี้ โดยภาพสลักดังกล่าวเป็นรูปมนุษย์อยู่ในท่านั่งคล้ายขัดสมาธิ สวมหมวกทรงสูงประดับด้วยเขาสัตว์คล้ายเขาควายขนาดใหญ่ ที่แขนมีลวดลายคล้ายการสวมใส่กำไร และที่ลำตัวมีแถบรูปสามเหลี่ยมคล้ายการสวมใส่สร้อย ด้านหลังมีภาพของสัตว์ 4 ชนิดคือ ช้าง เสือ กระบือ และแรด ส่วนด้านบนมีชุดสัญลักษณ์คล้ายกับเป็นตัวอักษร
การค้นหาตัวตนขอมนุษย์บนตราประทับปศุปติทำให้เราได้ทราบเรื่องราวของการทำเกษตรกรรมของมนุษย์ ในช่วง 10,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในแถบดินแดนพระจันทร์เสี้ยวอันอุดมสมบูรณ์(the Fertile Crescent) และได้พบกับเทวรูปสตรีแห่งชาตัลฮูก(the Seated Woman of Çatalhöyük) เทวรูปดินเผาอายุราว 6,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชองค์นี้เป็นสตรีรูปร่างอ้วนนั่งอยู่บนบัลลังก์ที่ขนาบข้างด้วยสัตว์ เทวรูปนี้ถูกตีความเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์ การก่อกำเนิดของชีวิต และผู้นายหญิงแห่งเหล่าสัตว์
เทือกเขาใหญ่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกับ Fertile Crescent คือเทือกเขาซากรอสที่ทอดยาวจากทางตะวันตกเฉียงเหนือของอิหร่าน ผ่านด้านตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี ตะวันออกเฉียงเหนือของอิรัก และทอดยาวต่อไปทางตะวันออกเฉียงใต้ภายใต้ของอ่าวเปอร์เซีย มีร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์บนเทือกเข้านี้ตั้งแต่ช่วง 65,000–35,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่บริเวณตอนกลางของเทือกเขามีการค้นพบตราประทับโบราณเกาะสลักลวดลายการเผชิญหน้ากันระหว่างคนกันสัตว์(ลวดลายเจ้าแห่งสัตว์)อายุราว 5,000-4,000 ปีก่อนคริสตศักราช
จากเทือกเขาซากรอสมาทางตะวันออกบริเวณตอนเหนือของแม่น้ำสินธุใกล้กับช่องเขาโบลันในปากีสถาน ที่นี่เมื่อ7,000-5,500 ปีก่อนคริสต์ศักราช มีหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็กๆชื่อMehrgarh ซึ่งมีลักฐานของการทำฟาร์มและการเลี้ยงปศุสัตว์ในยุคแรกๆ และยังพบตุ๊กตาผู้หญิงซึ่งเชื่อว่าตุ๊กตาเหล่านี้อาจเป็นเทพหรือเจ้าแม่ที่มีความเชื่อมโยงกับความอุดมสมบูรณ์และการให้กำเนิด
จากหมู่บ้านเกษตรกรรมเล็กๆสู่อารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุที่ยิ่งใหญ่ในช่วงเวลา 2,600-1,900 ก่อนคริสตศักราช ในช่วงเวลานี้พวกเขาทำการค้ากับหลากหลายอารยธรรมในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชาวเมโสโปเตเมียซึ่งมีวัฒนธรรมหลายอย่างที่โดดเด่น และมีอิทธิพลต่อดินแดนอื่นๆ มีการค้นพบตราประทับของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุหลายชิ้นมีลวดลายคล้ายคลึงกับของชาวเมโสโปเตเมีย เช่น ตราประทับลวดลายเจ้าแห่งสัตว์ และตราประรูปเอ็นคิดู ตัวละครสำคัญในมหากาพย์กิลกาเมชของเมโสโปเตเมีย
