18 พ.ค. 2023 เวลา 05:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เจาะพื้นฐาน 4 หุ้นแบงก์ไทย ที่อาจเป็น “เป้าหมาย” นักลงทุนต่างชาติ

หุ้นกลุ่มแบงก์นอกจากจะเป็นหุ้นยอดนิยมของนักลงทุนไทยแล้ว ยังเป็นหุ้นที่อยู่ในเรดาห์ของนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย ดังนั้นแนวโน้มเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ที่คาดว่าจะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยภายหลังการเลือกตั้ง หุ้นธนาคารจึงน่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลบวกอย่างแน่นอน วันนี้ Wealthy Thai จึงอยากชวนนักลงทุนมาดูแนวโน้มการเติบโตของหุ้นธนาคารขนาดใหญ่อย่าง SCB KBANK BBL KTB ว่าจะมีความน่าสนใจและเติบโตได้น่าประทับใจแค่ไหน
โดยบริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้มุมมองว่า คาดฟันด์โฟลว์จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยภายหลังการเลือกตั้งมากขึ้น และจากสถิตินักลงทุนต่างชาติจะเข้าลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารเป็นอันดับแรกเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ประกอบกับครึ่งหลังของปี 2566 แนวโน้มกำไรของหุ้นกลุ่มธนาคารจะเติบโตดี จากส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ที่เพิ่มขึ้น สินเชื่อที่ขยายตัว รวมถึงต้นทุนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อ (credit cost) ปรับตัวลดลงจากการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศหลังการเลือกตั้ง
ส่องพื้นฐาน 4 หุ้นแบงก์ไทย
จากฟันด์โฟลว์ที่มีแนวโน้มไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้น ซึ่งหุ้นกลุ่มแบงก์น่าจะเป็นตัวเลือกแรกที่ได้รับผลบวก ดังนั้นมาดูแนวโน้มการดำเนินงานของ 5 หุ้นธนาคารขนาดใหญ่ของไทยว่าจะมีความน่าสนใจแค่ไหน
มาเริ่มที่ SCB หรือ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า คาดไตรมาส 2/66 ผลการดำเนินงานจะเร่งตัวขึ้นทั้งจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า จากการทยอยปรับลดค่าใช้จ่ายตั้งสำรอง
หลังผ่านการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสียหายจากลูกหนี้รายใหญ่ที่เกิดปัญหาแล้ว ขณะที่ลูกหนี้ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเริ่มมีสัญญาณการชำระหนี้ดีขึ้น เนื่องจากราว 1 ใน 3 ของลูกหนี้ดังกล่าวอยู่ในธุรกิจบริการ(ร้านอาหารและโรงแรม) ที่ฟื้นตัวได้ดีตามจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยมากขึ้น
ขณะที่แนวโน้มส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะขยับขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงที่เหลือของปี หนุนจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ และการเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อในกลุ่ม Consumer Finance ที่ให้ผลตอบแทนสูง ขณะที่ครึ่งหลังปี 2566 บริษัทมีแผนที่จะ Refinance ตราสารหนี้สกุลเงินดอลลาร์มูลค่าราว 1.2 พันล้านดอลลาร์ ที่เคยเสนอขายในช่วงปรับโครงสร้างธุรกิจมาเป็นตราสารหนี้สกุลเงินบาทที่มีต้นทุนดอกเบี้ยต่ำลง หนุนให้ทั้งปี 2566 คาด SCB จะมีกำไรสุทธิ 47,528 ล้านบาท โต 26.6% จากปีก่อน คงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 144 บาท
