19 พ.ค. 2023 เวลา 01:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เมื่อเฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุด…

จากเหตุการณ์คาดผันผวนที่เกิดขึ้นในภาคธนาคารของสหรัฐฯ ทำให้มีนักวิเคราะห์หลายคนเริ่มคาดการณ์ว่า “ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังจะขึ้นดอกเบี้ยถึงจุดสูงสุด หรือบางคนก็บอกว่าถึงจุดสูงสุดเรียบร้อยแล้ว”
คำถามต่อไปที่เกิดขึ้นกับหลายคน คือ หลังจากนี้เฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงนานแค่ไหน เพราะมันจะส่งผลโดยตรงต่อการตัดสินใจในภาคธุรกิจ ภาคการบริโภคและตลาดการเงิน
ในประเด็นนี้ ทาง Macrobond ได้ทำการวิเคราะห์เส้นทางแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯในช่วงหลังจากหลังจากที่เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ยกัน
โดยใช้ฐานข้อมูลการคำนวณ คือ ดอกเบี้ยนโยบายนับตั้งแต่ปี 1984 หรือก็คือย้อนกลับไปประมาณ 40 ปีหลังสุด ซึ่งในช่วงเวลานี้ทางสหรัฐฯ ผ่านรอบการขึ้นดอกเบี้ยมาทั้งหมด 8 ครั้ง ได้แก่
  • 1.
    สิงหาคมปี 1984
  • 2.
    กันยายนปี 1985
  • 3.
    กันยายนปี 1987
  • 4.
    พฤษภาคมปี 1989
  • 5.
    กุมภาพันธ์ปี 1995
  • 6.
    พฤษภาคมปี 2000
  • 7.
    มิถุนายนปี 2006
  • 8.
    ธันวาคมปี 2018
ข้อสังเกตประการสำคัญที่ทาง Macrobond ชี้ให้เห็นคือในช่วงหลัง การขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ มักจะคงอยู่ในระดับสูงสุดไม่นานนัก และก็จะทยอยปรับลดลงมา
โดยจะสังเกตได้จากแผนภูมิในภาพปก ที่มีการคำนวณค่าเฉลี่ยและมัธยฐานของดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ในช่วงก่อนหน้า 250 วันจากจุดดอกเบี้ยสูงสุด (ในแผนภูมิแทนด้วยตัวเลขติดลบในแกนนอน) ไปจนถึง 250 วันหลังจากจุดดอกเบี้ยสูงสุด (แทนด้วยตัวเลขบวกในแกนนอน)
เราจะสังเกตได้ว่า นับจากวันที่ 0 (แกนนอน) หรือก็คือวันที่เฟดหยุดขึ้นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ จะคงอยู่ในระดับสูงไม่นานนัก และค่อยๆ ปรับลดลงมา
ปัจจัยนี้ส่งผลต่อการคาดการณ์ของนักลงทุนที่คาดหวังจะเห็นเฟดลดดอกเบี้ยลง เพื่อจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อตลาดการเงินด้วย
อย่างไรก็ดี สำหรับรอบการขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ เฟดอาจจะไม่ได้ปรับลดดอกเบี้ยมาเร็วเท่ากับแนวโน้มเฉลี่ยก็ได้ โดยเหตุผลสำคัญมาจาก “ปัจจัยด้านอัตราเงินเฟ้อ”
โดยก่อนหน้านี้ ทางสหรัฐอเมริกาต้องเผชิญกับสภาวะอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในรอบกว่า 40 ปี โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของสหรัฐฯ ขึ้นไปแตะระดับ 9%
(เมื่อใช้วิธีแบบนำช่วงของข้อมูลเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือ YoY)
แม้ว่าข้อมูลล่าสุดในเดือนเมษายน เราจะเริ่มเห็นการปรับลดลงของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงบ้าง มาอยู่ที่ 4.9% YoY
แต่เมื่อดูอัตราเงินเฟ้อ (ที่ปรับผลฤดูกาล) เทียบกับเดือนก่อนหน้า ก็จะเห็นว่า เงินเฟ้อยังคงดื้อดึงและยังเป็นบวกอยู่ได้เล็กน้อยที่ 0.4%
ทั้งหมดนี้จะสร้างความลำบากใจให้กับเฟดอย่างยิ่ง เพราะด้านหนึ่งก็กังวลใจเรื่องการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มีปัญหาจากภาคธนาคารด้วย ก็คงอยากจะลดดอกเบี้ยกระตุ้นเศรษฐกิจ
แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังกังวลใจด้านอัตราเงินเฟ้อที่ยังคงดื้อ และไม่ปรับลดลงมาง่าย ๆ ถ้าจะรีบลดดอกเบี้ย ปัญหาเงินเฟ้อก็อาจจะกลายเป็นตัวบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะยาวมากกว่าได้
แต่ถ้าความกังวลใจด้านอัตราเงินเฟ้อสูงหมดไปเมื่อใด ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า สหรัฐฯ จะเข้าสู่รอบการลดดอกเบี้ยอีกครั้งนั่นเอง…
ผู้เขียน : ณัฐนันท์ รำเพย Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
References:
โฆษณา