นอกจากนั้นแล้วยังมีการค้นพบตราประทับลวดลายต่างๆของอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุอีกเป็นจำนวนมากตราประทับที่ค้นพบเหล่านี้ส่วนหนึ่งเชื่อว่าเป็นตราประทับที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการค้า
นอกจากนั้นแล้วเราได้พบกับงานวิจัยของเดวิด ไรคห์ และคณะที่ใช้วิธีการพิสูจน์ดีเอ็นเอเพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับการอพยพย้ายถิ่นฐานของประชากรสมัยโบราณ จากผลการวิจัยพบว่าในช่วง 10,000 ปีที่ผ่านมา มีการอพยพครั้งใหญ่สองระลอกเข้ามาในอนุทวีปอินเดียและผสมกลมกลืนเข้ากับชนพื้นเมืองที่มีอยู่ก่อนหน้า โดยการอพยพระลอกแรกก็เกิดขึ้นในช่วง 7,000 - 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราชโดยผู้คนจากจากเทือกเขาซากรอส
การอพยพระลอกที่สองเกิดขึ้นเมื่อราว2,000 ปี ก่อนคริสต์ศักราชโดยชาวอารยันเดินทางจากแถบทุ่งหญ้าสเตปป์ ผลการศึกษายังทำให้ทราบว่ามีประชากรกลุ่มหนึ่งอพยพจากบริเวณกลุ่มแม่น้ำสินธุลงไปทางใต้ และผสมกลมกลืนเข้ากับชนพื้นเมืองดั้งเดิมทางตอนใต้อีกครั้ง และพวกเขาเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวอินเดียใต้ ในขณะที่พวกอารยันผสมกลมกลืนเข้ากับชาวลุ่มแม่น้ำสินธุ พวกเขาเหล่านี้ก็ได้กลายเป็นบรรพบุรุษของชาวอินเดียเหนือ เมื่อวันเวลาผ่านไปชาวอินเดียเหนือและอินเดียใต้ก็ ผสมผสานกันจนกลายเป็นประชากรชาวอินเดียปัจจุบัน
ในขณะที่เรื่องราวของพระศิวะเองก็มีหลักฐานปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระเวทของชาวอารยันด้วยเช่นกัน โดยเชื่อกันว่าการท่องจำเนื้อความในคัมภีร์พระเวทเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วง 3,000 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ชาวอารยันยังไม่ได้เดินทางเข้าในแผ่นดินอินเดีย หลักฐานนี้ทำให้เชื่อได้ว่าพระศิวะเองก็เป็นเทพโบราณของชาวอารยันเช่นกัน เหตุที่ต้องกล่าวข้อมมูลมายืดยาวจนถึงตอนนี้ก็เพื่อจะปูพื้นความเข้าใจไปสู่เนื้อหาการตีความที่จะได้กล่าวต่อไป
การตีความร่างมนุษย์บนตราประทับปศุปติ
แนวคิดที่ 1 พระปศุปติ แนวคิดนี้ถูกนำเสนอโดยจอห์น มาร์แชล โดยได้ให้เหตุผลว่า มนุษย์ที่ปรากฏในตราประทับเป็นเพศชายเนื่องจากบริเวณเอวมีลายเส้นคล้ายองคชาตินั่งอยู่ในท่าทำสมาธิ บริเวณด้านข้างศีรษะมีลักษณะเหมือนใบหน้าทำให้อนุมานได้ว่าบุรุษผู้นี้อาจมี3 หรือ4 ใบหน้า ส่วนด้านบนศีรษะสวมมงกุฎประดับด้วยเขาของวัวตัวผู้ทำให้ดูมีลักษณะคล้ายกับตรีศูล
โดยมาร์แชลสรุปว่าบุรุษบนตราประทับนี้คือพระปศุปติซึ่งเป็นปางหนึ่งของพระศิวะ แนวคิดนี้เป็นแนวคิดที่ยังได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน การตีความนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับตัวตนของพระศิวะว่าอาจเป็นเทพโบราณของชนพื้นมาก่อน