ถัดมา KBANK หรือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า คาดแนวโน้มกำไรไตรมาส 2/66 จะปรับตัวดีขึ้นทั้งจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า ตามรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิที่ขยับขึ้น หนุนจากการขยายตัวของสินเชื่อที่ดีขึ้น ซึ่งปีนี้บริษัทยังเน้นปล่อยสินเชื่อในกลุ่มลูกค้าบริษัทขนาดใหญ่และลูกหนี้รายย่อยเป็นหลัก
คาดหนุนให้ NIM เริ่มทยอยปรับตัวขึ้น อย่างไรก็ดี การตั้งสำรองของทั้งปี 2566 มีโอกาสที่จะสูงกว่าประมาณการเดิมของฝ่ายวิเคราะห์ เนื่องจากบริษัทจะทยอยตั้ง Management Overlay เพื่อชดเชยส่วนที่ใช้รองรับความเสียหายของลูกหนี้รายใหญ่ที่มีปัญหา (ตั้งสำรองไว้ 80-90% ของมูลค่าสูงสุดแล้ว) ประกอบกับการตั้งสำรองเพื่อรองรับความเสี่ยงในอนาคต
ดังนั้นเพื่อยึดหลักอนุรักษ์นิยมฝ่ายวิเคราะห์จึงปรับ Credit Cost ขึ้นจากเดิมที่ 1.6% เป็น 1.8% ส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิตั้งแต่ปี 2566 ลดลงเฉลี่ยปีละ 7.7% โดยภายใต้ประมาณการใหม่ คาด KBANK จะมีกำไรสุทธิ 44,296 ล้านบาท โต 23.8% จากปีก่อน ทั้งนี้ ราคาหุ้นปรับลงมากเกินไป จากความกังวลของลูกหนี้รายใหญ่ที่เกิดปัญหา แต่การดำเนินงานปกติคาดจะเห็นพัฒนาการดีขึ้นเรื่อยๆ จึงคงคำแนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 178 บาท
BBL หรือ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด ระบุว่า มองว่า NIM มีโอกาสสูงกว่าเป้าหมายที่ 2.5% หลังไตรมาส 1/66 ทําได้ที่ 2.8% ผสานกับการปรับเพิ่ม M-Rate ช่วงเดือนเม.ย. โดยทิศทางกําไรสุทธิไตรมาส 2/66 ทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าบริเวณ 1 หมื่นล้านบาท
เพราะคาดการณ์การเติบโตของ NII ตามการเพิ่ม M-Rate จะถูกหักล้างด้วย OPEX ที่สูงขึ้นตามฤดูกาล ขณะที่เทียบกับไตรมาส 2/65 คาดขยายตัวเด่นจาก 7 พันล้านบาท จาก NIIตามการเพิ่มของอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปีนี้
ดังนั้นจากแนวโน้มการขยายตัวของกําไรปี 2566 ที่ 33,979 ล้านบาท โต 16% อานิสงค์จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องตั้งแต่ครึ่งหลังของปี ประกอบกับคุณภาพสินทรัพย์แกร่งเมื่อเทียบกับกลุ่มฯ สะท้อนผ่าน Coverage Ratio อยู่ที่ 265% สูงสุดในกลุ่มฯ ขณะที่ PBV ซื้อขายต่ำสุดในกลุ่มฯ ที่ 0.56 เท่า (ค่าเฉลี่ยกลุ่มฯ ที่ 0.67 เท่า) จึงให้คำแนะนํา Outperform ราคาเป้าหมาย 174 บาท
และสุดท้าย KTB หรือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า คาดแนวโน้มกำไรสุทธิในไตรมาส 2/66 มีโอกาสเร่งตัวขึ้นทั้งจากไตรมาสเดียวกันปีก่อนและไตรมาสก่อนหน้า รับผลบวกจากการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้
ขณะที่การเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยเงินฝากยังเป็นเพียงการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ ทำให้ NIM ขยายตัวได้ต่อ นอกจากนี้มองว่าความต้องการสินเชื่อของลูกหนี้รายย่อยจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ หลังบริษัทปรับกลยุทธ์มารุกขยายสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อ Digital ผ่านช่องทาง Digital Platform
ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาให้สามารถเชื่อมต่อกับ “เป๋าตัง”และ “ถุงเงิน” ได้ง่าย ทำให้มีโอกาสที่ฐานลูกค้า Digital Platform จะขยายตัวได้ดีขึ้น สำหรับทั้งปี 2566 คาดจะมีกำไรสุทธิ 36,446 ล้านบาท โต 8.2% จากปีก่อน จึงคงคำแนะนำ ซื้อ มูลค่าพื้นฐานที่ 21 บาท
โฆษณา