แนวคิดที่ 2 พระแม่ แนวคิดนี้มองว่ารูปสลักมนุษย์บนตราประทับมีการแต่งกายใกล้เคียงกับสตรี มากกว่าบุรุษ ทั้งเรื่องการสวมใส่กำไร การสวมสร้อยคอ และลวดลายบริเวณเอวนั้นคล้ายกับชายของผ้าคาดเอวของสตรี อีกทั้งแนวคิดเรื่องการบูชาเทพมารดาผู้เกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ก็ยังคงเป็นแนวคิดที่ยังมีผู้คนเชื่อมาจนถึงปัจจุบัน นักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดนี้ได้แก่ เฮอร์เบิร์ต ซัลลิแวน และ วีเจย์ ที. อินโกเล
แนวคิดที่ 3 เจ้าแห่งสัตว์ แนวคิดนี้มองว่ามองว่ารูปสลักบนตราประทับนี้อาจจะรับอิทธิพลจากลวดลายเจ้าแห่งสัตว์ที่นิยมใช้กันในหลายอารยธรรมในสมัยนั้นเชื่อกันว่าความนิยมของลวดลายเหล่านี้อาจส่งต่อกันมาผ่านกิจกรรมทางการค้า อีกทั้งแนวคิดเรื่องเจ้าแห่งสัตว์ และเทพมีเขาก็เป็นความเชื่อโบราณที่คาดว่ายังคงมีอิทธิพลอยู่ในสมัยนั้น
นอกจากนั้นแล้วยังมีผู้มองว่าร่างบนตราประทับนี้อาจเป็นเทพหรืออสูรที่มีส่วนผสมระหว่ามนุษย์และสัตว์ เช่นเอ็ดคิดู(มนุษย์กระทิง) มหิชาสุระ(มนุษย์ควาย) นักวิชาการที่สนับสนุนแนวคิดนี้ได้แก่ ดอริส ศรีนิวาสัน,ดาโมดาร์ ธัมมานันทา โกสัมบี และอัลฟ์ ฮิลเตเบเทล(Alfred John Hiltebeitel)
แนวคิดที่ 4 มนุษย์ผู้ที่เป็นบุคคลสำคัญ แนวคิดนี้มองว่ารูปสลักมนุษย์บนตราประทับนี้อาจเป็นบุคคลสำคัญ เช่น หัวหน้าเผ่า,นักรบ หรือหมอผี เนื่องจากการแต่งกายที่ประดับด้วยเขาสัตว์ หรือชิ้นส่วนต่างๆของสัตว์ และการสวมหน้ากากนั้นเป็นวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตั้งแต่ครั้งอดีด โดยนักวิชาการอย่างวอลเตอร์ แฟร์เซอร์วิส เสนอว่ามนุษย์บนตราประทับนี้คืออานิล หัวหน้าของเผ่าทั้งสี่ที่มีสัตว์เหล่านี้เป็นตัวแทน
แนวคิดที่ 4 ยังไม่ควรด่วนสรุปในช่วงศตวรรษที่ 21มีนักวิชาการหลายท่านเรียกร้องให้ตีความตราประทับนี้ด้วยความระมัดระวัง การตีความด้วยความไม่ระมัดระวังอาจส่งผลต่อการนำการตีความนั้นๆ ไปขยายความต่อและเกิดความเข้าใจผิดพลาดคลาดเคลื่อนในวงกว้าง อีกทั้งข้อมูลในด้านต่างๆที่สามารถนำมาใช้สนับสนุนการตีความตราประทับนี้ก็ยังไม่มีมากพอจึงไม่ควรด่วนสรุปเรื่องราวของตราประทับนี้
เมื่อตราประทับนี้มีการตีความที่หลากหลาย และมีหลายแง่มุมทางประวัติศาสตร์ที่สามารถจับมาเชื่อมโยงกันได้ซึ่งการเชื่อมโยงเหล่านี้ก็ไม่สามารถบอกได้ว่ามีความเที่ยงตรง หรือผิดเพี้ยนไปมากน้อยเพียงใด ดังนั้นการตีความตราประทับนี้จึงขอให้ท่านผู้อ่านลองใช้ดุลพินิจของตัวเองพิจารณาความเป็นไปได้ในแนวคิดต่างๆ หรือจะไม่ตัดสินใจใดๆและอ่านไว้เพื่อความบันเทิงก็ขึ้นอยู่กับท่านผู้อ่านแต่ละคน และขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามอ่านกันมาจบบทความนี้ แล้วพบกันใหม่ในบทความเรื่องใหม่
โฆษณา